โดย ชลนภา อนุกูล
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๒


เห็นคนพูดถึงการเตรียมตัวตายอย่างสงบมามากแล้ว แต่ยังไม่เคยเห็นคนเขียนเรื่องการเลิกกับแฟนอย่างสงบเลย ทั้งที่เป็นความทุกข์ร่วมของคนร่วมสมัยและต้องมีการเตรียมตัวอยู่บ้างเหมือนกัน โดยเฉพาะหากต้องการให้ความหมายของการเลิกกับแฟนเป็นไปอย่างสงบ และยังเป็นเพื่อนกันต่อ

ก่อนอื่นเราควรทำความเข้าใจร่วมกันก่อนถึงความหมายของการเลิกกับแฟนอย่างสงบ คือการเลิกด้วยดี ไม่มีความโกรธหรืออาฆาต พร้อมให้อภัย และมีความเมตตากรุณาต่อกัน เป็นการอโหสิต่อกรรมเดิม และเป็นไปเพื่อการเตรียมตัวสำหรับการเดินทางอย่างใหม่ของชีวิต

การจะเลิกกับแฟนอย่างสงบได้นั้นขึ้นกับลักษณะของการเลิกเป็นสำคัญ เพราะหากการเลิกเป็นไปอย่างโกรธแค้น มีอารมณ์ อกุศลกรรมข้อนี้ย่อมติดตัวไปทั้งสองฝ่ายแม้จะจากกันไปแล้ว และย่อมไม่อาจนำไปสู่การเป็นเพื่อนกันได้ ฉะนั้น การเป็นเพื่อนกันต่อหลังการเลิกจะเกิดขึ้นได้จึงขึ้นกับคุณภาพของการเลิก

แนวปฏิบัติสำหรับผู้บอกเลิก

๑. พิจารณาใคร่ครวญอย่างลึกซึ้งถึงเหตุและผลในการเลิก อย่าบอกเลิกหลังการทะเลาะกัน นอกจากความสัมพันธ์ที่มีอยู่ง่อนแง่นขึ้นแล้ว การบอกเลิกในภาวะที่มีอารมณ์ เป็นการดำเนินไปด้วยอารมณ์ ไม่ใช่เหตุผล และการบอกเลิกด้วยอารมณ์ ย่อมไม่นำไปสู่การบอกเลิกอย่างสงบ ไม่นำไปสู่มิตรภาพ และสำหรับผู้มีประวัติบอกเลิกทุกครั้งหลังทะเลาะกัน ต้องใคร่ครวญให้มากว่าจะบอกอย่างไรให้อีกฝ่ายเข้าใจว่าครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายจริงๆ คุณอาจรู้สึกผิดที่เป็นผู้บอกเลิกคนที่เคยรักและสัญญาว่าจะรักษาความผูกพันนั้นไว้ แต่หากความสัมพันธ์นั้นดำเนินไปด้วยดีไม่ได้ ก็เป็นความผิดพลาดของคนสองคนร่วมกัน ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง และคุณทำดีที่สุดแล้ว

๒. ตัดสินใจบนพื้นฐานของการพิจารณาใคร่ครวญนั้น และมีความหนักแน่น หากพิจารณาแล้ว ตัดสินใจแล้วด้วยใจอันสงบ มั่นคง ก็จงแน่วแน่อยู่กับการตัดสินใจนั้น

๓. เลือกวันเวลาและสถานที่สื่อสารที่เหมาะสม คุณกำลังจะแจ้งข่าวร้ายให้กับอีกฝ่าย และยังหวังเป็นเพื่อนกันต่อ เพราะฉะนั้น ควรพูดจากันต่อหน้า ไม่ใช่ทางโทรศัพท์หรือเอสเอ็มเอส คุณภาพของการสื่อสารมีความสำคัญมาก จำเป็นต้องคำนึงถึงอีกฝ่ายในฐานะผู้รับสาร ช่องทางในการสื่อสาร และสิ่งแวดล้อมในการสื่อสารให้มาก คุณต้องมั่นใจว่ามีเวลาเพียงพอในการพูดจาสื่อสารกันในวันนั้น ไม่รีบ ไม่มีธุระที่ต้องไปทำที่ไหนต่อ

๔. สื่อสารด้วยถ้อยคำปรกติ ชี้แจงเหตุผล เตรียมใจยอมรับทุกอย่างที่เกิดขึ้น จำไว้ว่า คุณเตรียมตัวเป็นฝ่ายบอกเลิก อีกฝ่ายไม่ได้เตรียมตัว ปฏิกิริยาตอบสนองต่อเรื่องนี้ย่อมแตกต่างกัน คุณต้องเป็นฝ่ายสงบ ไม่มีอารมณ์ อีกฝ่ายอาจจะมีอารมณ์ ทั้งโกรธ ตกใจ เสียใจ ตีโพยตีพาย ถามถึงเหตุผล และกล่าวโทษคุณ ขอร้องคุณ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นขอให้รับฟังด้วยใจอันสงบ ไม่โกรธ ไม่ใจอ่อนโลเล ให้เวลาอีกฝ่ายอย่างเต็มที่ เป็นผู้ฟังอย่างลึกซึ้ง เป็นผู้ทำความเข้าใจ มีความเห็นอกเห็นใจ ให้อีกฝ่ายเลือกเองว่าจะหยุดเมื่อไหร่

๕. อย่าถามหรือขอร้องให้ฝ่ายถูกเลิกเป็นเพื่อนกับคุณในทันทีที่เลิก อีกฝ่ายไม่ได้เตรียมตัว ไม่ได้คิดอะไร การถามว่าเป็นเพื่อนกันต่อได้ไหม ไม่ต่างอะไรกับการถามว่า ต้นไม้ตายแล้ว จะเก็บไว้ไหม? กระบวนการเลิกและกระบวนการหลังจากนั้นต่างหากจะเป็นปัจจัยกำหนดว่าจะเป็นเพื่อนกันได้อีกหรือไม่

๖. หลังจากสิ้นสุดการพูดคุยครั้งนั้นแล้ว อาจต้องพูดคุยกันอีกสองสามครั้ง เว้นจังหวะเวลาให้เหมาะสม แต่คุณต้องพร้อมรับฟัง และเข้าใจว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการเยียวยา อีกฝ่ายอาจถามคำถามเดิมๆ ย้ำไปย้ำมา หรือกล่าวโทษ คุณต้องพร้อมจะเข้าใจอารมณ์ของอีกฝ่ายและกระบวนการเยียวยานี้ ให้เวลาอีกฝ่ายอย่างเต็มที่ รับฟัง ไม่แสดงท่าทีเบื่อหน่าย ยอมรับความไม่น่ารักของเขาอันเกิดจากอารมณ์โกรธ เศร้า เสียใจ ปนกัน อีกฝ่ายไม่ได้มีคุณสมบัติด้านลบแต่เพียงอย่างเดียว อย่าคาดหวังให้เขาใจเย็น หรือมีเหตุผล คุณเคยรักและผูกพันกันมา ย่อมเข้าใจตัวตนเขา นิสัยของเขาเป็นอย่างไรคุณรู้ดี พฤติกรรมด้านลบขณะนี้เป็นผลจากอารมณ์ด้านลบภายใน ไม่ใช่เป็นนิสัยเดิมแท้ของเขา อย่าลืมว่า คุณยังอยากจะเป็นเพื่อนกันต่อ

๗. หลังจากช่วงเวลานี้ อีกฝ่ายอาจจะเลิกติดต่อคุณสักพัก คุณอาจจะเป็นฝ่ายขอติดต่อกลับไปในเวลาที่เหมาะสม ระยะเวลานี้ขึ้นกับความเข้มข้นในความสัมพันธ์ที่เคยมี

๘. ระหว่างนี้คุณอาจใช้ชีวิตเป็นปรกติ แต่การก้าวเข้าสู่ความสัมพันธ์ใหม่หลังจากนั้นภายในเวลาสองสามเดือนอาจจะเป็นไปไม่ได้ แม้คุณมีสิทธิ์ แต่ก็ไม่ควร คุณควรจะใช้เวลานี้พิจารณาใคร่ครวญถึงความบกพร่องในความสัมพันธ์ที่ผ่านมา ระยะเวลานี้อาจนานกว่านั้น แต่หากคุณเริ่มความสัมพันธ์ใหม่หลังจากเลิกกัน เขาจะคิดว่านั่นแหละคือเหตุผลที่แท้จริงในการเลิก และไม่อาจนำไปสู่มิตรภาพ

