โดย สรยุทธ รัตนพจนารถ
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐
-----------------------------

“บ้าจัง ทำไมต้องให้แลกของขวัญอะไรอย่างนี้ด้วย”
“ของที่เรารักก็ต้องหมายถึงของที่เราทะนุถนอม หวงแหน ให้ตายเถอะ แล้วใครจะอยากเอามาให้คนอื่น ของบางอย่างที่เรารักมันอาจไม่มีค่า ดูไร้ประโยชน์ถ้าคนอื่นได้ไป ของรักของเราอาจเป็นขยะสำหรับเค้าก็ได้นี่”

นักศึกษาชายคนหนึ่งเขียนสะท้อนกิจกรรมที่เราทำ เขาพูดถึงหนังสือ “ไม่ธรรมดา” ของอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ หนังสือเล่มโปรดของเขา สภาพเงาวับใหม่เอี่ยม ปกหลังในมีลายเซ็นอันงดงามของผู้เขียน ที่เขาอุตส่าห์ไปต่อแถวยาวเหยียดในงานสัปดาห์หนังสือกว่าจะได้มา

เขาเล่าว่าก่อนมาเรียนได้ตื่นแต่เช้า บรรจงละเลียดตัวอักษรอันงามงดเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนจะห่อด้วยใจสุดแสนเสียดายที่ต้องยกให้คนอื่นเสียแล้ว โธ่ ... ของชิ้นโปรดของเรา ต้องถึงคราบ๋ายบายแล้วหรือ

แต่ไม่ใช่เขาคนเดียวนะครับ ที่ได้ประสบการณ์เช่นนี้ ปาร์ตี้ส่งท้ายปีเก่าของชั้นเรียนวิชาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปีนี้ เราอยากแลกของขวัญกัน ผมเลยเสนอไอเดียกิจกรรม “สละของรัก” ข้อตกลงของเราทั้งอาจารย์และศิษย์คือ พวกเราจะกลับไปค้นของในบ้านที่เราอาศัย หาของในเรือนใจ ที่จัดเป็น “ของรักของหวง” ที่สำคัญที่สุด (หรือเกือบที่สุด) มาแลกกัน โดยที่ผมอุบวิธีแลกกันเอาไว้ก่อน บอกแต่ว่านี่เป็นแบบฝึกหัดให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้น ยิ่งเขาเปิดใจ ยิ่งเขาจริงใจและจริงจังกับการเลือกเฟ้นเท่าไหร่ ผลของมันก็ยิ่งน่าสนใจมากเท่านั้น

พอถึงวันงาน แต่ละคนถือของที่ตนเตรียมมาด้วยท่าทีปะปนกันไป มีทั้งหน้าตางงๆ สงสัยว่าจะมาทำอะไร อย่างไรกัน และพวกแววตาละห้อย ชักไม่แน่ใจกับการตัดสินใจของตนเองว่าทุ่มทุนสร้างมากเกินไปหรือเปล่า

นักศึกษาหญิงคนหนึ่งเอาตุ๊กตาหมีน้อยที่ตัวเองพาเข้านอนด้วยกัน กอดฝันอยู่ทุกคืนมาแลก แม้เธอจะบอกว่ามันดู “เน่า” หรือ “เยิน” จนใกล้หมดสภาพ แต่ด้วยร่วมทุกข์ร่วมสุขมานาน จึงรู้สึกใกล้ใจเสียเหลือเกิน ตอนเช้าก็เอามาลูบแล้วลูบอีก คุณแม่เห็นเข้าถามว่าจะเอาไปไหน พอบอกว่าจะเอาไปแลกกับเพื่อน คุณแม่ถึงขนาดถามว่าจะกล้าตัดใจได้ลงหรือลูก ที่พูดอยู่นี่ก็ยังกอดไม่ปล่อยเลยนะ

พวกเราเดินแลกของกันแบบเชื่อมั่นในการจัดสรรของจักรวาล เชื่อในปัญญากายของเรา ไม่ต้องคิดคาดเดา หรือพยายามให้เป็นไปอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้ยินเสียงระฆัง พวกเราหยุดจับคู่แลกของสลับกับคนที่ยืนอยู่ใกล้ๆ พร้อมกับกล่าวชื่นชมความดีของอีกฝ่ายด้วยความจริงใจ ได้ฝึกสืบค้นและแบ่งปันด้านบวกของกันและกัน

รอบที่สองที่เราหยุดเดินและสลับแลกของกันอีกครั้ง พวกเราได้มีโอกาสกล่าวขอโทษ และให้อโหสิกรรมกับคู่ของเรา ได้เดินทางเข้าไปยังส่วนที่หลายๆ คนไม่ค่อยคุ้นเคย และยากจะเอ่ยเหลือเกิน

