โดย ธนัญธร เปรมใจชื่น
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๑

ระหว่างที่ฉันกำลังคิดว่าจะเขียนอะไรดีที่มันจะมีค่ามีความหมายต่อผู้คน ชีวิตช่วงที่ผ่านมาช่างมีเรื่องราวน่าสนใจน่าเรียนรู้หลายเรื่องราวเหลือเกิน คิดๆ แล้วก็คิด เรื่องราวมากมายวิ่งเข้ามาราวกับมันกำลังช่วงชิงการยอมรับจากฉัน และโดยไม่ทันรู้ตัวฉันก็กำลังทำตัวเป็นผู้ทรงภูมิ คัดเลือกและตัดสินแต่ละเนื้อหานั้น เหมือนกับมีเวทีการประกวดความนิยมในหัวฉันเอง สุดท้ายฉันนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์จากเช้าสู่ค่ำ โดยที่ยังไม่ได้เริ่มสักประโยคเดียว แล้วฉันก็นั่งภาวนาในใจ “บอกลูกสิ ... ว่าเรื่องราวใดกันที่ลูกควรจะเขียนถึง”

แล้วเรื่องราวก็เดินเข้ามาหาถึงที่

น้องสาวคนหนึ่งเข้ามาหาที่บ้าน ทักทายอย่างเป็นกันเองกับคนในบ้านฉัน พูดแซวกันสนุกสนาน ฉันจึงถามไถ่ถึงงานค่ายเยาวชนที่เธอเพิ่งจะไปทำมา เธอตอบ “ทำอย่างที่พี่บอกนั่นแหละ เด็กก็ร้องไห้นะ แต่มันยังไม่สะใจ” ฉันเลยถามกลับไปว่า “เธอคิดว่าเขาต้องร้องไห้หรือ กิจกรรมนั้นมันคงไม่ได้คาดหวังว่าต้องร้องไห้ก็ได้นี่” เหมือนคำพูดฉันไปตัดสินการทำงานของเธอเข้า “ไม่นะพี่ คือ บางคนก็ไม่ได้ร้องไห้หรอก หนูแค่รู้สึกไม่สะใจตัวเอง มันน่าจะถึงกว่านี้” ฉันเริ่มงง และคิดเอาว่าคงเป็นปัญหาเรื่องชุดภาษากระมัง “เธอได้ยินที่ตัวเองพูดไหม” แล้วพูดทวนประโยคแรกให้เธอฟัง แต่คราวนี้มันยิ่งไปกันใหญ่ เธอเริ่มน้ำตาคลอ และเริ่มไม่มองหน้าฉันเวลาพูด มันแสดงให้เห็นว่าเรื่องราวไม่ได้อยู่ที่เรื่องกิจกรรมที่เรากำลังคุยกันอยู่แล้ว แต่มันเอาเรื่องราวเก่าๆ เข้ามาแทรกซ้อนด้วย และคำพูดต่อมาของเธอก็ช่วยยืนยัน “หนูเปลี่ยนแล้ว หนูพัฒนาตัวเองแล้ว” ฉันมองดูน้ำตาของหญิงสาวด้วยความรู้สึกเหนื่อยอ่อน เสียงที่เข้ามาในหัวตอนนั้นคือ อีกแล้ว!!

ฉันเปลี่ยนหันมาพูดกับคนทุกคนที่นั่งอยู่ตรงนั้น แทนที่จะตอบโต้กับเธออีก เพราะมันจะยิ่งทำให้เกิดรอยร้าวในความสัมพันธ์ “บางทีเราต่างก็เร็วกันมาก เร็วจนไม่ได้ยินเสียงของตัวเอง และที่ซับซ้อนกว่านั้นนะ มันเป็นความคิดเบื้องหลังความคิดของเรา ความรู้สึกลึกๆ เบื้องหลังความรู้สึกที่เราแสดงออกมา เรากลบมัน และบิดเบือนมันอยู่เสมอ จนแทบไม่เห็นหรือไม่ทันจะรับรู้ความจริงของเราเบื้องหลังการแสดงออกมา การเติบโตและการพัฒนาก็เช่นเดียวกัน หากเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มาจากภายในของเรา เราจะไม่ต้องพยายามเป็นการเปลี่ยนแปลง พยายามเป็นผู้พัฒนาแล้วในการแสดงออกมาของเรา”

น้องอีกคนแสดงความคิดเห็นว่า ดีจังที่ได้นั่งอยู่ในสถานการณ์ด้วย เพราะเหมือนตัวเธอได้เรียนไปด้วย และเห็นตัวเองในเรื่องราวที่คุยกันนี้ด้วย ฉันหันกลับไปบอกกับน้องคนเดิมว่า ฉันพยายามอธิบายให้ละเอียดเพราะเธอมักตัดพ้อความใส่ใจของฉันที่มีต่อเธอเสมอ ความห่างเหิน รู้สึกไม่เป็นที่รัก ถูกตำหนิ ด้วยน้องสาวคนนี้เคยเป็นคนใกล้ชิด เป็นเหมือนน้องสาวแท้ ๆ เป็นเลขา เป็นคนดูแลฉันมานาน พอแยกออกไป การกลับมาใหม่ก็คาดหวังต่อความสนิทสนมเช่นเดิม นี่เป็นเรื่องที่ฉันเองต้องเรียนรู้เช่นกัน เพราะในฐานะครูที่ต้องบอกกล่าว กับคนสนิทนี่ยากเหลือเกิน แล้วก็นิ่งเฉยตลอดไม่ได้ด้วย หากคนคนนั้นเป็นคนที่ไม่มีคนกล้าบอกกล่าวนัก

หญิงสาวตอบรับทันที เธอว่าเธอรู้สึกน้อยใจทุกครั้งที่มีการตำหนิ รู้สึกว่าเธอไม่สำคัญ ไม่มีค่าสำหรับฉัน ฉันจึงขอโทษเธออย่างจริงจัง อธิบายว่าฉันไม่ได้หมายความเช่นนั้น แล้วชื่นชมเธอให้คนอื่นฟัง ซึ่งฉันเองทำอยู่เสมอ แต่มักไม่ค่อยได้พูดต่อหน้าเธอเท่านั้น

วงสนทนาแยกย้ายกันไป เหลืออยู่ไม่กี่คน น้องคนหนึ่งถามว่าเมื่อครู่ฉันโกรธไหม เป็นคำถามที่ดีเหลือเกิน เพราะโดยทั่วๆ ไป ฉันคงตอบเร็วๆ เหมือนกันว่า ไม่โกรธ แต่การถามแบบใส่ใจของเขา ทำให้ฉันได้มองเข้ามาในตนเอง แม้จะตอบเช่นที่คิดเร็วๆ ว่าไม่โกรธ ก็เพราะมันไม่โกรธจริงๆ แต่ฉันบอกเขาว่าฉันเสียใจมากกว่า