๙. ไม่คาดหวังในอีกฝ่ายว่าควรเป็นหรือทำอะไรที่ดีกว่านี้ ต้องยอมรับว่าทั้งคุณและอีกฝ่ายก็โง่ได้ พลาดพลั้งได้ ไม่สมบูรณ์ได้ ควรเข้มงวดกับตนเองและผ่อนปรนกับผู้อื่น การเรียกร้องคุณธรรมจากตนเองเป็นเรื่องสำคัญกว่า

แนวปฏิบัติสำหรับผู้ถูกเลิก

๑. ระลึกอยู่เสมอว่าคุณได้พูดและทำทุกอย่างดีที่สุดแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดพลาดของคุณฝ่ายเดียว หากแต่เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทั้งสองฝ่าย อย่ากล่าวโทษตัวเอง เหตุผลของการเลิกนั้นไม่ว่าจะมีข้อเดียวหรือกี่ข้อก็เพียงพอกับการทำให้เขาตัดสินใจเลิกกับคุณ ยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างที่เป็น ไม่มีความผิดความถูกในเรื่องนี้

๒. อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี อยู่ในวงเพื่อนหรือครอบครัว ในที่ที่คุณมั่นใจว่าคุณเป็นที่รัก และมีคุณค่ากับคนที่แวดล้อมคุณ หลีกเลี่ยงสถานที่ที่เคยไปกับเขา เก็บข้าวของที่เป็นเครื่องระลึกถึงไว้ในที่ลับตา

๓. ความเสียใจ การร้องไห้ การตีโพยตีพาย ฟูมฟาย เป็นเรื่องปรกติ คุณยังเป็นปุถุชน ยังไม่บรรลุธรรม อยู่บนหนทางปฏิบัติ ไม่ต้องสงวนหรือแสดงท่าทีให้เป็นปรกติ ตราบเท่าที่ภายในของคุณยังไม่ปรกติ ถ้าคุณเป็นอริยบุคคลคุณก็คงไม่ต้องเสียใจ ยอมรับทุกอย่างที่เกิดขึ้นภายใน แม้จะเป็นอารมณ์ด้านลบ โอบกอดมันไว้ ยอมรับว่าเราก็มีอารมณ์ด้านลบได้แม้เป็นคนดีหรือเป็นผู้ปฏิบัติธรรมที่มีศรัทธาแก่กล้า ดูแลไม่ให้ไฟแห่งความโกรธ เศร้า เสียใจ ทำร้ายคุณหรือผู้อื่น

๔. หาเพื่อนที่สามารถฟังอย่างลึกซึ้ง และเตือนสติคุณได้ ให้ปรึกษา ระบายอารมณ์ทุกอย่างที่มี คุณต้องยอมรับว่าคุณกำลังป่วยภายใน ถ้าคุณไม่ป่วยคุณก็คงไม่ต้องเยียวยา ไม่ต้องพูดคุยปรับทุกข์กับใคร เพื่อนที่มีสติปัญญาดีจะเตือนสติคุณได้ว่าการพูด คิด ทำอะไรในช่วงระหว่างที่มีอารมณ์เป็นเรื่องไร้เหตุผล การตัดสินใจที่ดีจะเกิดขึ้นได้เมื่อผ่านกระบวนการคิดใคร่ครวญพิจารณาอย่างลึกซึ้ง ไม่ใช่ในภาวะที่มีอารมณ์ครอบงำ ที่สำคัญ อย่าเริ่มต้นความสัมพันธ์กับใครในช่วงระยะเวลานี้ แม้จะเป็นคนที่รู้สึกดีกับคุณมานานก็ตาม คุณต้องรอให้ใจสงบ สมองแจ่มใส ถามตนเองว่าต้องการอะไร และดำเนินชีวิตไปตามนั้น

๕. ระงับการติดต่อกับเขาไปสักพัก ไม่โทรศัพท์ ไม่เขียนจดหมาย ไม่เขียนอีเมล คุณต้องการเวลาเยียวยาตนเอง คุณไม่ต้องดูแลใคร คนที่คุณต้องดูแลคือตัวคุณเอง ทำให้ใจนิ่งสงบ ดูแลอารมณ์ด้านลบ ยอมรับ ระมัดระวังไม่ให้ออกมาเป็นการกระทำ หยุดคิดฟุ้งซ่าน ทุกอย่างเป็นอย่างที่เป็น ไม่ต้องตีความ พึงตระหนักว่าความโกรธจะทำให้มองเห็นแต่ด้านลบของอีกฝ่าย ความเศร้าจะทำให้เห็นแต่ด้านลบของตนเอง อารมณ์หลายอย่างจะเกิดขึ้นปะปนกัน ไม่ต้องสนใจ อดทนไว้ ความทุกข์ภายในจะผ่านพ้นไปด้วยตนเอง

๖. ในยามที่ใจสงบ พิจารณาใคร่ครวญอย่างลึกซึ้งถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดสิ่งนี้ ทบทวนตนเองอย่างตรงไปตรงมา อาจเขียนขึ้นมาดู และหากยังนึกถึงคนเดิม นำสิ่งที่เขียนมาเป็นเครื่องเตือนสติ การพิจารณาใคร่ครวญนี้จะเป็นแนวทางให้เราเริ่มต้นความสัมพันธ์ใหม่ได้โดยไม่ผิดพลาดแบบเดิม

๗. แม้ว่าอีกฝ่ายจะขอให้เป็นเพื่อนกันต่อ ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาหรือคุณจะทำได้อย่างที่พูด สำหรับบางคนแล้ว คำพูดนี้อาจมาจากแรงผลักดันอะไรบางอย่างภายใน ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกกลัวสูญเสียหรือความรู้สึกผิด มิตรภาพจะเกิดขึ้นเองหากมีความปรารถนาดีต่อกัน ตราบใดที่ยังรู้สึกแย่ต่อกัน เห็นแต่ความผิดของอีกฝ่าย ปราศจากความไว้วางใจ ไม่เคารพและเชื่อมั่นซึ่งกันและกัน มิตรภาพย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ทั้งในคุณและอีกฝ่าย

๘. สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นดีเสมอ เราย่อมเรียนรู้ในสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราได้ การเรียนรู้จากความผิดพลาดช่วยนำไปสู่การเริ่มต้นความสัมพันธ์ใหม่ที่มีคุณภาพ มีสติปัญญากำกับมากกว่าเดิม

๙. ไม่คาดหวังว่าอีกฝ่ายควรเป็นหรือทำอะไรที่ดีกว่านี้ ต้องยอมรับว่าทั้งคุณและอีกฝ่ายก็โง่ได้ พลาดพลั้งได้ ไม่สมบูรณ์ได้ ควรเข้มงวดกับตนและผ่อนปรนกับผู้อื่น การเรียกร้องคุณธรรมจากตนเองเป็นเรื่องสำคัญกว่า

แนวปฏิบัตินี้ไม่ใช่หลักเกณฑ์ตายตัว ผู้เขียนปราศจากความรู้ แต่เขียนขึ้นจากความรู้หลายแห่งในโลกอินเทอร์เน็ต ยำและสังเคราะห์เข้ากับวัฒนธรรมแบบไทย ควรช่วยกันปรับปรุง และเขียนเผยแพร่ให้มากขึ้น เพราะเป็นทุกข์แบบปุถุชน ซึ่งมีวิถีชีวิตต่างจากนักบวช ทั้งยังเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่ในตำรา คนหนุ่มสาวร่วมสมัยล้วนต้องผ่านประสบการณ์ดังกล่าวอย่างคลำทาง เพราะโครงสร้างสังคมเปลี่ยน วัฒนธรรมเปลี่ยน พื้นฐานครอบครัวเปลี่ยน องค์ความรู้และสติปัญญาจากคนรุ่นก่อนถูกส่งต่อมายังคนรุ่นหลังแบบอาศัยโชค บางคนโชคดีก็ได้รับสติปัญญานั้นต่อ บางคนโชคไม่ดีก็ทุรนทุรายต่อไป