รอบสุดท้าย พวกเราแลกของที่เราถือในมือ พร้อมมอบพรปีใหม่ให้แก่กัน เป็นความปรารถนาดีที่สื่อสารด้วยทั้งวาจาและใจ

เรากลับมานั่งกันเป็นวงใหญ่ และแกะห่อเฉลยว่าใครได้ของรักจากใคร แต่ละคนต่างเล่าเรื่องราวความเป็นมาของสิ่งของอันเป็นที่รัก ผมเองแม้เคยทำกิจกรรมนี้มาแล้ว แต่ทุกๆ ครั้งก็มีสิ่งน่าทึ่ง น่าประทับใจเกิดขึ้นเสมอ ไม่ว่าจะเป็นความกล้าหาญของบางคนที่เลือกสละของรักอันมีตำแหน่งแห่งที่สำคัญในชีวิต ในใจของตน หรือความไว้วางใจกลุ่มจนเปิดเผยถึงชีวิตและการเดินทางที่ส่วนตัวมากๆ กับของรักของตน

รวมทั้งความ “บังเอิญ” ที่ดูเหมือนของนั้น “เลือก” คนที่จะรับ ไม่เพียงแต่คนให้มีโอกาสเลือกของเท่านั้น อย่างนักศึกษาหญิงนำตุ๊กตาหมีแสนรักมา เธอก็ได้ตุ๊กตาหมาที่เพื่อนรักของตนนอนด้วยทุกคืนไปกอดนอนแทน

หลังกิจกรรมหลายคนได้บันทึกเรื่องราวประสบการณ์การเดินทางด้านในของตนจากการละวางของรักสุดชีวิต อย่างเจ้าของหนังสือ “ไม่ธรรมดา” เล่าว่า “ด้วยความอยากให้กิจกรรมครั้งนี้ได้ประโยชน์กับเราจริงๆ ได้รู้จักการจากของที่เรารักบ้าง ... จึงไม่เอาของที่รักรองลงมา มาแทนของที่รักจริงๆ”

ไม่เพียงแต่พวกเขาได้สะท้อนถึงการเลือกสละของรัก แต่ยังได้เรียนรู้ถึงใจตนเองขณะที่แลกของกันว่า “เลือกของที่เรารักจริงๆ ได้ ก็พบกับความรู้สึกเสียดาย ต้องสู้กับความคิดข้ออ้างร้อยแปดที่จะไม่อยากเสียของที่รักไป”

สิ่งที่ผมคิดว่าสำคัญไม่แพ้สิ่งใด คือ การที่เขาได้เรียนรู้ว่าความคิดถึง ความห่วงหา ความรู้สึกเป็นจ้าวข้าวเจ้าของในสิ่งที่ดูว่ายิ่งใหญ่เสียจนปิ่มว่าจะขาดใจนั้น พอผ่านไปสักอาทิตย์สองอาทิตย์ความรู้สึกก็ซาๆไป เหมือนอาทิตย์ยามเที่ยง พอคล้อยยามบ่าย ย้ายเข้ายามอัสดง ย่อมอ่อนแรงลงตามลำดับ ฉันใดก็ฉันนั้น
“ความรู้สึกของวันนั้นที่ได้ ยังคงจำได้ดีว่ารู้สึกเสียดาย ... ตอนนั้นพยายามเอาข้ออ้างดีๆ มาปลอบใจ ... ถึงตอนที่เขียนอยู่นี้ไม่รู้สึกเสียดายแล้ว” นักศึกษาคนเดียวกันบันทึกไว้

นี่อาจเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่นักศึกษาประทับใจที่สุดในวิชานี้ก็ได้ ประสบการณ์การมีสติ ตั้งใจที่จะละวางของหวง ปลดบ่วงของรักที่รัดรึงเราไว้ รู้จักทิ้งสัมภาระที่เราเที่ยวแบกไปไหนต่อไหนบ้างเสียที แบบฝึกหัดง่ายๆ แค่นี้ แต่หากคนที่ทำตั้งใจ ก็จะได้เรียนรู้มหาศาล ทำบ่อยๆ ชีวิตยิ่งเบาสบายขึ้น มีความพร้อมในการสละของที่สำคัญหรือคิดว่าสำคัญต่อเรามากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย

สิ่งนี้ก็เหมือนกับการเรียนรู้สำคัญๆ ในชีวิตที่ใครทำใครได้ เหมือนอาหารที่ว่าอร่อยวิเศษเพียงใด นั่งพูด นั่งพิจารณาเท่าใด ก็รับรู้ได้ไม่เท่ากับการลงมือชิมด้วยตนเอง ไม่มีใครกินหรือเรียนแทนใครได้
ของแบบนี้ใครสละของหวงได้ก่อน ก็หมดห่วงได้ก่อนเช่นกันจริงๆ



โดย ชลลดา ทองทวี เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐
----------------------