เรื่องราวที่เกิดขึ้นสะท้อนความเป็นพี่ เป็นเจ้านายที่ไม่ค่อยน่ารักเท่าไร บ่นและตำหนิอยู่ตลอดเวลา แถมคิดว่าตัวเองกำลังสอน นี่เลยเป็นโจทย์ให้ฉันจนวันนี้ไง เพราะตอนนี้ที่ฉันพร้อมที่จะสอนและดูแล เขาถึงรู้สึกว่ากำลังโดนตำหนิอยู่เช่นเดิม ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ฉันต้องเรียนรู้ ว่าจะสอนอย่างไรที่เขาจะรู้สึกอยากเรียน เพราะในกรณีนี้ ฉันจะใช้วิธีเดิมๆ อย่างที่ฉันสอนหรือจัดกระบวนการเรียนรู้กับคนอื่นๆ คงไม่เหมาะนัก

จะว่าไปแล้ว มันไม่ใช่ที่น้องสาวคนนั้นเท่านั้น แม้แต่ตัวฉันเองก็ยังต้องฝึกฟังเสียงภายใน และซื่อสัตย์กับมันมากขึ้น เราต่างก็ซับซ้อนกันไปคนละแบบ ตามแต่การเพาะบ่มที่ผ่านมาในชีวิตของเราแต่ละคน แม้ทุกวันนี้ฉันเรียนรู้ที่จะเป็นตัวตนที่แท้มากเท่าไร มันก็ทำให้ฉันเห็นว่าบ่อยครั้งเหลือเกินที่ฉันเองพยายามกลบเกลื่อน แชเชือนเฉไฉ ความคิด ความรู้สึกที่แท้จริงของตนเอง

มันเป็นตลกร้ายทีเดียว ที่เราเคยหลงคิดและเชื่อว่าเราหลอกคนอื่นได้แต่เราหลอกตัวเองไม่ได้ ระยะหลังๆ มานี้ ฉันกลับพบว่า เราหลอกคนอื่นไม่ได้จริงๆ อย่างที่เราคิดหรอก เขาแค่ไม่ได้บอกเราออกมา เพราะเขาแคร์เรา เพราะเขากลัวเราโกรธ กลัวเราไม่รัก และหลายคนก็เชื่อว่ามันเป็นมารยาท ที่จะไม่ไปแตะตัวตนของคนอื่นเข้า นี่ยังไม่รวมอันตรายที่เราอาจสวนกลับไปด้วยความโกรธอีกนะ แต่ที่เราหลอกได้อยู่ตลอดมา คือ ตัวเราเอง

แม้จะยอมรับ บอกกล่าว เชื่อตามคำสอน บทสรุปแห่งชีวิต “เราต่างไม่สมบูรณ์” แต่ความเป็นจริงในชีวิตที่ผ่านๆ มา เรากลับแสดงต่อโลกรอบตัวว่าเราถูก เราใช่ เราสมบูรณ์แล้ว เราชอบตัดสินสิ่งต่างๆ แต่กลับไม่ยอมให้ใครมาตัดสินตัวเรา เพราะมันเจ็บปวดเกินไปที่จะต้องยอมจำนนต่อความคิดที่ว่า เราคือความไม่สมบูรณ์นั่น จะดีกว่าไหมหากลดการตัดสินที่เรามี นับวันฉันยิ่งพบว่า ยิ่งตัดสินมากเท่าไร ถูก-ผิด ดี-เลว ใช่-ไม่ใช่ พัฒนา-ไม่พัฒนา ตัวฉันเองนี่แหละยิ่งหวาดระแวงต่อโลกรอบตัวมากเท่านั้น เราจะเชื่อว่าเราพูดด้วยเสียงของความถูกต้องได้อย่างไร หากเราเต็มไปด้วยความโกรธเกลียดที่อยู่ภายใน คำบอกกล่าว คำชี้แนะคงน่าฟัง น่าโอบรับมากกว่าหากถ้อยคำเหล่านั้นมาจากความรัก เมตตาของผู้พูด

ตอนนี้ฉันรู้สึกเหมือนน้องคนที่แสดงความรู้สึกร่วมต่อการเรียนรู้ของวงสนทนา รู้สึกว่าเรื่องราววันนี้มีค่ามีความหมายจัง และเสียงในหัวมันก็บอกว่า เมื่อมันมีคุณค่าต่อตัวเธอ มันก็มีความหมายต่อผู้อื่นด้วยเช่นกัน



โดย พงษธร ตันติฤทธิศักดิ์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๑

มนุษย์มีเครื่องมือวิจัยจิตใจตนเองอยู่ภายในตัวแล้ว แต่มนุษย์ไม่ค่อยรู้จักและใช้กันสักเท่าไร เครื่องมือนั้นคือ สติ หรือ การระลึกได้ว่ากายนี้ใจนี้กำลังเป็นไปอย่างไรในปัจจุบันขณะ การมีสตินั้นเป็นสิ่งที่บังคับให้เกิดขึ้นไม่ได้ แต่จะเกิดขึ้นเองเมื่อมีเหตุปัจจัยพร้อมเพียงพอ คล้ายกับเมล็ดพืชที่จะแตกหน่อเป็นต้นกล้าเมื่อดินน้ำและแร่ธาตุพร้อมเพียงพอ

เราเพียงเตรียมน้ำเตรียมดินให้พอดี นั่นก็คือ การหมั่นฝึกฝนจดจำสภาวะต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในกายภายในใจของเราอยู่เนืองๆ เมื่อฝึกฝนจนจิตจดจำสภาวะต่างๆ ได้แม่นยำ สติก็จะเกิดขึ้นเอง ระลึกรู้สภาวะธรรมล้วนๆ ของจิตใจ เมื่อนั้นไร้คำพูด ไร้บัญญัติ สักแต่ว่าเป็นสภาวะหนึ่งๆ ที่กำลังปรากฏเท่านั้น

ตัวอย่างเช่น ถ้าจิตจดจำได้ว่า สภาวะผ่อนคลายเป็นอย่างไร เมื่อสภาวะผ่อนคลายเกิดขึ้น สติก็จะระลึกได้ทันทีว่า สภาวะผ่อนคลายเกิดขึ้นแล้ว เช่นเดียวกัน ถ้าจิตจดจำได้ว่า สภาวะตึงเครียดเป็นอย่างไร เมื่อสภาวะตึงเครียดเกิดขึ้น สติก็จะระลึกได้ว่า สภาวะตึงเครียดเกิดขึ้นแล้ว

จิตใจมนุษย์มีเปลี่ยนแปลงเป็นปกติธรรมดา เดี๋ยวสูงเดี๋ยวต่ำ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เดี๋ยวมีกิเลสเดี๋ยวไม่มีกิเลส เดี๋ยวดูอยู่ทางตา เดี๋ยวก็ไปฟังทางหู เดี๋ยวก็มาคิดทางใจ สติที่รู้ลงที่กายที่ใจอันเป็นปกติธรรมดาของมนุษย์นี้เอง คือเครื่องมือเก็บข้อมูลของจริงที่กำลังเกิดขึ้นในสนามจิตใจมนุษย์