โดย เจนจิรา โลชา
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๒

ถึงเวลาที่จะต้องเขียนบทความชิ้นนี้เสียที หลังจากที่ผัดผ่อนจนล่วงเลยกำหนดส่งบทความมาเกือบสิบวันแล้ว

เมื่อถึงกำหนดส่งจึงได้ส่งเมลไปยังผู้รับผิดชอบคอลัมน์ เพื่อขอเลื่อนส่งบทความ ใจอยากจะอ้างว่างานยุ่ง ไม่มีเวลา (ซึ่งเป็นคำอ้างที่หยิบยกขึ้นมาใช้จนคุ้นชิน) แต่เมื่อสำรวจแล้วพบว่า เราไม่ได้ยุ่งจนไม่มีเวลาเขียนบทความอย่างที่อ้างสักหน่อย ความคิดก็วิ่งแล่นเพื่อค้นหาข้ออ้างอื่นที่พอจะฟังขึ้น แต่ก็ไม่พบ เลยต้องสารภาพไปตามตรงว่าไม่รู้จะเขียนเรื่องอะไรดี แล้วก็มีเมลตอบรับว่าให้เลื่อนวันส่งได้ และตามด้วยคำอวยพรที่ขอให้มีความสุขกับการเขียนบทความ

นี่อาจเป็นสิ่งที่ได้รับกลับคืนมาจากการที่เราเลือกที่จะพูดความจริง ความจริงที่ว่าไม่รู้จะเขียนอะไรดี จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่รู้ว่าจะเขียนอะไรอยู่ดี คงต้องยอมรับกับตัวเองและผู้อ่านเสียทีว่าเรากำลังถึงทางตัน และคำอวยพรก็ล่องลอยมาอีกครั้ง “ขอให้มีความสุขกับการเขียน” แล้วจะมีความสุขได้อย่างไรถ้าต้องบีบคั้นตัวเองเช่นนี้ ผู้อ่านเองคงรับรู้ได้ถึงความทุกข์ ความอึดอัดใจที่ผู้เขียนได้ส่งผ่านไปยังภาษาที่เขียนในบทความนี้ด้วย ถ้าเป็นเช่นนั้นคงไม่ดีแน่ๆ เลย

คำถามหนึ่งจึงผุดขึ้นมาในใจ “อะไรที่ทำให้เราไม่มีความสุขในการเขียนบทความ”

หากไม่โกหกตัวเอง คำตอบที่พบก็คือ เพราะเราคาดหวังกับตัวเองว่าจะต้องเขียนบทความที่ดี น่าสนใจ ได้ประโยชน์แง่คิดบางอย่าง คนอ่านแล้วประทับใจ ซึ่งจะทำให้ชื่นชมตัวผู้เขียนไปด้วย ความคาดหวังนี้เองที่เป็นตัวกดทับ บีบคั้น กดดันให้ต้องเขียนบทความให้ดีที่สุด พิเศษที่สุด แค่ธรรมดาๆ ไม่ได้ เมื่อค้นพบคำตอบนี้ ก็รู้สึกตลกกับความคิดของตัวเอง เรากำลังหลงวนอยู่กับการสร้างภาพตัวตนขึ้นมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า วางกับดักกักขังตัวเองเอาไว้ เบื้องหลังของความคิดนี้จึงนำไปสู่ทางตันที่กำลังต้องเผชิญอยู่นี้

ต่อเมื่อเราเห็นและยอมรับสิ่งที่เรามีและเป็น จึงพอจะทำให้เห็นทางออกอันรำไรที่จะทำให้มีความสุขกับการเขียนงานสักชิ้นขึ้นมาบ้าง เริ่มจากการลดความคาดหวังกับตัวเอง วางใจกับงานเขียน ดีหรือไม่อาจจะไม่ใช่บทสรุป สิ่งที่ควรตักตวงคือความสุขเล็กๆ จากการได้ทำสิ่งที่เรารักและเขียนสิ่งที่อยากเขียนต่างหาก งานเขียนไม่จำเป็นต้องพิเศษ หากแต่เป็นงานเขียนที่แสนธรรมดาและเต็มไปด้วยความจริงใจของผู้เขียน สิ่งนี้น่าจะเป็นหน้าต่างที่ทำให้ผู้อ่านเปิดรับ สัมผัสรับรู้ถึงความรู้สึกนึกคิดของผู้เขียนอย่างแท้จริง มากกว่าการที่เราจะตั้งเป้าหมายไว้ก่อนว่าผู้อ่านจะต้องประทับใจและได้รับประโยชน์จากงานเขียนของเรา

แม้จะวางใจและลดความคาดหวังต่างๆ ลงแล้ว แต่ก็ยังไม่รู้จะเขียนเพื่อนำเสนอเรื่องอะไรอยู่ดี รู้สึกว่าเราถึงทางตัน มึนมืดแปดด้าน หัวสมองว่างๆ โหวงๆ ไม่มีเนื้อหา ไม่มีประสบการณ์โดนๆ ที่พอจะนำมาแปรเปลี่ยนให้กลายเป็นบทความเลย ไม่มีเรื่องราวใดๆ ที่ผ่านเข้ามาและพบเจอในชีวิตที่จะนำเสนอผู้อ่าน ไม่มี ไม่มีจริงๆ .......

เพราะความไม่รู้นี่เอง ที่ทำให้ตัวเองได้ลองเปิดโลกแห่งการสื่อสารอันไร้พรมแดน เข้าไปอ่านบทความที่คนอื่นได้เขียนไว้ อ่านความคิด ความรู้สึก จากบทความที่มากมายไปด้วยเรื่องราว มีวิธีการนำเสนอที่น่าสนใจ ซึ่งนั่นไม่ได้เป็นเพราะต้องการจะลอกเลียนแบบ แต่การออกมาสัมผัสโลกกว้าง ไม่ติดอยู่กับกรอบความคิดและวิธีการอันคุ้นชินของเรา จะทำให้เรามองเห็นความเป็นไปได้มากมายที่มีอยู่ในโลกอันไพศาลนี้ ความคิดที่มีอยู่ได้ประสานกับอีกความคิด ไม่ใช่ความคิดจะมาแทนที่กัน แต่กลายเป็นความคิดที่หลอมรวม เปิดกว้างมากขึ้น อย่างน้อยก็กว้างกว่าความคิดเดิมๆ ที่เรามีอยู่

แม้จะได้เปิดโลกทางความคิด แต่ก็ยังรู้สึกว่ามีบางอย่างขาดหายไป ...

จึงได้ลองพาตัวเองนั่งรถประจำทางไปอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ นั่งรถไฟฟ้า ออกไปดู ไปสัมผัสชีวิตผู้คนในสังคม ไปพบเจออากาศร้อนๆ ที่ชวนให้หงุดหงิดใจ ไปสูดควันพิษรวมกับคนอื่นๆ ในท้องถนน แวะสวนสาธารณะที่เขียวขจีไปด้วยต้นไม้ สดชื่นเมื่ออยู่ใกล้สายน้ำ ผู้คนอ้อยอิ่งเดินเล่น ออกกำลังกาย ผ่อนคลายแจ่มใส ชีวิตที่หลากหลายบนโลกใบนี้เป็นสีสันที่สดใหม่และสวยงามเสมอ โลกกว้างใหญ่ ทุกชีวิตต้องดำเนินต่อไป การออกไปพบเจอกับชีวิตของคนอื่น ไม่ใช่เพราะต้องการไปมองหาเรื่องมาเขียนบทความ หากเป็นการไปด้วยใจที่อยากรู้ ด้วยตาที่อยากเห็น ด้วยกายที่อยากร่วมสัมผัสเป็นหนึ่งเดียวกับชีวิตอื่น จะทำให้ใจของเราเปิดกว้าง สัมพันธ์กับโลกและผู้คนอย่างแท้จริง รับรู้เรื่องราว ความเป็นไปของชีวิตอื่นที่ไม่ได้มองเพียงที่ตัวเองเท่านั้น

ประสบการณ์ตรงที่เกิดขึ้น ทำให้เราได้เชื่อมโยงโลกภายนอกกับโลกภายในจิตใจ การออกไปเห็น ไปพบเจอความเป็นไปของโลกกว้างแล้วกลับมาสัมผัสรับรู้ความรู้สึก อารมณ์ที่เกิดขึ้นในขณะที่ต้องเผชิญกับสิ่งต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา ทำให้โลกไม่ได้มีแค่ความคิดแต่กลับเต็มไปด้วยอารมณ์ ความรู้สึก เรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในชีวิต

ทางตันที่เผชิญอยู่ไม่ได้ทึบตันตลอดไป มีทางทอดยาวต่อให้เดินต่อไปได้ กำแพงแห่งความไม่รู้ที่บีบคั้นให้อึดอัดใจทลายลง ด้วยการยอมรับว่าตนไม่รู้ และเดินทางออกไปสัมผัส สัมพันธ์ เรียนรู้กับชีวิตและโลก ซึ่งสามารถเรียนรู้ได้อย่างไม่มีวันจบสิ้น ถ้าเราไม่มัวหลงติดกับดักทางความคิดของตัวเองว่า เรารู้ เรามีความสามารถ ดี และเก่งกว่าใครๆ เราก็คงจะมีทางออกให้กับตัวเองเสมอเมื่อต้องพบเจอทางตัน บางทีอาจเป็นตัวเราเองที่ก่อกำแพงสร้างทางตันล้อมตัวเองไว้ก็เป็นได้

บทความนี้จบลง ขณะออกไปนั่งดูสายฝนโปรยปรายที่ระเบียงบ้าน ระหว่างที่เสียงกระดิ่งลมดังกังวาน ต้นไม้เอนไหวขับขาน ไม่หลงเหลือความกดดันและความไม่รู้ว่าจะเขียนเรื่องอะไรจากเมื่อสิบวันก่อนหน้านี้เลย

ความคาดหวังสอนให้เรารู้จักการปล่อยวาง ทางตันทำให้มองหาความเป็นไปได้ของทางออกมากมายที่มีอยู่ ความไม่รู้ทำให้ได้กลับมาเรียนรู้อีกครั้ง

แม้ตอนเริ่มต้นเขียนบทความนี้จะเต็มไปด้วยความอึดอัดใจ แต่เมื่อเขียนมาจนถึงประโยคนี้กลับมีแต่ความอิ่มเอมใจ อย่างน้อยก็ได้บอกเล่าความเป็นไปของตัวเองด้วยความจริงใจ



โดย ปาริชาด สุวรรณบุบผา
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๕๒


ก่อนอ่านข้อเขียนนี้ ถ้าท่านไม่ศรัทธาว่ามนุษย์สามารถพัฒนาและเปลี่ยนแปลงได้ท่านจะอ่านงานนี้ด้วยความตะขิดตะขวงใจ

ขณะเดียวกัน ถ้าท่านได้มีข้อตัดสินไว้แล้วว่า ความเคลื่อนไหวและวิกฤตการณ์ความไม่สงบที่ผ่านมา เป็นความผิดของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่เพียงฝ่ายเดียว ท่านอาจกำลังจะตัดสินต่อไปว่า ผู้เขียนบทความนี้เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เสื้อเหลือง หรือ เสื้อแดง เสื้อน้ำเงิน หรือฝ่ายรัฐบาล

ต่อไป ถ้าท่านไม่ชื่นชม วิธีการ “ฟัง” เพื่อเข้าใจความเป็นมนุษย์ของกันและกัน ท่านอาจตั้งคำถามสงสัยวิธีการของนักสันติวิธี ว่าใช้กับสถานการณ์ปัจจุบันได้จริงหรือไม่

การอารัมภบทข้างต้นเหล่านี้ มิได้มีความปรารถนาจะเล่นสำนวนภาษาแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะได้ตระหนักถึงสถานการณ์และสภาวะจิตของคนทั้งหลายหลังเหตุการณ์ “สงกรานต์แห่งความเสียใจ” ไม่ว่าผู้ใดจะแสดงความคิดเห็นในทางใดก็จะถูกวิจารณ์ในทางลบจากฝ่ายที่ไม่ได้คิดอย่างเดียวกันทั้งสิ้น

ในความเป็นจริง เหตุการณ์ความไม่สงบที่ผ่านมาไม่มากก็น้อยเป็นความไม่สงบ ที่ “เขาว่า” ยังดำเนินอยู่ “ใต้ดิน” นั้น ได้ให้บทเรียนและย้ำเตือนความเข้าใจเกี่ยวกับความรุนแรงประเภทต่างๆ กล่าวคือ คงไม่มีผู้ใดปฏิเสธว่า ความขัดแย้งและแนวคิดทางการเมืองที่ต่างกันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ตามระบอบประชาธิปไตย หลายกรณีของความขัดแย้งที่แปรเปลี่ยนเป็นความรุนแรงนั้น มีสาเหตุจากความรู้สึก “ไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือความอยุติธรรม” กรณีความขัดแย้งของพี่น้องชาวเสื้อแดงก็เช่นกัน ส่วนหนึ่งเกิดจากความรู้สึกไม่พอใจ “การปฏิบัติสองมาตรฐาน” ตามเหตุผลและสถานการณ์ที่เราท่านได้ยินตลอดระยะเวลานี้ ประเด็นของการเรียนรู้คือ ความรู้สึกไม่ได้รับความยุติธรรม อาจก่อให้เกิดความไม่ไว้วางใจกัน อคติ ความเห็นแก่ตัว และความรุนแรง ตลอดจนถึงการแก้แค้นติดตามมาได้ นั่นคือความรุนแรงชนิดหนึ่งที่หลายคนมักมองข้าม ได้แก่ ความรุนแรงที่ต้องการปลดปล่อยความทุกข์จากการถูกเอาเปรียบ (Liberative Violence)

ความรุนแรงชนิดนี้ เรามักพบเห็นได้ในองค์กร ในที่ทำงาน ในครอบครัว ถ้ามีคนใดคนหนึ่งในที่ที่นั้น “มีความรู้สึก” ว่าตัวเองถูกเลือกปฎิบัติ ถูกเอาเปรียบ ถูกกดขี่ ถูกทำร้ายบางครั้งทางกาย ในหลายๆ ครั้ง ทั้งทางกายและทางใจ ติดต่อสืบเนื่องจนทนไม่ได้อีกต่อไป ความรุนแรงซึ่งตนเองอาจไม่ได้เป็นต้นเหตุโดยตรง แต่เป็น “เหยื่อ” ของสถานการณ์นั้นๆ เหยื่อนั้นเองก็สามารถตอบโต้ทำความรุนแรงขึ้นได้ เนื่องจากความไม่ไว้วางใจ อคติ และความโกรธ ได้ก่อตัวขึ้นเป็นลำดับ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเช่นกรณีเด็กในสถานพินิจผู้อ่อนแอกว่าจะไม่ทนอีกต่อไป เมื่อถูกรุมทำร้ายจากเด็ก “ขาใหญ่” ลุกฮือขึ้นมารวมพวกกันต่อสู้กับกลุ่มที่มีอำนาจมากกว่า

ในกรณีความขัดแย้งเสื้อแดง และเสื้อเหลืองก็เช่นกัน ทำอย่างไรที่จะไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง รู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม ควรเป็นคำถามที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันคิด

แต่เมื่อความรุนแรงได้ปรากฏขึ้นแล้ว ต่างฝ่ายก็จะมีเหตุผลสนับสนุนว่าฝ่ายตรงกันข้ามได้ใช้ความรุนแรง ทั้งฝ่ายเสื้อแดง และฝ่ายรัฐบาลโดยผ่านการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทหาร บทความนี้ไม่ได้มีหน้าที่จะชี้ หรือตัดสินความถูกผิดของฝ่ายใด แต่อยากนำเสนอ อารมณ์ความรู้สึกโดยเฉพาะที่สืบเนื่องมาจากความรู้สึก “ไม่ได้รับความยุติธรรม” ที่อาจได้รับการมองอย่าง “ผู้ผิด” ในสายตาของคนทั่วไป

อย่างไรก็ตามอยากให้สังคมได้ตระหนักถึงความจริงประการหนึ่งของสันติวัฒนธรรม (Culture of Peace) ที่ว่าในการชุมนุมเรียกร้องแต่ละครั้ง ถึงแม้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้กระทำผิด ทุกฝ่ายรับไม่ได้กับความรุนแรงที่เกิดขึ้น ไม่ว่าเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดง ทุกฝ่ายสามารถตำหนิ ความชั่วร้าย ความรุนแรง ที่เกิดขึ้น แต่อย่าลืมว่าเราต้องคำนึงถึง “ความเป็นมนุษย์” ของเขาเหล่านั้น ที่ไม่มีผู้ใดสมบูรณ์แบบในตัว แต่ท่ามกลางความไม่สมบูรณ์แบบนั้นก็ยังคงมีความดี มีความปราถนาดี ความตั้งใจดีปะปนอยู่ในความคิดของกลุ่มคนเหล่านั้นได้