เรื่องของชาร์ลี บราวน์ สนูปปี้ และเพื่อนๆ ในการ์ตูน Peanuts ของ Charles M. Schulz ซึ่งผู้เขียนชอบอ่านมาก มีตอนหนึ่งที่พูดถึงความหมายของความรัก โดยตัวการ์ตูนบางตัวนั่งอธิบายคำว่า ความรัก ด้วยนิยามต่างๆ เช่น รัก คือ ผ้าห่มเก่าๆ ที่เค้าติดและลากไปไหนมาไหนด้วยตลอด ซึ่งทำให้เราอ่านแล้วอมยิ้มไปด้วย
เราดูจะพยายามนิยามความรักกันมาทุกยุคทุกสมัย ในหลายรูปแบบ มีเพลงหลายเพลงบอกเล่าว่า รัก คืออะไร รักคือ คำๆ นี้.. รักคือความผูกพัน คือ ความจริงใจให้กัน..

ในวงสนทนากับนักศึกษากลุ่มหนึ่ง เด็กๆ ถามกันว่า ความรัก เปรียบเสมือนสมการที่ไม่ว่าจะให้กันอย่างไร ทั้งสองฝ่ายของสมการ จะต้องได้เท่ากันเสมอ หรือว่าความรักจะเปรียบเสมือนแก้วน้ำสองใบ ถ้าให้อีกฝ่ายไป อีกฝ่ายก็จะต้องมีน้อยลง จึงไม่อาจได้เท่ากันได้ทั้งสองฝ่าย แต่ว่าแต่ละคนเติมให้อีกคนเต็มได้ ถ้าต้องการ แม้ว่าจะต้องสูญเสียสิ่งที่ตนเองมีไปบ้าง

บางคนเลือกตอบว่า แก้วน้ำนั้นอาจไม่ได้มีแค่สองใบอย่างที่เราคิด คือมีแต่เขาและเรา แต่อาจจะมีอยู่อีกหลายแก้ว และเขาก็ต้องเติมเต็มความรักให้อีกหลายคนที่ไม่ใช่เรา ความรักจึงไม่ใช่การคำนวณการให้และรับให้เท่าเทียมกันระหว่างคนแค่สองคน แต่เป็นการยอมรับความรักจากคนๆ หนึ่ง ตามวาระของเขามากกว่า ไม่ว่ามันจะเป็นอย่างไร

หลายคนกลับตอบว่า ความรักยิ่งใหญ่เกินกว่าจะเก็บไว้ในแก้วน้ำหรือคำนวณเป็นตัวเลขในสมการได้ และความรักสามารถให้ได้ไม่มีวันหมด เราอาจรักคุณพ่อ คุณแม่ คนรัก และเพื่อนๆ พร้อมๆ กันได้ โดยไม่ต้องเลือกแบ่งให้แก่ใคร และไม่ต้องสูญเสียมันไปจากตัวเราเอง

ในการพูดคุยกับเพื่อนบางคนในอีกวงหนึ่ง เพื่อนคนหนึ่งอธิบายว่า ความเจ็บปวดที่เราได้รับจากความรักนั้น เป็นเพราะเรารักแบบมีเงื่อนไข ต้องการได้รับความรักของอีกฝ่ายตอบแทน ความรักไม่ได้ทำให้เราเจ็บปวด แต่เป็นความคาดหวังของเราต่างหาก ที่ทำให้รู้สึกเจ็บปวดเช่นนั้น

ดูเหมือนว่าเราจะพยายามปิดฉลากความรักด้วยคำอธิบายต่างๆ และบางครั้งทำให้คิดถึงคำพูดหนึ่งของนายยิ่ง ลูกชายของพี่ใหญ่ วิศิษฐ์ วังวิญญู ที่บอกว่า “เราไม่ควรฆ่าคำถามดีๆ ด้วย คำตอบห่วยๆ” ความรักที่เกิดขึ้นในใจของคนๆ หนึ่ง ไม่ใช่ความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้ทุกๆ วัน และคุณค่าของมัน การสัมผัสกับความอบอุ่นและพลังอันนั้น และเดินทางไปกับความรักนั้นไปเรื่อยๆ ด้วยใจที่เปิดกว้าง น่าจะมีความสำคัญ กว่าการพยายามทำความเข้าใจและนิยามความรักนั้น

มีคนถามว่า ถ้าวันหนึ่ง มีนางฟ้าใจดีองค์หนึ่งมอบจักรวาลให้เป็นของขวัญในมือของเรา ขณะที่ในใจของเราวันนั้น กำลังโกรธเพื่อนคนหนึ่งอยู่มาก ที่เขาทำอะไรโดยไม่คิดถึงความรู้สึกของเรา เราโกรธจนยากที่จะชื่นชมหรือรักเขาได้เหมือนวันอื่นๆ เมื่อเรามีจักรวาลอยู่ในมือเป็นของขวัญแบบนี้แล้ว เราจะทำอย่างไรกับเพื่อนคนนี้