เมื่อมนุษย์ในฐานะนักวิจัยรู้จักและใช้สติเป็นเครื่องมือวิจัยจิตใจตนแล้ว ก็หมั่นเก็บข้อมูลภายในจิตใจอยู่เนืองๆ ในสนามชีวิตจริงที่กระทบโลกกระทบผู้คนในความสัมพันธ์ รับผิดชอบภาระหน้าที่การงาน และดำเนินกิจวัตรประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการเดิน กิน อาบน้ำ นอน ดูแลช่วยเหลือคนที่รัก พูดคุย ประชุมงาน หรือการกระทำอะไรก็ตาม

หากนักวิจัยผู้นั้นตามรู้ตามดูกายและใจไปอย่างที่มันเป็น โดยไม่หวังผลว่าเมื่อไหร่จะหยุดเก็บ ไม่หวังผลว่าเมื่อไรผลอันเลิศจะปรากฏ เก็บข้อมูลอย่างที่มันเป็นเช่นนี้เนืองๆ ไม่วันใดวันหนึ่ง จิตที่มีข้อมูลมากเพียงพอ ก็จะประจักษ์แจ้งแก่ตนเอง ผู้รู้หลายท่านกล่าวว่าเป็น “ปัญญา” บ้างว่าเป็น “ญาณทัศนะ” และอีกหลายท่านว่าเป็น “ปิ๊งแว้บ” สุดแท้แต่จะเรียก อาจรวมความได้ว่าเป็นการรู้จักและเข้าใจตนเองอย่างถ่องแท้ จนกระทั่งสามารถไปพ้นจากตนเองได้

กระนั้นก็ตาม ไม่ว่าผลเลิศประการใดจะเกิดขึ้นภายในกายภายในใจ นักวิจัยก็ยังคงใช้สติเป็นเครื่องมือวิจัยที่คอยตามรู้ตามดู ตามเก็บข้อมูลจริงของกายของใจนี้เรื่อยไป จนกลายเป็นความคุ้นชิน จนกลายเป็น “จิตวิจัย”

ด้วยเหตุที่จิตใจมนุษย์ไม่เคยหยุดนิ่ง การกระทบจากโลกรอบตัวและผู้คนรอบข้างก็ไม่เคยหยุดนิ่ง การมีจิตวิจัยจึงช่วยรองรับการใช้ชีวิตในโลกนี้ได้อย่างสมดุลและอ่อนน้อมต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เพราะมีจิตวิจัย จึงรู้จักตนเอง เพราะรู้จักตนเอง จึงอ่อนน้อม เพราะอ่อนน้อม จึงสมดุลกับสรรพสิ่งในจักรวาล เพราะสมดุล มนุษย์จึงเป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาล

มีผู้รู้ได้กล่าวไว้ว่า ความมหัศจรรย์ของจักรวาลที่อาศัยเราอยู่นี้ คือการมีความสามารถที่จะตระหนักรู้ย้อนดูตนเอง และคุณภาพเช่นเดียวกันนี้ก็ปรากฏอยู่ในตัวมนุษย์ด้วยเช่นกัน มนุษย์ที่ตระหนักรู้ย้อนดูตนเอง คือมนุษย์ผู้มีจิตวิจัย คือมนุษย์ที่เชื่อมโยงตนเองเข้ากับความมหัศจรรย์ของจักรวาล เป็นมนุษย์เต็มมนุษย์ หรือเป็นมนุษย์ผู้มีใจสูง ใจใหญ่ ใจกว้างดุจดั่งจักรวาล

ความมหัศจรรย์ในการตระหนักรู้ย้อนดูตนเอง ก็ไม่ใช่ย้อนดูสิ่งพิเศษอะไร นอกเหนือไปจากความปกติธรรมดาของจิตใจมนุษย์ ที่มีปกติมีสุขมีทุกข์ มีโลภ มีโกรธ มีหลง มีเกิด มีแก่ มีเจ็บ มีตาย ด้วยเหตุนี้การหมั่นสร้างเหตุ คือการจดจำสภาวะร่างกายและจิตใจต่างๆ ภายในตัวเราได้ สติที่แท้จริงก็จะเกิดขึ้นเอง เมื่อสติที่แท้เกิดขึ้น เป็นเหตุเป็นปัจจัยสืบเนื่องกันไปจนกลายเป็นกระแสแห่งจิตวิจัย

ปี ๒๕๕๐ ที่ผ่านมา ผมได้ร่วมอยู่ในทีมวิจัยจิตปัญญาศึกษา เราได้ต่างร่วมดำเนินการวิจัยสำรวจพรมแดนองค์ความรู้ด้านจิตตปัญญาศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ จนพบแก่นของการปฏิบัติด้านจิตตปัญญาศึกษาที่สอดคล้องพ้องต้องกันที่เรียกว่า “MINDS” อันประกอบไปด้วยสติ (Mindfulness) ธรรมวิจยะ (Investigation) วิริยะ (Natural Effort) ปีติปัสสัทธิ (Delightful Relaxation) และสมาธิอุเบกขา (Sustained Equanimity)

“MINDS” คือแก่นการปฏิบัติที่ถอดมาจากหลักโพชฌงค์ ๗ ซึ่งมีความสอดคล้องต้องกันกับหลักการปฏิบัติจิตของศาสตร์อื่นๆ อีกมากมาย สำหรับทัศนะของผมแล้ว “MINDS” นี้คือ “จิตวิจัย” ที่เริ่มต้นจากการมีสติ รู้จักสืบค้นธรรมะที่เหมาะแก่ตน (ธรรมวิจยะ) แล้วลงมือปฏิบัติอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ (วิริยะ) จนพบกับความสุขและผ่อนคลาย (ปีติและปัสสัทธิ) ปรากฏความตั้งมั่นและเป็นกลางแห่งจิต (สมาธิและอุเบกขา) จิตวิจัยแท้จริงเกิดขึ้นเพียงขณะเดียวโดยการถึงพร้อมของทุกองค์ แต่ก็พอที่จะนำมาอนุโลมให้เป็น “หลักการ” หรือเป็น “ระบบปฏิบัติการ” (Operating System) ที่รองรับการทำงานของโปรแกรมต่างๆในชีวิตได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การบริหารจัดการ การเงิน การวิจัย การประเมิน การเรียนรู้ หรือการเล่นก็ตาม ให้ทำงานไปอย่างมีความเสถียรและมีประสิทธิภาพ

จิตวิจัยจึงไม่ใช่เป็นเพียงกระบวนการเรียนรู้เพื่อเข้าใจจิตใจตนเองเท่านั้น แต่ยังสามารถกลายเป็นระบบปฏิบัติการสำหรับการทำงานด้านอื่นๆ ได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น การทำงานเพื่อบริหารจัดการองค์กร การทำงานอย่างสมดุลเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการเล่นอย่างสนุกสนาน อันเป็นการยังประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านไปพร้อมกัน ทั้งข้ามพ้นและเข้าใจตนเอง อ่อนน้อมกับผู้อื่น และสมดุลเชื่อมโยงกับโลก