กล่าวคือ กลุ่มคนที่ร่วมชุมนุมทั้งในเสื้อเหลืองและเสื้อแดง และฝ่ายรัฐบาลมองในภาพรวมอาจมีจุดหมายเดียวกัน คือทำเพื่อประเทศชาติ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น แต่ในกลุ่มผู้ชุมนุมสีเดียวกันนั่นเอง ก็อาจมีเหตุผล หรือจุดหมายหรืออุดมการณ์และวิธีปฎิบัติต่างกันด้วย นั่นคือ การไม่ตัดสินการกระทำทั้งของกลุ่มผู้ชุมนุมทั้งหมดแบบ “เหมารวม” พร้อมๆ กับ ไม่ตัดสินกฎกติกาและการกระทำของฝ่ายรัฐบาล แบบ “เหมารวม” ทั้งหมดว่า “ปฏิบัติสองมาตรฐาน” แต่พร้อมที่จะแยกส่วนดี ส่วนร้าย และสถานการณ์ บริบท และเหตุผลให้สอดคล้องกับความเป็นจริง การไม่เหมารวมเท่ากับมิได้ผลักให้ “ผู้บริสุทธิ์” บางคน บางกลุ่มที่รวมในกลุ่มใหญ่นั้น ให้กลายเป็นเหยื่อที่ได้รับความกดดัน และพร้อมที่จะระเบิดความรุนแรงออกมาอีกครั้งหนึ่ง

ที่กล่าวทั้งหมดนี้ นำไปสู่คำถามที่ว่า ทำอย่างไรให้ข้อสงสัยความไม่ไว้วางใจได้รับการอธิบายให้กระจ่างแจ้ง ในทุกกรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง กำลังสงสัยอยู่ “การทำความจริงให้ปรากฏ” เป็นอีกองค์ประกอบของการนำสันติวัฒนธรรมมาปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริงในสถานการณ์ปัจจุบัน

นอกจากนั้น การสื่อสารโดยผ่านการฟังด้วยใจ ที่พร้อมจะเรียนรู้ถึงสาเหตุ เงื่อนไข ปัจจัย และความต้องการอย่างแท้จริงของทุกฝ่าย ก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่การป้องกันและการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ความรู้สึกที่ตัดสินไว้ก่อนว่า “ช้าเกินไปแล้วที่จะพุดคุยกัน” หรือ “ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพูด และฟังกับผู้กระทำความรุนแรง” หรือ แม้แต่คำพุดที่ได้ยินว่า “เปล่าประโยชน์ ที่จะพูดคุยกับกลุ่มบุคคลที่มีการกระทำคล้ายโจร” เหล่านี้เป็นท่าทีที่ไม่สร้างสรรค์ที่จะก่อให้เกิดการกลับคืนมาแก้ปัญหาร่วมกัน

ถึงแม้ว่าคำว่า “สมานฉันท์” “การประนีประนอม” และ “สันติวิธี” อาจแสลงหู หรือ “จึ๊ก”ในใจของใครหลายๆ คน แต่ด้วยความเชื่อมั่นในการพัฒนาของมนุษย์และการเปลี่ยนแปลงที่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ในหัวใจของผู้คนจึงจำเป็นต้องคิดต่อไปถึงคำว่า “ให้อภัย”

เช่นกัน การเรียกร้องให้อภัยซึ่งกันและกัน ดูเหมือนเป็นคำที่ขบขัน และดูว่าเป็นไปไม่ได้ ในสภาพความรุนแรงที่เพิ่งผ่านมา

มิใยที่จะรู้สึกขัดเขินที่จะเรียกร้องการให้อภัยทางการเมืองเท่านั้น สำหรับความขัดแย้งระหว่างบุคคล ก็ยากไม่น้อยที่จะหลุดปาก คำว่า ให้อภัยกันได้อย่างจริงใจ

ตามความเข้าใจ การให้อภัยก็มีพื้นฐานใกล้เคียงกับความพยายามที่ไม่ใช้ความรุนแรง กล่าวคือ การให้อภัยและสันติวิธี มิใช่เป็นเรื่องอุดมคติหรือความสมบูรณ์เลิศเลอของแต่ละบุคคล หากแต่เป็นกระบวนการที่เราสามารถสร้างให้เติบโต และฟูมฟักให้ค่อยๆ เกิดขึ้นในใจเราได้

อาจเริ่มจากการให้อภัยตัวเอง หรือกลุ่มของตัวเองให้ได้ก่อน นายแพทย์เอ็ดเวิร์ด เอ็ม ฮัลโลเวลส์ ได้กล่าวไว้ ในหนังสือ “กล้าให้อภัย” ที่แปลโดยคุณ วิรงรอง นิกูลกาญจน์ ว่า “การให้อภัยตนเองหมายถึงการที่คุณเลิกหวังว่าอดีตจะเปลี่ยนแปลงได้” เมื่อให้อภัยตนเองและกลุ่มของตนเองได้แล้ว ค่อยๆ คืบคลานไปเริ่มให้อภัยผู้อื่น ซึ่งหมายถึงเราต้องเลิกความไม่พอใจหรือความโกรธ และเราต้องไม่พยายามที่จะลืม หรือแก้ตัวให้กับคนใด หรือสิ่งใดที่เลวร้าย เราเพียงแต่ละทิ้งความโกรธและความไม่พอใจของตัวเราเอง (เท่านั้น)

ในท่ามกลางอารมณ์ ผิดหวัง เสียใจ ไม่สมประสงค์ของพี่น้องทั้งเสื้อแดง เสื้อเหลือง (บางครั้งของบางคน) ความรู้สึกยอมรับต่อเสียงเรียกร้องให้อภัยซึ่งกันและกันก็คงทำได้ แต่ถ้าได้เข้าใจคำศัพท์ “อภัย” คือ การให้สิ่งที่ไม่เป็นภัย สิ่งนั้นอาจเป็นความเข้าใจ การให้กำลังใจ ความเห็นใจ การให้อภัยก็จะเกิดขึ้นได้ทั้งๆ ที่ การให้อภัยอาจไม่ใช่การยกโทษให้ (ดังนั้นจึงต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างยุติธรรม) ความเข้าใจเหล่านี้อาจทำให้พวกเราผู้อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งได้เริ่มเดินเข้าสู่เส้นทางการให้อภัยได้บ้างไม่มากก็น้อย

ขอสติ ความสงบ และไม่ท้อแท้ใจกลับคืนมาสู่คนไทยที่รักทุกคน



โดย ธนัญธร เปรมใจชื่น
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๒


สามวันสุดท้ายของมีนาคมที่ผ่านมานี้ ฉันมีโอกาสได้พักผ่อนริมทะเลแถวสัตหีบกับเจ็ดสาวหนุ่มผู้แสวงหาวิถีแห่งการเติบโตทางจิตวิญญาณ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เรียนปริญญาโท สาขาจิตตปัญญาศึกษาฯ ม.มหิดลนั่นเอง แล้วก็มีคณะวิทยาศาสตร์จากสถาบันเดียวกันหนึ่งคน กับสาวสวยอีกคนที่เลือกจะยังไม่เรียนในระบบ แต่ออกแสวงหาครูทางจิตวิญญาณสลับกับการเรียนรู้และค้นหาด้วยตนเองแทน ล้วนเป็นเจ็ดคนที่เหมือนจะคล้ายแต่ก็แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง การใช้เวลากับทั้งเจ็ดคนนี้อย่างใกล้ชิดจึงเป็นช่วงเวลาที่พิเศษมากสำหรับตัวฉัน