เราจะหยิบเขาโยนออกไปหรือ ในกล่องของขวัญใบนี้มีทั้งสิ่งที่สวยงามถูกใจ และไม่ถูกใจ แต่ว่าก็ล้วนแต่เป็นของขวัญ และแม้ของขวัญที่เราไม่ชอบ คนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้โยนของขวัญทิ้งไป

ชีวิตของเราเป็นข่ายใยที่ไม่อาจแบ่งแยกออกจากจักรวาลและคนอื่นได้ ดังที่ท่านติช นัท ฮันห์ กล่าวไว้ ถึงการ “เป็นดั่งกันและกัน (Interbeing)” ของสรรพสิ่ง หากจักรวาลเป็นของขวัญในมือของเรา และเราก็เป็นหนึ่งในจักรวาลนั้น ความรักจะอยู่ในเนื้อในตัว โดยไม่ต้องตั้งคำถาม และไม่อาจพิจารณาวิเคราะห์มองดูด้วยสายตา สิ่งที่เราจะทำได้ คงมีแต่เพียงการดำรงอยู่ในความรัก ดังที่เป็น ในทุกสิ่งทุกอย่าง เท่านั้น

ก็คงจะเป็นทำนองเดียวกันกับเรื่องแก้วน้ำของความรัก ถ้าเรายังมองเห็นความรักของเขา และของเรา แบ่งเป็นแก้วน้ำสองแก้ว หรือหลายแก้ว และดูว่าใครจะเติมใครให้เต็ม เราอาจจะเหนื่อยล้าจากการชั่ง ตวง วัด นี้ได้ในเวลาไม่นานนัก แต่ถ้าความรักของเราและเขา รวมทั้งทุกๆ คน เป็นน้ำในแก้วใบใหญ่ใบเดียวด้วยกัน เราไม่ต้องเติมใครให้เต็ม ในแก้วน้ำใบเดียวกัน และเราไม่ต้องมอบความรัก เพราะไม่มีสิ่งที่ถูกรัก ซึ่งแยกออกไปจากตัวเรา

ความรักจึงอาจไม่ใช่ปัญหา “อะไรเอ่ย” ที่เล่นเกมยี่สิบคำถามแล้วจะได้คำตอบ ความรักอาจจะไม่ใช่ “ปัญหา” เลยก็ได้ แต่เป็นคำตอบในตัวเองเสมอ

สิ่งที่สำคัญคงไม่ใช่การพูดคุยโต้แย้งกันเรื่องความรัก ทั้งของเขาและของเรา แต่เป็นการมีความรักนั้นไว้ในหัวใจ มีทฤษฎีร้อยพันที่อาจจะอธิบายไอศกรีมก้อนหนึ่งได้ แต่ก็ยังไม่มีสิ่งใดเทียบเท่าการสัมผัสไอศกรีมนั้น ด้วยการตักมันเข้าไปในปาก และให้ละลายไปบนลิ้นของเราเอง เช่นเดียวกับความรัก ในเวลาที่เราสัมผัสกับมันด้วยหัวใจ

แม้แต่การพูดคุยถึงความรักอย่างสวยงาม เช่น การโอบกอด (embrace) ทุกสรรพสิ่งอย่างที่เป็น การมีความรักอย่างไม่มีเงื่อนไข (unconditional love) และการศิโรราบ (surrender) ก็ไม่มากมายและละเอียดลึกซึ้งพอเท่ากับการสัมผัสมันโดยปราศจากถ้อยคำ คำถาม คำตอบ และความคิด สักชั่วขณะหนึ่ง

ลองปล่อยให้ความรักมีวาระของมันเอง ที่ไม่ใช่วาระของเรา หรือวาระของเขาดูบ้าง และลองเข้าใจอะไรบางอย่างที่อธิบายให้คนอื่นฟังไม่ได้ และฟังคนอื่นอธิบายก็ไม่อาจเข้าใจได้ดูสักครั้ง

สุขสันต์วันแห่งความรัก ในทุกๆ วัน รวมทั้งตรุษจีนวันนี้ด้วยค่ะ..




โดย ธีระพล เต็มอุดม เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐

----------------------------

วันวาเลนไทน์หรือวันแห่งความรักใกล้เข้ามาทุกที นอกเหนือจากปฏิทินของเดือนกุมภาพันธ์และโฆษณาของห้างร้านตามสื่อต่างๆ แล้ว ยังมีสัญญาณเกริ่นนำเข้าสู่เทศกาลนี้ที่เราพบเห็นได้ง่ายและบ่อยขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ช็อคโกแลต บัตรอวยพร สิ่งของกระจุกกระจิกรูปหัวใจ และที่ขาดไม่ได้คือดอกกุหลาบ อันเป็นสัญญลักษณ์โดดเด่นที่สุดแห่งเทศกาลนี้

หากเห็นชายหนุ่มหญิงสาวสักคนกำลังถือช่อกุหลาบโดยเฉพาะอย่างยิ่งกุหลาบสีแดงในวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ เราแทบจะสิ้นสงสัยว่าเจ้าของดอกไม้ผู้นั้นคงเตรียมไปบอกรักใคร หรือไม่เช่นนั้นคงได้รับบอกรักจากใครสักคนมาแล้วเป็นแน่แท้

เรานึกทึกทักได้ทันทีถึงเพียงนั้น?