โดย ชลลดา ทองทวี
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๑

ในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสใช้เวลาอยู่ในไร่ที่ภูเรือ จ.เลย และใช้ชีวิตใกล้ชิดกับธรรมชาติมากขึ้น รู้สึกว่าตนเองได้เรียนรู้อะไรมากมายที่ความรู้ในระบบโรงเรียนหลายสิบปีให้ไม่ได้ เป็นความเข้าใจที่สอนหรือบรรยายไม่ได้ด้วยถ้อยคำ แต่ต้องสัมผัสตรงที่ประสาทสัมผัสของตัวเองและหัวใจความรู้สึก เหมือนจะอธิบายให้เข้าใจความหวานน้ำตาลไม่ได้ แต่ต้องลิ้มชิมรสเองเท่านั้น จึงจะเข้าถึงและเข้าใจอย่างแท้จริง

ผู้เขียนพยายามสร้างบ้านดินที่ไร่ หลายครั้งที่ใช้จอบขุดดินลงไปจะเห็นรังเล็กๆ ของปลวกที่กำลังเลี้ยงลูกอ่อน เหมือนเปิดหลังคาบ้านของใครสักคนเข้าไป พอขยับจะขุดที่อื่นบางครั้งก็จะเจอไส้เดือน ตะขาบเล็กๆ หรือแม้แต่แมงป่องเล็กๆ สิ่งที่ผุดขึ้นมาในใจคือ ใครว่าการสร้างบ้านดินไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมหรือรบกวนธรรมชาติ ทุกอณูของดินล้วนแต่เต็มเปี่ยมด้วยชีวิตที่หลากหลาย เต็มไปด้วยรวงรังบ้านเรือนของสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่ต่างก็หวงแหนบ้านและครอบครัวของตัวเองเหมือนกัน

หลายครั้งที่ผู้เขียนถอดใจว่าจะสร้างบ้านดินต่อไปดีหรือไม่ เราจะสร้างบ้านของเราโดยทำลายบ้านของคนอื่นจะถูกต้องหรือเปล่า ความรู้สึกขัดแย้งนี้ทำให้เข้าใจบางสิ่งขึ้นมาว่า ประเด็นอาจจะไม่ได้อยู่ที่ว่า ใช้อะไรสร้าง แต่อาจจะอยู่ที่ว่าเราควรจะสร้างอะไรๆ เท่าที่จำเป็น หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ สร้างให้เล็กที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อรบกวนชีวิตอื่นให้น้อยลง

คงมีเหตุผลบางอย่างที่เราทุกชีวิตมาอยู่ร่วมกันบนโลกใบนี้ การเกิดมาเป็นคนเป็นสิ่งที่มีชีวิต แค่เกิดลืมตาขึ้นมาเราก็เข้ามาอยู่ในห่วงโซ่ของการพึ่งพิงอาศัยชีวิตอื่นทันที เราจึงเกิดมาพร้อมกับโจทย์ใหญ่เฉพาะหน้าโจทย์หนึ่งคือ เราควรจะใช้ชีวิตอย่างไรให้พอเหมาะพอดีที่จะรบกวนชีวิตอื่นให้น้อยที่สุด และเราจะใช้ชีวิตอย่างไรให้คุ้มค่ากับสิ่งที่เราเอามาจากชีวิตอื่นๆ

เราอาจจำเป็นต้องใช้ชีวิตให้ช้าลงอีกสักนิดเพื่อจะได้มีเวลาใคร่ครวญพิจารณาการกระทำของเรา และเลือกที่จะทำหรือไม่ทำอะไร ด้วยความตระหนักรู้ มีเวลาที่จะชื่นชมขอบคุณให้แก่ทุกชีวิตที่สูญเสียไปในระหว่างก้าวย่างการเดินทางของเรา

ที่บางคนว่ามากินอาหารมังสวิรัติสิ ไม่บาป ไม่ได้ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต แต่จริงๆ แล้ว หากพิจารณาให้ดี พืชก็รู้ร้อนรู้หนาว รู้สึกเจ็บปวดเหมือนกัน ประเด็นอยู่ที่ว่ากินทุกสิ่งด้วยความขอบคุณ และไม่กินทิ้งกินขว้าง ไม่เบียดเบียนชีวิตเขามาเปล่าๆ การกินผักเหมือนผักไม่มีชีวิตจิตใจ ก็เป็นการเข้าใจผิดเป็นอย่างยิ่ง

มีสาเหตุที่ชีวิตหนึ่งจะเกิดมาบนโลก ทุกชีวิตมีคุณค่า เราปฏิเสธความหลากหลายอันนั้นไม่ได้ เมื่อเราขุดดินเพื่อจะปลูกต้นไม้สักต้น เราสัมผัสได้ถึงความเกื้อกูลของสัตว์และพืชรอบข้าง ในผืนดินที่เราวางต้นไม้นั้นลงไป ความงดงามจึงไม่ได้อยู่ที่ชีวิตใดชีวิตหนึ่งหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ได้อยู่ที่ตัวเอกของเรื่องตัวไหน ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ ผัก ปลวก ไส้เดือน แมงป่อง หรือแมงกะพรุน แต่อยู่ที่หลากหลายชีวิต ร้อยเรียงสายใยเข้าด้วยกันเป็นเรื่องราว อยู่ที่เรื่องเล่าเบื้องหลังการดำรงอยู่ของชีวิตหรือสิ่งนั้นๆ เป็นเรื่องที่เต็มไปด้วย “ชีวิต” มากมายอย่างแท้จริง

วิถีชีวิตของเราที่อยู่ในเมืองทุกวันนี้ เราถูกตัดขาดจากเรื่องราวเหล่านี้ ในหิน ดิน ทราย ที่เราเอามาสร้างบ้าน เราไม่ได้เห็นสิ่งมีชีวิตที่เคยอาศัยอยู่ในนั้น ในพืชผักในซุปเปอร์มาร์เก็ต เราไม่ได้เห็นหลายชีวิตที่หล่อเลี้ยงต้นพืชผักเหล่านั้น

หากเราได้สร้างบ้านดินจากดินที่ขุดขึ้นจากพื้น เรื่องราวในดินที่เรานำมาปั้นประกอบด้วยหลากหลายชีวิตที่ทำให้เราไม่อาจคิดว่าบ้านหลังนั้นเป็นเพียง “บ้าน” ที่อยู่อาศัยของเรา แล้วก็จบแค่นั้น แต่เราจะรู้สึกสำนึกเข้าไปอย่างลึกซึ้งทีเดียวว่า มีเรื่องราวมากมายในก้อนดินแต่ละก้อน และบ้านก็ไม่ได้เป็นแค่บ้านของเรา ที่เราได้มาง่ายๆ ด้วยเงินของเรา แต่ว่าเป็นสิ่งที่เราต้องแลกกับหลายชีวิตที่เกี่ยวข้องเหล่านั้น