มันน่าจะเริ่มตั้งแต่ตอนที่คนประสานงานโทรมาติดต่อด้วยน้ำเสียงที่เต็มไปด้วยความเกรงใจ ถ่อมตน และชื่นชมอยู่ไม่ขาดปาก ประมาณว่าพวกเขาจะร่วมกันทำค่ายพัฒนาด้านในให้น้องๆ เยาวชน แต่ด้วยความที่ยังไม่มีประสบการณ์บวกกับอยากเรียนจากฉันซึ่งทำกระบวนการเหล่านี้เป็นอาชีพและเชี่ยวชาญด้านเยาวชน จึงอยากเชิญให้ฉันมาเป็นพี่เลี้ยงอีกทอดหนึ่ง ไอ้คำว่า “มืออาชีพ” และ “ผู้เชี่ยวชาญ” นี่แหละที่ทำให้เดินสะดุด ก้าวไม่ข้ามเสียที นี่ขนาดพูดออกตัวทั้งกับคู่สนทนาและตัวเองก่อนด้วยนะว่าฉันไม่อยากถูกเรียกว่าผู้เชี่ยวชาญเลย เพราะพอได้ชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นเมื่อไร ดูเหมือนจะกลายเป็นคนที่เปิดรับสิ่งใหม่ๆ ในเรื่องเดียวกันได้ยากกว่าผู้อื่น เพราะมีบทสรุปการพิสูจน์แล้ว ดีแล้ว สุดยอดแล้ว ซึ่งหลอกตัวเองเปล่าๆ ในเมื่อมันไม่มีหรอก “ที่สุด” น่ะ เราคิดกันเอาเองทั้งนั้น หรือบางทีมันอาจเป็นที่สุดสำหรับเราจริงในวันนี้ แต่ก็มิได้หมายความว่ามันยังเป็นเช่นนั้นในวันพรุ่ง และในอีกหลายๆ วันในชีวิตของเรา

พอเจอกันวันแรกดูเหมือนการแต่งตัวรับลมทะเลด้วยสายเดี่ยวของฉันจะทำให้พวกเขาอึ้งไปเล็กน้อย ฉันเองก็รับรู้ถึงความตึงที่หน้าตัวเองขึ้นมาเช่นกัน อยู่ๆ ก็รู้สึกอายและคิดใคร่ครวญถึงความเหมาะสมของตน เพราะมันสบายจนไม่ได้คิดเรื่องภาพลักษณ์เลย แต่มันก็เป็นบทเรียนเล็กๆ ร่วมกันของเราหลังจากนั้น เพราะการสนทนาพาให้เรามาถึงเรื่องที่ว่า ความคิดความรู้สึกของเราที่มีต่อคนๆ หนึ่ง มันมีผลทำให้เขาคิดและรู้สึกต่อเราเช่นนั้นด้วย

การมาเที่ยวด้วยกันคราวนี้เป็นเหมือนการเตรียมความพร้อมของทีม และทีมที่พร้อมในความคิดเราก็น่าจะเป็นทีมที่รับรู้กันและกัน ไม่ได้มีกระบวนการอะไรมากนัก แต่การสนทนาแต่ละช่วงนั้นเข้มข้นเหลือเกิน

โดยเฉพาะในคืนสุดท้าย ฉันชวนพวกเขามานั่งล้อมวงนินทาเพื่อน ตามแบบที่เคยเข้าอบรมศิลปะบำบัดของครูยาค็อบ ชาวอิสราเอล คือ การนั่งล้อมวงเข้าหากัน ใครคนหนึ่งในวงจะอาสานั่งหันหลังให้วง ส่วนเพื่อนๆ ที่เหลือก็ทำเหมือนกับว่าเขาไม่ได้อยู่ตรงนี้ แล้วช่วยกันพูดถึงเขา ทั้งนี้ ก่อนเริ่มกิจกรรมเรานั่งสงบร่วมกัน ฉันช่วยนำพาให้หัวใจแต่ละดวงเปิดใจรับ ... ของขวัญแห่งมิตร ... ในขณะที่เราพร้อม แต่ละคนดูมีประกายของผู้เปิดรับอย่างเต็มเปี่ยม แต่สิ่งที่ยากคือ การรับคำชม มากกว่าการถูกตำหนิ เสนอแนะ ซึ่งเอาเข้าจริงก็แทบไม่มีใครพูดถึงเพื่อนในด้านไม่ดีเลย ถึงมีก็ดูสุภาพมากๆ สักพักก็เริ่มคม ชัดเจน ห่วง กังวล ไหลปะปนมาให้ได้รับฟัง

พอทุกคนได้หมุนวนสลับกันเป็นคนนั่งหันหลังจนเสร็จครบ รวมทั้งฉันด้วยแล้ว ฉันจึงลองแย้มถามว่าเป็นอย่างไรบ้าง หลายคนรู้สึกว่าได้รับของขวัญจริงๆ บ้างรู้สึกค้าน บ้างเริ่มตัดพ้อ จริงๆ มันก็เป็นธรรมดามาก ที่เราจะรับกับตัวเองได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ในด้านต่างจากที่เคยเชื่อและมีข้อสรุปต่อตัวเองมา น้องคนหนึ่งบอกกับวงว่า เขาปฏิบัติมาเยอะมาก นานมาก อาจมากกว่าเพื่อนหลายคนในนี้ จนเชื่อว่าตนงดงามแล้ว แต่เมื่อได้ฟังจากเพื่อนที่มองมาที่ตนเองแล้ว ทำให้บอกกับตัวเองว่ายังไม่พอ ฉันเลยบอกกับน้องสาวคนนี้ว่า สำหรับการฝึกตนอาจจะไม่มีคำว่า “พอ” ดูอย่างนักบวชสิ แม้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบแล้ว บางท่านเพียงห่างหายการบำเพ็ญไปบ้างก็อาจทำให้พลั้งพลาดไปก็มี และเรื่องเชิงจิตวิญญาณนี่ เราอาจต้องเอาความคิดแบบปริมาณโยนค้างไว้ก่อนก็เป็นได้ มันอาจไม่สามารถชี้ชัดได้ว่า สิบปี สิบห้าปี ยี่สิบปี จะมีคำตอบที่ใช่สำหรับทุกสิ่ง

บางอย่างทำให้ฉันนึกย้อนถึงครั้งหนึ่งที่จิตสัมผัสถึงความแจ่มกระจ่าง จนรู้สึกอิ่มเอมอย่างลึกซึ้งแล้วทึกทักเองว่า ตนก้าวสู่จิตตื่นรู้แล้ว แต่หลังจากนั้นไม่นาน ฉันก็พูดถึงมันซ้ำแล้วซ้ำเล่า ราวกับนักรบที่หลงภาคภูมิกับวีรกรรมในครั้งหนึ่งของชีวิต เหมือนจิตที่ค้างอยู่ในความสำเร็จเดียว แล้วหยุดการเติบโตไม่รับรู้และเปิดรับอื่นใดอีก เพราะความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ที่เคยเอื้อมถึงนั้นเป็นแต่เพียงการมีตัวตนต่อโลกเหมือนตัวละครที่ไฟส่องฉาย เป็นเสียงของการยอมรับ เป็นศรัทธาอันดีงามที่มีต่อตนเอง ซึ่งมันไม่นิรันดร์

และสำหรับบางคน การถูกพูดถึงในแง่มุมที่ต่างจากภาพลักษณ์ที่ตนวาดไว้ อาจเปราะบางมาก และไม่ควรมีใครตำหนิเขาด้วย ประสบการณ์ต่อโลกของเราต่างกัน ผลกระทบ ภาพสะท้อน การตอบสนองก็ต่างกัน แม้ว่ามันอาจทำให้ใครบางคนลุกขึ้นมาปกป้องตนเอง แก้ต่างหรือแม้แต่สาดสิ่งที่ตนได้รับนั้นใส่ผู้คนอย่างกราดเกรี้ยว ชิงชัง ก็ตามที

ตอนที่แต่ละคนได้รับคำชื่นชม ฉันรู้สึกเหมือนความงดงาม ดีงามของพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งในเนื้อตัวฉันที่ถูกชี้ให้เป็นไปด้วย และก็พบว่าฉันยังต้องหมั่นดูแล ใคร่ครวญกับหลายๆ เรื่องของฉัน ที่พวกเขาพูดถึงผ่านตัวตนของเพื่อนของพวกเขาที่หันหลังให้เราแต่ละคน

จริงๆ แล้วสามวันมันน้อยมาก ใครก็พูดแบบนั้น สามสี่วันที่ชีวิตฉันถูกจับจัดเป็นช่วงๆ นั้น มันเจ๋งเป้งไปเลย และสามวันกับสาวหนุ่มกลุ่มนี้ก็เยี่ยมมากจริงๆ ... ขอบคุณนะ