โอกาสที่จะทำนายทายผิดนั้นใช่ว่าจะไม่มี เจ้าของมือที่ถือช่อกุหลาบอาจเป็นพ่อค้าแม่ค้าขายดอกไม้ก็เป็นไปได้ หรือในอีกทาง ถ้าเห็นเขาถือช่อดอกไม้ชนิดอื่น เราก็จะไม่คาดเดาว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการบอกรักกระมัง

กุหลาบจึงมีความแตกต่างไปจากดอกไม้อื่น ทั้งที่ตัวของมันเองเป็นเพียงไม้ดอกอีกพันธุ์หนึ่ง มีกลีบมีสีสันเช่นกันกับบุปผานานาพันธุ์ทั่วไป สิ่งที่ทำให้ต่างออกไปเพราะมนุษย์เราได้ให้ “ความหมาย” กับดอกไม้นี้ไปแล้ว ความหมายว่ากุหลาบคือสื่อบ่งบอกถึงความรัก และเป็นรักระหว่างหนุ่มสาวเสียด้วย ดอกไม้ธรรมดาที่ไม่ธรรมดานี้จึงมีความหมายมากกว่าตัวของมันเอง

ในชีวิตประจำวันพวกเราล้วนได้ให้ความหมายกับสิ่งต่างๆ อยู่ตลอดเวลา รถยนต์ไม่ได้เป็นแค่พาหนะพาเราไปจุดหมายแต่เป็นเครื่องบ่งชี้ฐานะของผู้ครอบครอง เสื้อเหลืองเป็นสัญลักษณ์ถึงความจงรักภักดีและเทิดทูนบูชาต่อในหลวง บรรดาสิ่งของ สถานที่ บุคคลและทุกสิ่งมีความหมายต่อเรา เพราะมนุษย์เรานี้เองเป็นผู้ให้ความหมายนั้น

ในแวดวงวิชาการและวงการศึกษาใช้วิธีการให้ความหมายในลักษณะจำกัดให้ชัดขึ้นว่าเป็นการ “นิยาม” เพราะการนิยามมีประโยชน์ช่วยให้ได้ความชัดเจนในสิ่งที่ศึกษาค้นคว้า งานวิจัยทั้งหลายต้องนิยามให้คำหรือแนวคิดที่ใช้ไม่คลุมเครือ ให้การถกเถียงแลกเปลี่ยนอยู่บนเรื่องหรือประเด็นเดียวกัน สำหรับการเข้าใจปรากฏการณ์ต่างๆ บนโลก สามารถอธิบายถึงเหตุผลที่มา และสามารถประเมินค่าวัดผลของสิ่งต่างๆ ออกมาได้

ความรู้ของเราเกิดขึ้น พัฒนาและสั่งสมมาเป็นลำดับด้วยวิธีการนี้ เราสามารถใช้คำๆ เดียวนิยามให้หมายรวมถึงสิ่งมีชีวิตกลุ่มหนึ่งได้ เรานิยามคำว่าความสัมพันธ์ทางสังคมไว้หลายระดับ ตั้งแต่ระดับแนวคิดทฤษฎี ลงไปจนถึงนิยามเชิงปฏิบัติการสำหรับการวิจัยในขอบเขตพื้นที่และระยะเวลาหนึ่ง เมื่อพูดคำว่าเศรษฐกิจทุกคนมีความเข้าใจเบื้องต้นร่วมกัน

การนิยามยังทำให้เราสามารถแจกแจงส่วนประกอบของสิ่งของหรือเรื่องใดๆ ได้ นำไปสู่ความสามารถในการวัดผล การประเมินผล การตีมูลค่าของสิ่งนั้นได้ด้วย

แต่สำหรับสิ่งของหรือสถานที่บางอย่างที่จับต้องได้ชัดเจน เรากลับไม่สามารถประเมินค่าตีราคาออกมาได้ บางครั้งตัดใจขายออกไป เราถึงกับเสียดายในภายหลัง เพราะไม่ใช่ทุกอย่างที่เราจะพิจารณาตามปัจจัยส่วนประกอบของมันแล้วประเมินราคาออกมาสมดังใจเราได้