วิถีชีวิตในเมืองที่เราบริโภควัสดุสำเร็จรูป แพ็คใส่หีบห่อ แยกประเภทจากกันอย่างชัดเจน ทำให้ทุกสิ่งกลายเป็นแค่วัตถุไร้รากเหง้าที่มาของชีวิต ทำให้แรงสะเทือนใจและโอกาสที่เราจะได้มีสำนึกที่ในการบริโภคหายไป เมื่อเราไม่เห็นเรื่องราว ไม่เห็นข่ายใยของชีวิตหลากหลายที่สัมพันธ์กันจนไม่อาจแยกออกจากกันได้ เราก็สูญเสียโอกาสที่จะได้สัมผัสกับความรู้สึกเปราะบางของการเลือกระหว่างชีวิตอื่นกับชีวิตเรา เป็นการตัดสินใจที่เจ็บปวด แต่ขณะเดียวกันก็แฝงไว้ด้วยความงามของการตระหนักระลึกรู้และสำนึกในความเกื้อกูล เป็นความเข้าใจในความรัก ในอีกรูปแบบหนึ่งที่คนในเมืองอาจจะคิดว่าตัวเองไม่เกี่ยวข้อง หรือยากที่จะพบเจอ คือ ความรักความสัมพันธ์ที่ “ชีวิตหนึ่งแลกกับอีกชีวิตหนึ่ง”

ชีวิตที่สำเร็จรูปในเมืองทำให้คิดว่าเราตัดขาดจากห่วงโซ่ความสัมพันธ์ที่ชีวิตหนึ่งดำรงอยู่ได้เพราะชีวิตอื่น เราคิดว่าเราสูงส่งและตัดขาดจากห่วงโซ่ของบาป เราทนดูรายการที่สิงโตล่ากวางในทุ่งหญ้าที่แอฟริกาไม่ได้ โดยหารู้ไม่ว่าเรากำลังทำสิ่งนั้นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ในทุกสิ่งที่เราบริโภค แม้แต่ในบ้านช่องที่เราอยู่ หรือเสื้อผ้าข้าวของที่เราใช้

สิ่งที่เราเห็นในสังคมเมืองจึงเป็นสินค้าข้าวของให้บริโภคมากมายหลายรูปแบบ หลายสิ่งหลายอย่างเกินความจำเป็น บางอย่างผลิตแล้วไม่มีคนซื้อ ก็ต้องเอามาเลหลังขายถูกๆ หลายๆ สิ่งหลายๆ อย่าง ถูกบริโภคอย่างทิ้งๆ ขว้างๆ ไม่เกิดประโยชน์สูงสุด

และเรื่องราวเรื่องเล่าที่อยู่เบื้องหลังสินค้าข้าวของมากมายก่ายกองเหล่านั้น คือความเจ็บปวดของหลากหลายชีวิตจำนวนมากมายมหาศาลด้วยเช่นกัน นั่นเป็นสิ่งที่เราไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน

เมื่อเราไม่เห็นชีวิตอื่นเบื้องหลังสิ่งที่เราบริโภค เราก็เห็นคุณค่าของการมีชีวิตอยู่รอดแต่ละวันของเราน้อยลงไปด้วย เมื่อเราไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องใช้ชีวิตให้คุ้มกับชีวิตอื่นที่เสียไปเพื่อเรา เราก็ไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องทำสิ่งที่ดี ผู้คนในเมืองจึงเปราะบางต่อการไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง การฆ่าตัวตาย การใช้เวลาไปกับสิ่งเสพติดหรือสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ เมื่อเราไม่ได้สัมผัส ไม่ได้เห็นชีวิตอื่นที่สูญเสียลงต่อหน้าเพื่อการหล่อเลี้ยงชีวิตเรา เมื่อนั้นเราก็สูญเสียความเข้าใจในคุณค่าความหมายของการดำรงอยู่ของชีวิตตัวเองไป

สิ่งที่เราสูญเสียจากการห่างเหินตัดขาดจากเรื่องราวความหลากหลายของชีวิตที่ประสานถักทอหล่อเลี้ยงซึ่งกันและกันคือโอกาสที่จะได้สัมผัสกับความงามของการมีชีวิตอยู่ของเราบนโลกใบนี้ร่วมกับชีวิตอื่นๆ อีกมากมาย เราจึงรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยว.. ทั้งที่แท้ที่จริงแล้วชีวิตเราไม่อาจอยู่เพียงลำพังได้เลย เราไม่เคยเป็นปัจเจกบุคคล แต่เราคือเรื่องราวมากหลายที่ร้อยเรียงขึ้นเป็นสิ่งที่เรียกว่า “เรา” นี้



โดย ธีระพล เต็มอุดม
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๑

สองสัปดาห์ก่อน นักศึกษาในชั้นเรียนวิชาสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพศึกษาของคณะวิทยาศาสตร์ มหิดล ล้วนได้รับแรงบันดาลใจจากภาพและข้อมูลเกี่ยวกับบ้านขุนสมุทรจีน จ.สมุทรปราการ ที่ได้ผ่านตา เห็นสภาพของโบสถ์ที่ถูกคลื่นทะเลซัด ได้รู้ว่าชาวบ้านที่นั่นต้องย้ายบ้านมากกว่า ๔-๕ ครั้งในชั่วเวลาไม่กี่ปีเพราะพื้นที่ชายฝั่งหดหายไปอย่างรวดเร็ว สัปดาห์ต่อมา นักศึกษาทุกคนต่างช่วยกันติดต่อประสานและลงขันสมทบทุนกันให้ได้ไปเยือนยังชุมชนนั้น ส่วนหนึ่งเขาก็อยากจะเรียนรู้จากของจริงนอกห้องเรียน ส่วนบางคนก็มุ่งมั่นต้องการไปช่วยเหลือปลูกป่าชายเลนด้วยรู้สึกว่าชาวบ้านช่างเจอทุกข์หนักเหลือเกิน

เช้าวันนั้นป้าสมรผู้ใหญ่บ้านได้บรรยายบอกเล่าความเป็นมาของหมู่บ้านและสถานการณ์สิ่งแวดล้อมอย่างเรียบง่าย พร้อมชี้ชวนให้เราดูภาพถ่ายและเอกสารที่เกี่ยวข้อง เราทุกคนรับรู้ได้ถึงพลังของความมุ่งมั่นตั้งใจจากหญิงแกร่งคนนี้ที่ไม่ได้ทำเพื่อให้อยู่รอดเฉพาะหน้า แต่เพื่อสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าคืออดีตแห่งความภาคภูมิของบรรพบุรุษ อนาคตความมั่นคงของลูกหลาน และภารกิจสำคัญของการพิทักษ์ผืนแผ่นดิน