โดย พูลฉวี เรืองวิชาธร
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๕๒

กลางกุมภาพันธ์ที่ผ่านมามีโอกาสได้แบกเป้ เดินเท้า เข้าป่าที่บ้านสบลาน มหาวิทยาลัยชีวิตของชาวปกากะญอ โดยมีเพื่อนร่วมทางรวมสามสิบชีวิตพอดี มีทั้งที่เคยและไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ผู้เขียนเริ่มต้นการเดินทางด้วยการตั้งจิตอธิษฐานว่า “ตลอดการเดินทางหกวันข้างหน้านี้จะทดลองเรียนรู้การใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติป่าเขาไร้ซึ่งสิ่งอำนวยความสะดวกใดๆ ที่เราคุ้นเคย ด้วยการเฝ้ามองสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอกอย่างเนิบช้ามีสติตื่นรู้ และใคร่ครวญต่อสิ่งที่เกิดขึ้นภายในตามที่มันเป็น

ขณะที่รถสองแถวจากเชียงใหม่พาเรามุ่งหน้าตรงดิ่งไปอำเภอสะเมิงนั้น ไอร้อนของแดดยามเที่ยงพัดผ่านปะทะกับใบหน้า เนื้อตัวเป็นวูบๆ เหงื่อเริ่มซึมตามเนื้อตัว (อากาศช่วงนี้กลางวันร้อนจัดแต่กลางคืนกลับยังคงหนาวเหน็บ) รู้สึกไม่สบายเนื้อสบายตัวเท่าใดนัก โดยปรกติหากเลือกได้เราก็มักเลือกนั่งรถปรับอากาศซึ่งสะดวกสบายกว่ารถสองแถว เหมือนกับชีวิตคนทั่วไปซึ่งมักจะเลือกในสิ่งที่เราอยากได้ อยากมี อยากเป็นไว้ก่อน หากเลือกไม่ได้เราก็ต้องฝืนยอม แต่ในชุมชนแถบนี้แทบไม่มีสิทธิ์ที่จะได้เลือกในสิ่งที่เขาต้องการเท่าใดนัก อย่างน้อยบนดอยนี้ก็ไม่มีรถปรับอากาศไว้ให้บริการเลย อากาศร้อนภายนอกน่ะไม่เท่าไหร่ แต่ใจที่กำลังร้อนรนนี่สิสำคัญกว่า ในฐานะทีมผู้จัดจึงเริ่มกังวลว่าเพื่อนๆ ร่วมเดินทางจะเป็นอย่างไรบ้างนะ ถนนหนทางจากตัวอำเภอสะเมิงขึ้นดอยสบลานเริ่มทำให้รถโขยกเขยก ฝุ่นแดงฟุ้งกระจายเข้ามาในรถ หลายคนเริ่มนำผ้าเช็ดหน้ามาปิดปากและจมูกกันฝุ่น กว่าจะถึงหมู่บ้านสบลานพวกเราก็เปลี่ยนเป็นคนไทยหัวแดงไปตามๆ กัน

วิถีชีวิตที่ไม่คุ้นเคยเริ่มต้นแล้ว เรามาถึงหมู่บ้านตอนบ่ายแก่ๆ ชาวบ้านออกมารอต้อนรับพาเราเข้าพักที่บ้าน เราแยกย้ายกันพักบ้านละสามคน หมู่บ้านนี้มีเพียงยี่สิบหลังคาเรือนประชากรรวมทั้งหมดประมาณเกือบร้อยคน ลักษณะของบ้านที่นี่จะโปร่งโล่งอากาศถ่ายเทสะดวก ส่วนใหญ่ไม่มีห้องหับอย่างมากก็มีเพียงฟากไม้ไผ่ (ไม้ไผ่ที่ตีแตกออกเป็นแผ่น) ที่ใช้ทำเป็นผนังกั้นห้อง ไม่มีเตียงนอนมีแต่เสื่อ ส่วนไฟฟ้าหรือเครื่องอำนวยความสะดวกทั้งหลายคงไม่ต้องพูดถึง บางบ้านมีห้องส้วมแต่บางบ้านเจ้าของบ้านบอกกับเราว่า ส้วมมีอยู่ทุกที่ เพื่อนๆ หลายคนมองหน้ากันกึ่งถามในใจว่าเป็นอย่างไรกันบ้างพอไหวไหม??? พวกเราอาบน้ำกันที่ลำธารซึ่งเดินไปเพียงสิบนาทีจากหมู่บ้าน น้ำในลำธารนอกจากจะช่วยชำระร่างกายให้สะอาดแล้วยังช่วยให้ใจที่เหนื่อยล้าจากความวุ่นวายในเมืองได้กลับมารู้สึกชุ่มชื่นหัวใจอย่างบอกไม่ถูก ถึงแม้ที่นี่จะไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายเหมือนในเมืองก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตลำบากจนเกินไปนัก แต่กลับทำให้ได้สัมผัสถึงธรรมชาติงดงามที่ห่างหายจากเรามานาน

แสงเทียนแห่งค่ำคืนแรกในหมู่บ้านนั้นช่างเป็นบรรยากาศที่อบอวลไปด้วยความอบอุ่น ความจริงใจและมิตรภาพของชาวปกากะญอซึ่งหาได้ยากยิ่งในสังคมปัจจุบัน เราได้รับรู้รับฟังเรื่องราวชีวิตที่อ่อนน้อมถ่อมตนและเชื่อมโยงกับธรรมชาติสรรพสิ่งของชาวปกากะญอตั้งแต่เกิดจนตาย จากเรื่องเล่าที่เร้าพลังด้วยสรรพสำเนียงภาษาไทยปนภาษาพื้นถิ่นของพะตี่ตะแยะปราชญ์ชาวปกากะญอ (พะตี่ แปลว่าลุง) สลับเสียงด้วยปกากะญอท่านอื่นๆ และคำถามจากผู้ที่มาเยี่ยมเยือนด้วยความสุขสนุกสนาน

มีช่วงหนึ่งที่ประทับใจผู้เขียนมาก พะตี่บอกว่า “ดวงดาวที่นี่อยู่บนท้องฟ้าเต็มไปหมด แต่ดาวที่กรุงเทพฯ อยู่บนพื้นดิน” ฟังแล้วเริ่มงงว่าเกิดอะไรขึ้น พะตี่เล่าต่อว่า “ครั้งแรกที่ได้มีโอกาสไปกรุงเทพฯ คนที่พาไปก็ใจดีพาขี่เครื่องบินไป พอถึงกรุงเทพฯ เครื่องบินกำลังจะร่อนลง มองลงไปพื้นดินเห็นดาวระยิบระยับเต็มไปหมด พะตี่ก็ตกใจว่าทำไมดาวที่กรุงเทพฯ ไม่เหมือนกับดาวที่บนดอยบ้านเฮา” จริงสินะเราไม่ค่อยได้สังเกตเท่าไรนักว่าดวงไฟมากมายในเมืองมองไปก็คล้ายกับดวงดาวบนท้องฟ้าระยิบระยับเต็มไปหมด จะต่างกันก็เพียงแต่ดวงดาวบนท้องฟ้านั้นธรรมชาติสรรค์สร้างมาให้มีความงดงามเปล่งประกายทุกค่ำคืน อีกทั้งเป็นประโยชน์มากมายต่อสรรพชีวิตในจักรวาลนี้ แต่ดวงไฟในเมืองนั้นสิเป็นสิ่งที่มนุษย์สรรค์สร้างขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้มนุษย์เท่านั้น และกว่าจะได้ดวงไฟเหล่านั้นมาส่องสว่างก็ไม่รู้ว่าต้องทำลายสรรพชีวิตและธรรมชาติมากมายไปเท่าไร ยิ่งได้รับฟังเรื่องราวก็ยิ่งทำให้รู้สึกเคารพนับถือวิถีชีวิตที่เรียบง่าย อ่อนน้อมถ่อมตน เป็นมิตรและเคารพต่อธรรมชาติและสรรพสิ่งของคนบนดอย ถึงแม้เขาจะไม่มีวัตถุทรัพย์สินสิ่งอำนวยความสะดวกภายนอกมากมาย แต่เขาก็แสดงให้เราเห็นถึงความสุขแท้ที่เกิดจากความมั่นคงภายในเป็นความสุขที่เกิดขึ้นจากความรู้สึกพอใจกับสิ่งที่มีที่เป็น เราสัมผัสรับรู้ได้จากแววตาและน้ำเสียงที่บอกเล่าให้เราฟัง