อาคารไม้ชั้นเดียวอายุ ๓๐ ปี ปลูกสร้างบนที่ดินขนาด ๔๐ ตารางวาอยู่ในซอยตัน อาจมีมูลค่าไม่ถึงล้านบาท แต่สำหรับเจ้าของผู้อาศัย ที่นี่คือบ้านอันเปี่ยมล้นด้วยความอบอุ่นและความทรงจำของครอบครัวจากรุ่นปู่สู่รุ่นหลานซึ่งประเมินค่าตีราคาไม่ได้

เพราะสิ่งนั้นมี “คุณค่า” สำหรับเรา เรื่องราวหรือสิ่งของที่เกี่ยวพันกับคุณค่ามักจะเป็นเรื่องที่เราไม่สามารถให้นิยามได้แน่นอนตายตัว เรารู้แต่ว่ามันมีความหมายต่อเรา จนไม่อาจหามาตรวัดมาระบุปริมาณหรือบอกลักษณะได้ อย่างเช่นความรัก

เราไม่เคยได้นิยามความรักให้กระจ่างออกมาเป็นตัวอักษร ไม่เคยมีการเรียนการสอนในชั้นเรียนการศึกษาภาคบังคับว่าความรักคืออะไร มีองค์ประกอบใดบ้าง อะไรคือคุณลักษณะเฉพาะ แบ่งออกได้เป็นกี่หมวดหมู่ และมีความสำคัญอย่างไร

ทว่าทุกคนเข้าใจ และยอมรับว่ามันมีอยู่จริง ทุกคนรู้จักความหมายของความรักโดยไม่ต้องนิยาม เพราะต่างรู้ซึ้งในใจดีว่าเป็นสิ่งที่มี “คุณค่า” กับเราแต่ละคน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราได้สัมผัสกับความรักโดยตรง เมื่อแม่โอบกอดเราอย่างอ่อนโยนทะนุถนอม เมื่อพ่อจับมือจูงเราเดินอย่างมั่นคงปลอดภัย เมื่อได้รับความปรารถนาดีและการเอาใจใส่จากคนอีกผู้หนึ่ง เราสิ้นสงสัยว่าความรักมีอยู่จริงหรือไม่

จิตใจของเรา ชีวิตด้านในหรือจิตวิญญาณของเราก็เฉกเช่นกัน เราตระหนักว่ามันมีอยู่และทรงคุณค่า
การเรียนรู้แบบจิตตปัญญาศึกษาอันว่าด้วยการเรียนเรื่องภายนอกตัว ศึกษาวิชาศาสตร์ต่างๆ ควบคู่กับการน้อมนำเข้ามาสู่ใจ การใคร่ครวญภายในตัวเอง จึงเป็นการเรียนรู้ที่เกี่ยวพันกับการให้ความหมายและการมีคุณค่าสำหรับคนแต่ละคน ไม่จำเป็นต้องพยายามสร้างนิยามสิ่งเหล่านี้ออกมาให้เป็นรูปธรรม เพื่อให้แจกแจงชี้วัดกำหนดประเมินได้

เพราะแหล่งความรู้สำคัญนั้นอยู่ในตัวและเกิดแต่ตัวผู้เรียนเมื่อเขาได้สัมผัสมีประสบการณ์ตรง เป็นความรู้ที่เป็นหนึ่งเดียวกับตัวเราและมีคุณค่ากับเราดังเช่นความรักมี หาไม่แล้วคงจะด้อยค่าและไร้ประโยชน์หากไม่มีความหมายต่อชีวิตและสิ้นคุณค่าต่อจิตใจคน




โดย มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐


---------------------------------



ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าในชีวิตมนุษย์ที่อยู่ร่วมกัน หลายครั้งจบลงได้ง่ายๆ แค่การ “คุยกันอย่างเปิดอก” ทำความเข้าใจและเห็นใจซึ่งกันและกัน แล้วก็จบ มีกรณีศึกษาให้เห็นมากมาย ตั้งแต่การขัดแย้งระหว่างคนสองคน ไปจนถึงการขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนที่มีขนาดใหญ่ หลักการจัดการดูเหมือนจะละม้ายกันไม่น้อย เพียงแต่เปิดข้อมูลข้อเท็จจริง (แท้ๆ) มาคุยกัน รับฟังกันอย่างลึกซึ้งแท้จริง และลดการใช้อารมณ์ส่วนเกินทั้งหลาย

คำถามอยู่ที่ว่า “แล้วทำไมคนจึงขัดแย้งกัน” บ้างก็อาจบอกว่าเพราะความเห็นไม่ตรงกัน เพราะมีกรอบคิดแนวคิดไม่เหมือนกัน เพราะไม่ชอบหน้ากัน เพราะผลประโยชน์ขัดกัน เพราะพอดีวันนั้นหงุดหงิดจากเรื่องอื่นมาอารมณ์ไม่ดี ฯลฯ ไม่ว่าจะเป็นการขัดแย้งที่เห็นได้ชัดหรือแฝงอยู่ก็ตาม ล้วนมีความไม่เหมือนกันของสองฝ่ายเป็นอย่างน้อย จึงได้ “ขัดกัน” บนความไม่เหมือนกัน ซึ่งแก้ได้ง่ายมากๆ ถ้าทั้งสองฝ่ายสามารถแลกเปลี่ยนและยอมรับความแตกต่างกันได้จริงๆ หรือที่คำฮิตคือ “หันหน้าเข้าหากัน”