ต่อเมื่อเช้าของการรับฟังและท่องชมสถานที่ต่างๆ ในหมู่บ้านผ่านไป หลังจากผู้มาเยือนได้เห็นความเป็นอยู่ของสมาชิกในชุมชน ได้ยินคำบอกเล่าชีวิตจริงของการต่อสู้ และได้สัมผัสบรรยากาศจริงของโรงเรียนและวัดขุนสมุทรจีนซึ่งคงอยู่คู่กับชุมชนได้ด้วยพลังแห่งศรัทธาและความมุ่งมั่นแล้ว เมื่อย่างเข้ายามบ่ายได้เวลาที่พวกเราผู้มาเยือนเป็นฝ่ายมอบแรงกายช่วยปลูกป่าชายเลนบ้าง ต่างคนต่างตื่นเต้นและดิ่งเดินตรงไปบนสะพานคอนกรีตกว้างแค่พอสวนกันได้ เบื้องล่างลงไปร่วมสามเมตรนั้นเป็นผืนน้ำและโคลนเลน แหล่งเลี้ยงเพาะกุ้ง หอย ปลา ที่ทำกินของชาวบ้าน

ผู้เขียนในฐานะผู้ช่วยสอนซึ่งเดินรั้งท้าย ระหว่างที่ก้าวขึ้นไปบนสะพานยังได้ยินเสียงคุณป้าคุณลุงร้องบอกให้คณะถ่ายทำรายการโทรทัศน์ที่บังเอิญมาในวันเดียวกันรีบตามไปเก็บภาพการปลูกป่า ครั้นหันความสนใจกลับมาที่สะพานคอนกรีตตรงหน้า และก้าวเดินไปพักเดียวก็ต้องใจหาย เมื่อเห็นว่าทางคอนกรีตเบื้องหน้าหาได้เชื่อมต่อกันตลอด ช่องขาดหลายช่วงนั้นมีกระดานไม้วางเป็นสะพานพาดเชื่อมอยู่เป็นระยะ

แม้สะพานแรกๆ จะเป็นกระดานสี่แผ่นก็ตาม ยามที่เดินไปแล้วไม้ยวบยุบตัวตามน้ำหนัก ผู้เขียนก็เกิดกังวลวิตกต่างๆ นานา ห่วงสิ่งของสัมภาระในเป้สะพายหากเผลอพลัดหล่นไป แม้จะข้ามมาแล้ว ๔ สะพานก็ยังรู้ได้ว่าใจไม่ปกติ จังหวะที่ได้เดินบนสะพานคอนกรีตก็เหลียวไปสังเกตคณะถ่ายทำรายการซึ่งอยู่แต่ไกล หันหน้าชะเง้อไปดูนักศึกษาที่เดินไปแล้วก่อนหน้า พร้อมกลับมาปลุกปลอบใจตัวเองว่าอีกไม่นานหรอกคงจะถึงที่หมายแล้ว แต่สะพานกระดานไม้ก็ยังมีอยู่ต่อไป สะพานแล้วสะพานเล่า พร้อมกับขนาดที่เล็กลง จากสี่แผ่น เหลือสอง บ้างเหลือแค่หนึ่ง ซ้ำร้ายบางแห่งไม่มีราวไม้ไผ่ให้จับด้วย ถึงกระนั้นทุกคนก็ผ่านพ้นไปได้ ทั้งขาไปและขากลับ

เราจากลาผู้ใหญ่บ้านและชาวชุมชนมาเมื่อยามเย็น และใช้โอกาสระหว่างเวลาเดินทางบนรถบัสมาสะท้อนบทเรียนจากบ้านขุนสมุทรจีนในยามค่ำ ประเด็นแลกเปลี่ยนดำเนินไปอย่างออกรส ครอบคลุมทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม โลกทัศน์และความเชื่อ ผู้เขียนตั้งประเด็นถามขึ้นว่าใครรู้สึกกลัวบ้างเมื่อต้องข้ามสะพานนั้น พร้อมเผยตรงไปตรงมาว่าสำหรับตนเองแล้วนั่นเป็นสถานการณ์น่าหวาดหวั่นอย่างยิ่ง แม้จะไม่แสดงออกให้คนอื่นเห็นก็ตาม ปรากฏว่าเพื่อนร่วมทางเกือบทั้งหมดยกมือยอมรับว่ารู้สึกกลัว

ความกลัวเป็นสิ่งที่เรามีร่วมกันต่อสะพานกระดานไม้นั้น หลายเสียงสะท้อนบอกตรงกันว่าชั่วขณะก่อนที่จะก้าวลงบนกระดานไม้ ความกลัวช่างมีอำนาจมากมายนัก มันทำให้เราจินตนาการล่วงหน้าว่าเราอาจได้รับบาดเจ็บ ต้องเลอะเทอะเปรอะเปื้อน ไปจนถึงละอายขายขี้หน้าคนอื่น มายาภาพเหล่านี้แม้ยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง แต่ทำให้เราชะงักและลังเลขึ้นทุกครั้งได้

สำหรับผู้เขียนยิ่งประหลาดใจเมื่อย้อนมองกลับไปเห็นตัวเองว่า ยามที่กำลังลังเลว่าจะข้ามกระดานต่อไป ในใจก็เกิดเหตุผลขึ้นมาอ้างสารพัดว่าเพราะอะไรจึงควรจะไม่ไปต่อ ยิ่งได้เห็นคณะถ่ายทำรายการโทรทัศน์ล้มเลิกความตั้งใจและเดินกลับกลางคัน อาจเพราะต้องแบกกล้องตัวใหญ่หรืออะไรก็ตาม ยิ่งคิดเข้าข้างตัวเองมากขึ้น ทั้งที่จริงแล้วมีความกลัวเท่านั้นที่เป็นตัวผลักดันไม่ให้ทำในสิ่งที่ได้ตั้งใจไว้ และยับยั้งไม่ให้เดินไปถึงจุดหมาย

พวกเราพบว่าสิ่งที่ควรกระทำในเวลานั้นไม่ใช่การระงับความกลัว แต่แค่ตระหนักและรู้ว่าเกิดความกลัว ไม่จมจ่อมอยู่กับมันจนหวั่นหวาดไปกับมายาภาพ หรือยกอ้างเหตุผลนานา เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำให้ความกลัวหายไป มันเกิดเพราะเหตุต้องเดินบนทางที่ไม่คุ้นเคย เมื่อเราเดินข้ามกระดานไม้แต่ละช่วงมาได้เราก็พบว่าความกลัวมันหายไป แม้มันจะกลับมาใหม่เมื่อต้องข้ามอีก แต่เราก็ไม่ถูกมันควบคุมบงการโดยไม่รู้ตัวอีก

เช่นเดียวกันกับเรื่องราวต่างๆ ในชีวิต ดังเช่นการพูดในที่สาธารณะ ถ้าถูกความกลัวครอบงำจนขาดสติระลึกรู้เสียแล้ว เราก็จะขาดโอกาสได้ลองเป็นคนใหม่ เป็นคนซึ่งสามารถพูดในที่สาธารณะได้ แม้จะไม่ใช่นักพูดที่ดีเลิศ แต่สิ่งนี้จะไม่เป็นอุปสรรคในชีวิตที่เป็นดินแดนต้องห้ามของเราอีก เมื่อข้ามผ่านความกลัวไป ย่อมได้เปิดโอกาสไว้ที่ปลายทางนั้น