เช้าวันที่สองพอเราเดินเท้ามุ่งเข้าป่า ความสามารถในการสังเกตรายละเอียดรอบตัวก็เริ่มเพิ่มมากขึ้น เดินผ่านผืนนาขั้นบันไดของชาวบ้านก็รู้สึกได้ถึงความงดงาม หากเป็นฤดูที่ข้าวออกรวงคงเหลืองอร่ามไปทั้งผืน กองขี้วัวสดๆ บนผืนนาที่ถูกเหยียบเป็นรอย คงเป็นรอยเท้าของเพื่อนที่เดินนำหน้าไม่ทันระวัง นี่ก็เป็นเรื่องธรรมดาของคนเมืองที่ไม่ค่อยจะสังเกตสังกาสิ่งรอบกายเท่าใดนัก อาจจะมีผลมาจากการใช้ชีวิตที่รีบเร่งแข่งกับเวลาหรือบางครั้งแข่งกับอะไรก็มิอาจรู้ได้ เราก็ทำจนเป็นความคุ้นชินไปแล้วกระมัง ผู้เขียนเองสังเกตเห็นว่าชีวิตที่ผ่านมาในแต่ละวันที่เดินออกจากบ้านนั้นแทบจะไม่ได้ใส่ใจมองสองข้างทางหรือสิ่งต่างๆ รอบๆ กายที่ผ่านไปเลย ใจเราจดจ่ออยู่กับที่หมายว่าเราจะไปให้ถึงโดยเร็วที่สุดได้อย่างไร นี่เป็นเรื่องน่าเศร้าอีกเรื่องหนึ่งสำหรับชีวิตคนในเมือง ที่เราแทบไม่เคยได้ดื่มด่ำกับความงามตามธรรมชาติสองข้างทางที่เราเดินผ่านซึ่งยังคงมีอยู่ถึงแม้จะเหลืออยู่น้อยนิดก็ตามที

ลำน้ำแม่ขานไหลคู่ขนานตลอดเส้นทางที่เราเดิน เสียงน้ำแรงบ้าง เบาบางตามจังหวะเกาะแก่งที่น้ำไหลผ่าน บางช่วงก็ไหลเอื่อยๆ เนิบช้า หากชีวิตเราเป็นอย่างลำน้ำได้บ้างก็จะดีสินะ มีสติรู้ตัวอยู่เสมอ รู้จักแรงบ้าง เบาบ้างตามจังหวะที่ควรจะเป็น เมื่อมองย้อนกลับไปทบทวนชีวิตตัวเองที่วิ่งวุ่นทำโน่นทำนี่แข่งกับเวลา แข่งกับงานที่ผ่านเข้ามาในชีวิต แสดงออกด้วยพฤติกรรมต่างๆ ที่กดดันทั้งตัวเองและคนรอบข้างอยู่เสมอทั้งที่รู้ตัวบ้างไม่รู้ตัวบ้าง หรือบางครั้งไม่มีอะไรจะต้องแข่งแต่ก็ยังลืมที่จะใช้ชีวิตเนิบช้าหรือลืมผ่อนคลายความตึงเครียดลงบ้าง

สิ่งแรกที่เห็นพะตี่ตะแยะทำเมื่อเราเดินถึงแม่ขานบริเวณที่เราจะใช้เป็นสถานที่พักค้างในอีกสี่คืนข้างหน้าก็คือ การนำอาหารบางส่วนใส่ใบไม้นำไปวางไว้บริเวณโคนไม้ใหญ่และพนมมือไหว้หลับตาสวดมนต์ พะตี่บอกว่า “เราจะมาอาศัยป่าอยู่ ต้องขอเจ้าป่าเจ้าเขาก่อน สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายจะได้คุ้มครองให้พวกเราปลอดภัย” และทุกครั้งที่พะตี่หรือปกากะญอท่านอื่นๆ จะทำอะไรขณะที่ดำรงชีวิตอยู่ในป่า เช่น จะตัดกระบอกไม้ไผ่มาใส่น้ำดื่ม จะถากเปลือกไม้ที่เป็นยาสมุนไพรมาต้มให้พวกเรากิน ออกไปหาปลาในลำน้ำ ฯลฯ เขาจะยกมือขึ้นไหว้ด้วยความเคารพทุกครั้ง การกระทำเหล่านี้แหละที่ตอกย้ำให้รู้สึกและสัมผัสได้ถึงจิตใจที่นุ่มนวลอ่อนน้อมถ่อมตนเคารพต่อธรรมชาติและสรรพสิ่งรอบๆ กายของชาวปกากะญอ

ระหว่างการใช้ชีวิตในป่ามีช่วงเวลาหนึ่ง (สองคืนกับหนึ่งวันเต็มๆ) ที่ต่างคนต่างออกไปแสวงหาพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของตัวเองเพื่อที่จะอยู่คนเดียวพร้อมกับอดอาหาร ขณะที่ธรรมชาติรอบกายภายนอกสงบนิ่งแต่ในใจผู้เขียนกลับปั่นป่วนวุ่นวาย บางครั้งก็รู้สึกเบื่อ เซ็ง เหงา ไม่รู้ว่าจะทำอะไรดี แต่ก็ไม่มีอะไรจะดีไปกว่าเฝ้าดูการกระเพื่อมขึ้นลงของจิตใจ จึงเห็นจิตใจปั่นป่วนจนแทบบ้าคลั่ง ช่างเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานซะเหลือเกิน บางขณะก็สงสัยตัวเองอยู่เหมือนกันว่าลึกๆ แล้วเราเป็นคนขี้เหงาหรืออยู่กับตัวเองได้ยากใช่ไหม ซึ่งคงจะจริงและคงเป็นเพราะชีวิตที่ผ่านมาบ่อยครั้งพอมีเวลาว่างก็ต้องทำโน่นทำนี่จนรู้สึกว่ามีเรื่องที่ยุ่งๆ ตลอดเวลา บ่อยครั้งที่อยู่ท่ามกลางผู้คนที่ผ่านไปผ่านมามากมายในเมืองแต่ในใจกลับรู้สึกเหงาโดดเดี่ยวอย่างบอกไม่ถูก บางครั้งพอกลับถึงห้องพักสิ่งแรกที่ทำก็คือเปิดทีวีหรือเปิดเพลงใช้เสียงเป็นเพื่อนหรือคุยโทรศัพท์ ทนอยู่กับความเงียบคนเดียวนานๆ ไม่ได้จิตใจมันร้อนรน การได้มาทดลองเรียนรู้ที่จะอยู่กับตัวเองครั้งนี้ก็เป็นเครื่องตอกย้ำอีกครั้งว่าที่ผ่านมาเราฝึกฝนที่จะอยู่กับตัวเองน้อยเกินไป เพียงแค่สองคืนกับหนึ่งวันเรายังทุรนทุรายได้ถึงขนาดนี้

ก่อนออกจากป่ากลับสู่เมืองตั้งจิตอธิษฐานอีกครั้งว่า “เราจะเริ่มต้นเดินทางเรียนรู้ที่จะเฝ้ามองสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอก ฝึกฝนที่จะอยู่กับตัวเองอย่างแท้จริง ทดลองการใช้ชีวิตเนิบช้าท่ามกลางความเร่งรีบแข่งขันบนวิถีของคนเมือง การใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่เราคุ้นเคยอย่างมีสติตื่นรู้” ระหว่างทางเดินกลับออกจากป่าแต่ละย่างก้าวที่รู้ตัวก็ตอกย้ำกับตัวเองอีกครั้งว่า “เส้นทางข้างหน้าคงไม่ราบเรียบนัก เมื่อใดก็ตามที่ผิดพลาดพลั้งเผลอจะขอน้อมรับ และจะขอเริ่มต้นใหม่ทุกครั้งที่รู้ตัว”

หมายเหตุ : ประสบการณ์จากการเข้าร่วมเรียนรู้นิเวศภาวนา ระหว่างวันที่ ๑๗–๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ บ้านสบลาน อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ จัดโดย เสมสิกขาลัย

Newer Posts Older Posts Home