บางครั้งเราก็นึกไม่ถึงว่าคนดีๆ ด้วยกันทั้งนั้น ก็ไม่เห็นมีผู้ร้ายที่ไหน แต่ทำไมจึงขัดแย้งกัน ไหนบอกว่าหันหน้าเข้าหากันคุยกันแล้วก็จบ ปัญหามีในหลายขั้นตอน เป็นต้นว่าตั้งแต่ไม่ยอมมาคุยกัน จะด้วยอารมณ์ที่ขุ่นมัวอยู่ หรือมาคุยกันแต่ยังพกความเชื่อเดิมของตนอย่างเต็มเปี่ยม ไม่ได้เปิดใจรับของใหม่ หรือแนวคิดของผู้อื่นอย่างแท้จริง หรือรับข้อมูลเข้ามาเหมือนกัน แต่ข้อมูลนั้นๆ ถูกแต่งแต้มสีสันจากตัวเราเข้าไปอีก หรือที่เราอาจเรียกว่า “คิดเกิน”

เราอาจพบว่าเรามักจะคิดเกินจากประสาทรับรู้ของเราอยู่บ่อยๆ บางท่านก็เรียกว่าปรุงแต่ง (สังขาร) แต่ภาษาเรากันเองง่ายๆ น่าจะเรียกว่าคิดเกินที่ปรากฏอยู่จริง ก็น่าจะพอถูไถได้ เห็นแค่นี้ แต่ตีความออกไปอีกมาก ซึ่งก็อาจเกิดจากข้อมูลเก่าๆ ที่เคยเห็นมา (และอาจเติมแต่งไปตั้งแต่ตอนที่เคยเห็น) หรือเกิดจากการแต่งแต้มสีสันให้ฉูดฉาดขึ้นด้วยจิตใจของเราเองตอนนี้ การแต่งเรื่องให้เปลี่ยนแปลงไปจากข้อมูลจริงนั้น อาจเกิดขึ้นได้หลายทาง ทั้งที่รู้ตัว หรือไม่รู้ตัวหรือที่เรียกว่าจิตใต้สำนึก

ส่วนที่รู้ตัวเห็นได้ไม่ยาก จำได้ก็หยุดเสีย แต่ส่วนที่เรามักไม่ทันคือส่วนที่เราไม่รู้ตัว ซึ่งอาจจำเป็นต้องกลับไปพิจารณาอีกทีหลังจากเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ไปแล้วอย่างใจเป็นกลาง เพื่อจะได้ค้นหาสิ่งครอบงำจิตใจ (กิเลส) ตัวที่ยังเหลืออยู่ในใจเรา บางคนอาจหมั่นไส้อิจฉาใครมานานแล้ว (ฐานโทสะ) ทำไมชีวิตฉันจึงไม่เป็นแบบเขา ฯลฯ ฝังลึกลงไปเรื่อยๆ จนไม่รู้ตัว พอมีเหตุการณ์อะไรมากระทบทำให้ใครคนนั้นดูไม่ดีหน่อย จิตใต้สำนึกอาจกระโจนใส่สีตีความให้โดยไม่ทันรู้ตัว ยิ่งใครสมองฉลาดๆ อาจหาข้อมูลสนับสนุนมากมายดูน่าเชื่อถือจากข้อมูลจริงที่มีอยู่นิดเดียวก็ได้ ตัวอย่างในสังคมก็มี เช่น กรณีที่ดารายอดนิยมมีข่าวฉาว นักการเมืองมือสะอาดมีเรื่องต้องสงสัย ลองแอบดูใจเรา ว่าแอบสะใจหรือเปล่าที่สีขาวมีแต้มดำ “โธ่ ที่แท้ก็ไม่ดีไปกว่าเรา” แล้วก็สบายใจไป อาจไม่สนใจด้วยซ้ำว่าสุดท้ายข้อเท็จจริงจะออกมาเป็นอย่างไร