อาจารย์ประจำวิชาเล่าให้นักศึกษาและสมาชิกบนรถบัสฟังว่า “คนกล้าหาญไม่ใช่ว่าเขาไม่กลัว ทุกคนต่างก็มีความกลัวไม่มากก็น้อย การที่เราทำในสิ่งที่เรารู้สึกเฉยๆ การลงมือทำในสิ่งที่เราเองก็รู้สึกเกรงกลัวต่างหากที่เป็นความกล้าหาญ”

ผู้เขียนนึกถึงคำถามของตนที่ตั้งไว้ก่อนไปเยือนบ้านขุนสมุทรจีนว่า ทำไมพวกเขาถึงไม่ย้าย ซ้ำยังยืนหยัดต่อสู้ธรรมชาติแม้จะดูไม่มีความหวังนัก แล้วก็ได้คำตอบหนึ่งให้แก่ตัวเองว่า ชาวชุมชนก็คงหวาดกลัวต่อความเปลี่ยนแปลงที่พลิกวิถีชีวิตของตนเช่นกันกับเราที่หวาดหวั่นการเดินข้ามสะพานกระดานไม้ แต่แทนที่เขาจะย้ายถิ่นฐานเลี่ยงไปประกอบอาชีพอื่น เขากลับปลุกความกล้าหาญขึ้นพร้อมเผชิญภัยเบื้องหน้า และก้าวต่อไปเขียนประวัติศาสตร์ให้ตนเอง

จากเดิมชั้นเรียนวิชาสิ่งแวดล้อมฯ ของเราตั้งใจจะไปเรียน ไปช่วย และให้กำลังใจชาวบ้าน แต่กลับพบว่าเราเป็นฝ่ายได้รับแรงบันดาลใจอย่างมาก เราได้เดินทางไปรับรู้และเข้าใจเขาอย่างที่เขาเป็น เราได้เข้าใจตนเองจากการเดินทางเข้าสู่ชีวิตด้านใน และเราได้ข้ามสะพานกระดานที่สอนว่า เรานั่นเองคือผู้เลือกข้ามความสะพรึงกลัวที่ตัวเราเองสร้างขึ้นเพื่อไปเปิดโอกาสใหม่ให้ชีวิตของเราได้



โดย ณัฐฬส วังวิญญู
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๕๑

ในปัจจุบัน ผู้นำองค์กรจำนวนมากต้องการก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในองค์กร พวกเขาทำงานหนัก ลงทุนทั้งเงินและเวลาในการกระตุ้น รณรงค์ กำหนดนโยบาย สร้างวิสัยทัศน์ วางแผนเชิงยุทธศาสตร์ ฝึกอบรมและจัดสัมมนาที่เกี่ยวข้องกับการปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรม เพื่อให้เกิดภาวะผู้นำ ความสมัครสมานสามัคคี การมีส่วนร่วม ปรับปรุงระบบเทคโนโลยีการจัดการความรู้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ตลอดจนสร้างนวัตกรรมทางการผลิตและการให้บริการ ฯลฯ แต่แล้วมักพบว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นกลับไม่ได้เกิดขึ้นดังที่คาดหวัง จนหลายคนถึงกับคิดไปว่าผู้คนโดยมาก ถ้าไม่ใช่พวกที่ยอมรับแบบจำยอม ก็เป็นพวกที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง จึงจำต้องสร้างระบบควบคุมและโครงสร้างที่รัดกุม ตรวจสอบติดตามผลการทำงานให้แม่นยำและเด็ดขาดขึ้น ซึ่งยิ่งสร้างภาระงานและเพิ่มบรรยากาศของความเครียดความกดดัน อันเป็นผลให้เกิดภาวะการแข่งขัน หวาดระแวง และการเอาตัวรอดของชีวิตภายในองค์กรมากขึ้น

แต่หากเราย้อนกลับมาคิดและตั้งคำถามใหม่อีกครั้งถึงธรรมชาติการเรียนรู้ของมนุษย์ ว่ามนุษย์จะเปลี่ยนแปลงภายใต้เงื่อนไขอะไรบ้าง เราจะเห็นว่า นอกจากความกลัวหรือความอยากต่างๆ ที่ “ผลักดัน” พฤติกรรมของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นความอยากก้าวหน้า อยากสำเร็จ อยากมั่งคั่ง หรือกลัวล้มเหลว อับอาย ไร้คุณค่าความหมายแล้ว ยังมีเรื่องของความรักและความห่วงหาอาทรที่สามารถดึงดูดความสนใจของผู้คนในองค์กรหรือสังคมให้เกิดการเรียนรู้และปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ปรารถนา

มาร์กาเร็ต วีตเลย์ กล่าวว่า ธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์ คือ ไม่ต้องการให้ใครมาเปลี่ยนตัวเอง แต่จะปรับเปลี่ยนต่อเมื่อมองเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงนั้นส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อชีวิตและองค์กร ตลอดจนแม้เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้ว การหล่อเลี้ยงพฤติกรรมใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืนถาวรก็ยังเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก เพราะระบบสมองของมนุษย์นั้นถูกสร้างมาให้สั่งสมและบันทึกรูปแบบชีวิตเดิมๆ ที่ได้รับการปฏิบัติมาอย่างซ้ำๆ และชำนิชำนาญจนคุ้นชิน จึงจำต้องการอาศัยแรงบันดาลใจและความตั้งใจมั่น รวมทั้งแรงสนับสนุนจากเพื่อนร่วมงานและครอบครัว ในการสร้างวิถีการดำรงอยู่และวัฒนธรรมที่จะช่วยหล่อเลี้ยงการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น

ยิ่งในภาวะเร่งรีบบีบคั้น ภายใต้บรรยากาศของการแข่งขันและเอาตัวรอดในภาวะปกป้องตัวเอง โอกาสที่ผู้คนจะมองเห็นแบบแผนพฤติกรรมเดิมๆ ที่เป็นผลพวงของอดีต และโอกาสในการเปลี่ยนแปลงก็ยิ่งน้อยลงไปทุกที จนดูเหมือนว่าหากไม่เกิดวิกฤตการณ์ที่มีความหมายจริงๆ การมองโลกและพฤติกรรมในแบบเดิมๆ ของผู้คนก็จะยังคงหนักแน่นมั่นใจอยู่อย่างนั้นเอง

การสร้างกระแสการเปลี่ยนแปลงจากจิตสำนึกเก่าไปสู่จิตสำนึกใหม่นั้น จำต้องใส่ใจกับวิธีการรับรู้และเรียนรู้ของมนุษย์ดังที่เป็นมา การเรียนรู้ในระบบโรงเรียนแบบเดิมมักบอกว่าเราควรสนใจเรื่องอะไร ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ ศาสนา คุณธรรม จริยธรรม เรียนเป็นวิชาๆ หรือเป็นหัวข้อๆ ไป และมักไม่ตั้งคำถามเพื่อเรียนรู้จากผู้เรียนว่า จริงๆ แล้วเขาสนใจเรื่องอะไร สิ่งที่เป็นศูนย์กลางความสนใจของผู้เรียนคืออะไร เขาเหล่านั้นทุ่มเทแรงกายแรงใจให้กับอะไร

