โดย อดิศร จันทรสุข เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๔๙
-------------------------------------

สองสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมรู้สึกว่าตนเองโชคดีที่มีโอกาสได้อ่านบทความของคุณวิจักขณ์ พานิช เรื่อง “จิตตปัญญาศึกษา หรือการศึกษาติดดี?” ซึ่งมีหลายประเด็นที่ “สะกิด” ให้ต้องหันกลับมาทบทวนความคิดและจุดยืนของตนเองทั้งในเรื่องส่วนตัวและอาชีพการงานอีกครั้ง ความ “แรง” ของบทความนั้น สำหรับผมถือว่าเป็นแรงในด้านบวก เพราะทำให้ตนเองเกิด “แรง” บันดาลใจที่อยากจะเขียนเรื่องราวบางอย่าง ซึ่งได้ไปประสบมากับตนเองเพื่อมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อ่านท่านอื่น อันที่จริง อาจจะเรียกบทความนี้ว่าเป็นเพียงความคิดเห็นในห้วงคำนึง หรือบทสนทนาในจินตนาการระหว่างผมกับตัวหนังสือก็เป็นได้ครับ

ผมอยากจะแบ่งปันเรื่องราวเล็กๆ ที่เกิดขึ้นกับผมในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งผมมองว่าเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจสำหรับตัวผมเองเป็นอย่างมาก คือผมได้ไปร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ขึ้นบ้านใหม่ของเพื่อนฝรั่งคนหนึ่ง โดยเชิญมิตรสหายทั้งชาวต่างประเทศ ที่อยู่ในเมืองไทยและเพื่อนคนไทยอีกสองสามคนมาร่วมงานด้วย หลังจากวงอาหารเสร็จสิ้นลง วงสนทนาก็เริ่มต้นขึ้นและออกรสชาติ ด้วยการที่เพื่อนฝรั่ง เริ่มอภิปรายในประเด็นทางสังคมบางประเด็นกันอย่างเต็มที่ บทสนทนาจากตรงนี้ไปค่อยๆ ร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยมีคนไทยนั่งมองตาแป๋ว พยักหน้าหงึกหงักตามระเบียบ ตัวผมเองตลอดเวลาที่ฟังก็รู้สึกมีความเห็นบางอย่างที่อยากจะร่วมแสดง แต่เมื่อวงสนทนาไม่เปิดช่องว่างให้เราได้แสดงความคิด หรืออาจจะเป็นเพราะตัวเราเองก็ติด “เกรงใจ” ผมจึงเปลี่ยนไปมีบทสนทนากับพวกเค้าในใจแทน จนกระทั่งช่วงหนึ่ง รู้สึกว่าตนเองกำลังอึดอัดจนถึงที่สุด เมื่อเพื่อนฝรั่งคนหนึ่ง ได้วิจารณ์คนไทยแบบเหมารวมว่า เค้าทนคนไทยที่ไม่กล้าคิดไม่กล้าแสดงออกในวงสนทนาไม่ได้เอาเสียเลย ทำไมพวกคนไทยถึงเป็นพวกที่เอาแต่เก็บงำความรู้สึกของตนเองไว้กันจัง มาถึงตรงนี้ ผมจึงให้โอกาสตนเองได้พูดบ้าง และสะท้อนเขาไปว่า จริงๆ แล้วคนไทย (หรือแม้กระทั่งชาติเอเชีย) ไม่ใช่ไม่กล้าคิดไม่กล้าแสดงออกเสมอไป แต่เป็นเพราะพวกเรานั้นอยู่กับความเชื่อขั้นพื้นฐานเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกันและกัน ดังนั้น อะไรก็ตามที่จะนำไปสู่ความขัดแย้ง เราจึงไม่ทำ เห็นได้ชัดๆ ว่าเรามักจะเรียกสรรพนามนำหน้าชื่อด้วยความสัมพันธ์ในเชิงญาติพี่น้องทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น พี่ ป้า น้า อา น้อง ฯลฯ ทั้งกับคนใกล้ตัวหรือแม้กระทั่งคนแปลกหน้าก็ตาม ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้ แทบจะไม่เกิดขึ้นเลยในสังคมตะวันตกซึ่งเน้นความเป็นปัจเจกค่อนข้างสูง นอกจากนั้น เรื่องที่เค้าถกเถียงกัน จริงๆ แล้วมันก็เป็นเรื่องที่ไม่สามารถหาข้อยุติทางความคิดได้ เพราะในท้ายที่สุดมันก็เป็นเพียงแค่ “ความคิด” ไม่ใช่ “ความจริง” คนไทยสมัยก่อนอาจจะเห็นธรรมชาติตรงนี้ และมองว่าการสนทนาแบบค้นหาความจริง (ซึ่งจริงๆ แล้วก็อาจจะเป็นเพียงแค่หลุมพรางทางความคิด) จึงเป็นเรื่องที่ไร้สาระและเสียเวลาไปเปล่าๆ โดยไม่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันสักเท่าใด

บทสนทนาดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และมาจบลงตรงที่เราพอจะเห็นพ้องกันในที่สุดว่า วัฒนธรรมจากสังคมตะวันตก (ซึ่งจะว่าไปแล้ว ความเป็นตะวันตกและตะวันออกก็เป็นเรื่องสมมติอีกเช่นกัน) มักจะเริ่มต้นจากความเชื่อว่า มีบางสิ่งบางอย่างที่ถูกต้อง และมีบางสิ่งบางอย่างที่ผิดพลาด ดังนั้น การสนทนากันของคนในสังคมจึงมุ่งเน้นที่การวิวาทะ แสวงหาความจริงอันสูงสุด (ซึ่งจะมีจริงหรือไม่ ก็ไม่มีใครสามารถรู้ได้อีกนั่นแหละ) แล้วคนเอเชียอย่างพวกเราก็รับเอาวิถีนั้นไปอย่างชื่นชม เพราะเราเชื่อว่านั้นคือวิถีแห่งปราชญ์ หรือวิถีแห่งผู้รู้ (ทั้งที่จะว่าไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นปราชญ์หรือผู้รู้ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาตินั้น ทุกท่านส่วนใหญ่มักจะเกิดปัญญาญาณ หรือการ “ปิ๊งแว้บ” ในช่วงเวลาที่ได้ใคร่ครวญสิ่งต่างๆ อยู่ในธรรมชาติแทบทั้งสิ้น) วันนั้น เราจบบทสนทนาลงด้วยการที่ผมเองย้ำกับเค้าว่า สิ่งที่ผมพูดมาทั้งหมดนั้น จริงๆ แล้วเป็นแค่ชุดความคิดและชุดความจริงในโลกประสบการณ์อันแสนจะคับแคบของผม (ก็โลกนี้เกิดขึ้นมาตั้งไม่รู้กี่ล้านปีแล้ว แต่เราเองมีประสบการณ์ชีวิตแค่ไม่ถึงเศษเสี้ยวอันเล็กน้อยแทบไม่มีค่าอะไรในจักรวาลนี้เลย ไฉนเราจึงจะกล่าวอ้าง ว่าสิ่งใดคือความจริงของชีวิตกันได้) ซึ่งแม้แต่องค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านก็ทรงเลือกที่จะไม่เอ่ยถึงความจริงบางเรื่องเพราะไม่สำคัญต่อการนำพามนุษย์ไปสู่การหลุดพ้น