บางคนก็ชอบคนนี้มาก อยากรู้จักสนิทสนมมากกว่านี้ (ฐานโลภะ) แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เสียที พอมีโอกาสก็เรียกร้องความสนใจกันโดยการก่อเรื่อง เหมือนเป็นการเรียกร้องความสนใจ สร้างพันธะผูกพันกันขึ้นมาได้มากกว่ารู้จักเพียงผิวเผินหรือไม่รู้จักกันเลย ดีกรีที่แรงๆ ก็มีให้เห็นได้ตามข่าวหนังสือพิมพ์จำพวกทำร้ายเพราะรัก เป็นต้น บางคนก็มองอะไรไม่เห็นมากนักนอกจากตัวเอง (ฐานโมหะ) อาจมีทิฐิมานะสูงหน่อย มักจะเห็นว่าอะไรใช่ไม่ใช่ ลึกๆ คือฉันเหนือกว่าพวกเธอทั้งหลาย ที่พวกเธอทำนั้นไม่ได้เรื่องไม่ถูกไม่ควร ฯลฯ หรือที่เราเรียกกันง่ายๆ ว่า อีโก้แรง นี่ก็เป็นอีกเหตุที่พบบ่อยในความขัดแย้งโดยทั่วไป และยังมีอีกหลายแนว แต่ไม่ว่าจะแนวไหน ก็ก่อเหตุความขัดแย้งให้เกิดได้ ...โดยที่คนก่อเหตุเองก็อาจรู้ไม่ทันสิ่งลึกๆ ที่ซ่อนอยู่ในตัวด้วยซ้ำ

จากฐานสิ่งเคลือบแฝงเหล่านี้ บางครั้งเราอาจเผลอให้มาครอบงำจิตใจเราได้ ทำให้การรับรู้ต่างๆของเราบิดเบือนไป เมื่อถามหาจริงๆ ว่ามีเรื่องอะไรกันหรือ หลังจากพายุสงบไปแล้ว มาดูกันอีกที อาจพบว่า “เรื่องแค่นี้เองนะหรือ” ส่วนเกินที่จิตเราปรุง สร้าง เติม แต่ง ขึ้นมานั้นมากมายเหลือเกิน พอเรารู้ไม่ทัน เราก็อาจพลอยหลงเชื่อไปกับภาพมายาเหล่านั้น นึกว่าเป็นเรื่องจริงไปด้วย

การมีจินตภาพเป็นสิ่งงดงามสำหรับหลายกรณี แต่สำหรับการมีชีวิตอยู่แบบไร้ทุกข์นั้น มีข้อควรระวังในการมีอยู่ไม่น้อย เป็นต้นว่า เรารู้ทันกับมายาเหล่านั้นแค่ไหน ถ้าเราแต่ละคนจินตนาการหรือสร้างภาพให้เกิดขึ้นในใจอยู่เป็นประจำ บ่อยครั้งขึ้นจนเป็นอุปนิสัย สิ่งที่เห็นสิ่งที่สัมผัสก็อาจบิดเบือนไปได้เรื่อยๆ จนกระทั่ง อาจไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ได้รส ไม่ได้สัมผัสต่างๆ อย่างที่เกิดขึ้นจริง โอกาสที่ใจเราจะแปลงสารที่มากระทบกับเราทั้งหลายเหล่านี้ให้ออกไปในรูปที่เราต้องการ (ทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว) ได้ก็สูงขึ้น กลายเป็นพฤติกรรมประจำ เหมือนเราใส่แว่นสีต่างๆ อยู่ตลอดเวลา ทำให้เห็นโลกนี้สีไม่เหมือนของจริง จนถึงขนาดคิดว่าคนนั้นเป็นอย่างนั้น คนนี้เป็นอย่างนี้ คนนั้นไม่รู้เรื่องนี้เหมือนฉันหรอก ฯลฯ ตามที่ใจเราสร้างมายาขึ้นมา

ที่เขียนมานี่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้เขียนเห็นความเป็นจริงได้ตลอดเวลานะคะ ยังพลาดอยู่เหมือนกันจึงเขียนขึ้นมาอย่างน้อยก็ใช้เตือนตัวเอง ทั้งที่รู้ๆ กันอยู่แล้วก็มีเผลอมีพลั้งกันได้ เห็นกันได้ในแต่ละวงการ ไม่เว้นแม้แต่วงการที่เน้นเรื่องพัฒนาจิตใจหรือวงการศาสนา แต่ไม่ว่าใครจะพลาดจะพลั้งกันอย่างไร ถ้าเขาเหล่านั้นมุ่งมั่นที่จะพัฒนาจิตใจให้บริสุทธิ์ขึ้น ก็น่าชื่นชมยินดีแล้วหรือเปล่า ที่พลาดกันอยู่ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องแปลกอะไร เหมือนที่ครูบาอาจารย์บางท่านเคยบอกผู้เขียนในงานประชุมใหญ่ครั้งหนึ่งซึ่งมีคนพูดสร้างความหงุดหงิดให้กับคนฟังหลายร้อยคน ว่า “ก็อย่างนี้แหละลูก คนส่วนใหญ่ที่เราเจอก็ไม่ใช่พระอรหันต์” จริงซินะคะ ขอบพระคุณค่ะ

Newer Posts Older Posts Home