การปรับวัฒนธรรมองค์กร จากองค์กรที่ผู้คนสัมพันธ์กันแบบเครื่องจักรกลไกมาเป็นองค์กรที่มีชีวิต ที่ผู้คนเปิดรับ เรียนรู้ และแบ่งปันซึ่งกันและกัน จะเกิดขึ้นได้อย่างถึงรากก็ต่อเมื่อการเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นภายในใจของผู้คน ที่ส่งผลถึงวิถีความสัมพันธ์ทั้งในบ้านและในองค์กร คำที่ว่า “เมื่อใจเปลี่ยน โลกก็เปลี่ยนตาม” ไม่ใช่เป็นเพียงคำกวีหวานหูเท่านั้น แต่เป็นศาสตร์ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงที่หัวใจของมนุษย์สามารถมีส่วนร่วมได้อย่างสร้างสรรค์

โดยวาระที่ผู้คนให้ความสนใจกันมากวาระหนึ่ง จะเป็นเรื่องใกล้ตัว ไม่ว่าเรื่องสุขภาพ หรือสัมพันธภาพในบ้าน เป็นต้น ทำให้เกิดโรงเรียนพ่อแม่ จนกลายเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากเรื่องราวซึ่งดูเหมือนเป็นวาระส่วนตัวได้กลายเป็นวาระร่วมของสาธารณะ เพียงเพราะว่าหัวใจของพ่อแม่อยู่ที่ลูก ความใส่ใจและทรัพยากรจำนวนมากทุ่มเทไปเพื่อการพัฒนาชีวิตลูก ตราบใดที่ลูกคือใจกลางความห่วงใยและผูกพัน โอกาสการเรียนรู้ของสังคมช่องทางหนึ่งจึงอยู่ที่หัวอกหัวใจของพ่อแม่นี่เอง ทำให้สถาบันขวัญเมืองได้ริเริ่มจัดกิจกรรมเหล่านี้ขึ้นครั้งแรกที่จังหวัดนครสวรรค์ โดยมี อาจารย์วิศิษฐ์ วังวิญญู และอาจารย์อังคนา มาศรังสรรค์ เป็นแกนหลัก และได้ขยายกิจกรรมดังกล่าวมาในเขตกรุงเทพมหานครและสงขลา โดยได้รับความสนใจจากผู้คนอย่างแพร่หลาย

พ่อแม่หลายคนมาเข้าเรียนในโรงเรียนพ่อแม่พร้อมกับคำถามมากมาย เช่น พ่อแม่จะพูดอย่างไรให้ลูกฟัง หรือฟังอย่างไรให้ลูกพูด ทำอย่างไรให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม พ่อแม่จะดูแลความเครียดที่เกิดขึ้นในการเรียน ให้ไม่ทำลายทั้งสุขภาพกายและจิตใจ ความสำเร็จและความสุขในชีวิตของลูกจะเกิดขึ้นไปพร้อมๆ กันได้อย่างไร เราจะแก้ไขความห่างเหินที่เกิดมากขึ้นในครอบครัวได้อย่างไร วินัยและคุณธรรมสร้างขึ้นมาได้อย่างไร อิสรภาพที่ไม่ใช่การตามใจนั้นเป็นอย่างไร การเลี้ยงลูกอย่างมีสติและอิสระจากความกลัวนั้นทำได้อย่างไร เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นโจทย์ที่สำคัญต่อการเป็นพ่อแม่ และเป็นสิ่งที่โรงเรียนพ่อแม่ช่วยหาคำตอบร่วมกัน

แนวคิดพื้นฐานของโรงเรียนพ่อแม่ คือการเปิดพื้นที่แห่งการเรียนรู้เพื่อให้พ่อแม่ได้มารู้จักตัวเอง และเห็นโอกาสในการปรับเปลี่ยนเติบโตไปพร้อมๆ กับการเลี้ยงดูลูกของตัวเองให้พัฒนาความเป็นมนุษย์ที่เต็มไปด้วยศักยภาพไปพร้อมๆ กัน ในบรรยากาศที่เป็นมิตร ผ่อนคลาย และปลอดภัย

โดยมีกิจกรรมที่ช่วยปรับจังหวะชีวิตให้ช้าลง และค้นพบความสงบสุขของการดำรงอยู่ เป็นพื้นที่ว่างที่เหมาะแก่การคิดใคร่ครวญและทบทวนตัวเอง ถึงชีวิตที่ผ่านมา นับตั้งแต่วัยเด็ก มาจนถึงวัยของความเป็นพ่อแม่ เพื่อให้เห็นโลกภายในที่มีระบบคุณค่า กรอบคิด และแนวปฏิบัติที่ยึดมั่นจนคุ้นเคยอย่างเป็นอัตโนมัติ(อัตตา) นอกจากนี้การได้แบ่งปันทุกข์สุขในบรรยากาศของรับฟังกันและกันอย่างลึกซึ้ง จะก่อให้เกิดความเห็นอกเห็นใจ ไม่ด่วนสรุปตัดสินหรือการเอาชนะคะคานทางความคิด

แม้ว่าหลายคนจะเคยอ่านหนังสือเกี่ยวกับเทคนิควิธีการเลี้ยงดูลูกมามากมาย แต่วิธีการเหล่านั้นจะไม่ได้ผลนักหากพ่อแม่ยังมองไม่เห็นข้อจำกัดของสิ่งที่ตัวเองเป็น ดังนั้น โจทย์ของโรงเรียนพ่อแม่ที่สำคัญคือ เราคือใคร ตัวตนของเราเป็นอย่างไร เพราะสิ่งที่ลูกจะซึมซับและเรียนรู้จากพ่อแม่อย่างเป็นธรรมชาติ คือความเป็นตัวตนของพ่อแม่นั่นเอง ไม่ได้ขึ้นกับเทคนิควิธีการที่พ่อแม่ใช้ในการสื่อสารกับลูก

พลังแห่งการรับฟังอย่างเปิดใจนี้ ทำให้พ่อแม่ที่มาเข้าร่วมรู้สึกมีเพื่อน บ้างก็รู้สึกว่าได้เยียวยาสภาพจิตใจ และเกิดแรงบันดาลใจในการกลับไปสร้างครอบครัวที่ยืนอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจ และการบ่มเพาะชีวิตลูกไปพร้อมกับการพัฒนาชีวิตด้านในของตัวพ่อแม่เอง

เมื่อโลกภายในเปลี่ยน ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับโลก ไม่ว่าที่บ้านหรือที่ทำงานก็เปลี่ยนตามไปด้วย และนี่อาจเป็นโอกาสที่สำคัญในการสร้างสรรค์สังคมหรือองค์กรแห่งการเรียนรู้บนฐานรากของหัวใจที่มีรักและแรงปรารถนาที่จะดำเนินชีวิตไป ไม่เพียงแต่เพื่อการอยู่รอด แต่เพื่อการอยู่ร่วมอย่างสันติ มีคุณค่าและความหมายต่อกันและกัน

Newer Posts Older Posts Home