ผมพบว่า การไม่ระบุว่าสิ่งใดถูกหรือผิด คือการเปิดโอกาสให้สิ่งต่างๆ ได้แสดงตัวของมันเองให้ปรากฏชัดขึ้นในห้วงคำนึงของเรา แต่ยังไงก็ตาม มนุษย์ก็คงตกหลุมพรางอันลึกล้ำของจิตอยู่วันยังค่ำ ธรรมชาติของมนุษย์ผูกติดอยู่กับการประเมินเสมอๆ แม้เราจะพร่ำบอกตนเองและผู้อื่นว่าเราไม่ควรประเมินอะไรอย่างฉาบฉวย ไม่ควรแบ่งแยกขาว-ดำ เพราะโลกไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสมอไป แต่ในขณะที่เรากำลังบอกเช่นนั้น เราเองก็กำลังประเมินคุณค่าของ “การไม่ประเมิน” ว่าเป็นสิ่งที่ “สูงกว่า” การประเมินใช่หรือไม่?

ผมคิดว่าอย่างไรทางสายกลางก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับการดำเนินชีวิต อะไรที่เรารู้ว่าทำแล้วดีกับตัวเราเอง ก็จงทำเถิด และอะไรที่เรารู้ว่าถ้าทำแล้วไม่ได้ก่อให้เกิดผลดีกับตัวเราเอง แต่ถ้าเรายังอยากจะทำ ก็คงไม่มีใครว่าอะไร แต่อย่างน้อย เราควรจะมีสติ (ในทางโลก) รับรู้ว่าสิ่งที่เราทำอยู่นั้น มันส่งผลเสียต่อใครบ้างหรือไม่ โดยเฉพาะที่พื้นฐานที่สุดคือร่างกาย และจิตใจของเราเอง ซึ่งจะว่าไปแล้วทั้งในทางตรงและทางอ้อม ต่างก็มีส่วนส่งผลกระทบต่อสรรพสิ่งรอบตัว ตั้งแต่เม็ดทรายไปจนถึงระดับจักรวาลเสมอ

ในเรื่องการติดดี ดังบทความของคุณวิจักขณ์ ก็เช่นกัน.. ผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งว่า บางครั้งเราก็ให้คุณค่าของการทำความดีกันอย่างสุดโต่ง และตัดสินความดีความชั่ว แบบขาว-ดำ แต่ผมอยากจะเพิ่มเติมด้วยเช่นกันว่า ในอีกมุมหนึ่ง “การติดดี” ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไรนัก อย่างน้อยก็เป็นไปในทางเร้ากุศลให้กับตัวเอง และคนรอบตัว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการทำด้วยความบริสุทธิ์ใจอย่างแท้จริง ไม่ใช่เสแสร้งปั้นแต่งให้คนรอบข้างชื่นชม การไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ทำตัวดีๆ ในสังคม ก็น่าจะเป็นสิ่งที่เราสามารถชื่นชมได้เช่นกันมิใช่หรือ? เพราะอย่างน้อย ถ้าคนทำรู้ว่าการที่เค้าไม่ทำร้ายตนเองและสังคมจะนำสิ่งที่ดีกลับมาสู่ชีวิตของตนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ก็น่าจะเป็นสิ่งที่พอยอมรับได้บ้าง จริงๆ แล้วสังคมของเรานอกจากจะเต็มไปด้วยคนติดดีแล้ว ผมว่าเรายังขาดคนที่สามารถชื่นชมกับคนทำความดี (แม้กับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ) ได้อย่างแท้จริงเช่นกัน

เขียนมาถึงตรงนี้ คงต้องยกความดีให้กับท่านอาจารย์ระพี สาคริก ที่มักจะพร่ำบอกกับพวกเราเสมอว่า ความถูกหรือความผิด ความดีหรือความไม่ดีนั้นจริงๆ แล้วมันไม่มีหรอก มันมีแต่ความจริงที่อยู่ในใจของเราต่างหาก ที่เราต้องเรียนรู้ที่จะยอมรับ และเลิกโกหกตัวเราเองเสียที เมื่อนั้น เราถึงจะหลุดพ้นจาก “การติด” ในทุกเรื่องๆ ได้

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home