โดย ธนัญธร เปรมใจชื่น
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๕๐

ช่วงสองสัปดาห์มานี้ มีคนติดต่อให้ไปทำงานพัฒนาเยาวชน เหตุเพราะฟังบอกเล่าต่อๆ กันมาแล้วเกิดสนใจขึ้นมา เขาอยากให้ฉันช่วยเขียนรายละเอียดกิจกรรมและหลักสูตรการอบรมให้ พร้อมทั้งชื่อของหลักสูตร จากนั้นก็บอกกล่าวถึงความปรารถนาของเขาและองค์กรที่มีต่อการจัดอบรมครั้งนี้ คือ ให้เยาวชนรู้จักคิด ค้นพบศักยภาพและเส้นทางที่ตนเลือกและปรารถนาในอนาคต รับผิดชอบตนเอง มีแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ มีสมาธิ ใคร่ครวญตน และมีสำนึกร่วมต่อสังคม อ้อ! อยากให้กล้าแสดงออก และกล้าสื่อสารกับผู้ใหญ่ด้วยนะ

ฉันบอกกับเขาว่า แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่เด็กจะได้รับทั้งหมดตามที่เขาต้องการในช่วงระยะเวลา 3 – 4 วันนั้น ฟังจากน้ำเสียงดูเขาก็เข้าใจได้อยู่ แต่ดูจะรับไม่ค่อยได้ เมื่อฉันอธิบายว่า ฉันไม่มีหลักสูตรตายตัว ทุกครั้งที่นำพากิจกรรมการเรียนรู้ เราก็จะรอพบกับผู้เข้าร่วมก่อน แล้วกิจกรรมนั้นจึงเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นเพื่อผู้เรียนโดยแท้ มิใช่เพื่อพวกเรา ซึ่งเป็นผู้เฝ้ามองและจัดการ การทำงานของเราจึงมิใช่ความซ้ำซากที่ทำซ้ำๆ อย่างขาดวิญญาณ และปราศจากการรับรู้ร่วมจากทั้งหมดของสภาวะ

ส่วนเรื่องชื่อการอบรม หรือหลักสูตรนั้น ฉันบอกไปว่า ให้ขึ้นอยู่กับความสะดวกและเหมาะสมของทางผู้จัดเองเลย ดูจะยิ่งทำให้เขางงมากขึ้น และเห็นชัดถึงความไม่เชื่อมั่นในกระบวนกรและกระบวนการอย่างที่ได้ยินมาเสียแล้ว ซึ่งฉันก็ยินดีน้อมรับกับความไม่พอใจนั้น

ประมาณสองวันหลังจากการพูดคุยกันครั้งนั้น เขาก็ติดต่อกลับมาใหม่ เพื่ออธิบายระบบการทำงานของหน่วยงานที่เขาสังกัดอยู่ให้ฉันฟัง สุดท้ายและด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยนมาก เขาขอให้ฉันเขียนตารางกิจกรรม และหลักสูตรการอบรมให้เขา เราหัวเราะออกมากันทั้งคู่ เขาบอกว่า หากไม่ใช่เพราะว่าเพื่อนที่แนะนำฉันให้เขารู้จักได้ยืนกรานจนเขาพอมั่นใจได้ เขาคงไม่ติดต่อกลับมาอีกแน่ ฉันบอกเขาว่า ฉันเข้าใจความรู้สึกของเขา และจะพยายามเขียนให้แบบคร่าวๆ น้ำเสียงเขามีความสุขมาก แถมยังให้คำแนะนำว่า “อาจารย์เขียนมั่วๆ อะไรมาก็ได้ค่ะ เอาแบบให้ผู้ใหญ่อนุมัติไปก่อน” ฉันชื่นชมในความพยายามของเธอผู้นี้ รวมทั้งความปรารถนาดีอันจริงแท้ที่เธอมีต่อเยาวชนที่เธอทำงานร่วม ผ่านการสนทนากัน เธอแสดงออกอย่างจริงใจและเปิดเผยมาก ว่าเธอกำลัง ... ตัน แต่สิ่งที่เธอพูดในท้ายสุดนี้ มันกระตุ้นให้เก็บมาคิดทบทวนในนัยยะของมัน

เราเลือกที่จะเชื่อในถ้อยคำโกหก อวดโอ้ มากกว่าความจริงที่มิอาจชี้ชัดอย่างนั้นหรือ เราอยากได้ยินคำอธิบายดีๆ แผนจัดการอันรัดกุม แล้วเพิกเฉยต่อความงามของการผุดบังเกิดอันสดใหม่และเข้าถึงได้ได้อย่างไรกัน กรอบที่เรากำหนดขึ้นบ่อยครั้งมันก็กลายเป็นบล็อกครอบตัวเรานี้เอง อะไรหนอที่ทำให้เราไม่สามารถวางใจปล่อยตัวให้ดำรงอยู่กับความไม่รู้บ้าง ทั้งที่บ่อยครั้งยามเราบอกว่ารู้ เอาเข้าจริงๆ เรากลับแทบไม่รู้อะไรเลย

อย่างทันท่วงทีที่คำตอบเดินทางเข้ามาหาเรา เป็นความอัศจรรย์ที่เชื่อมโยงสิ่งต่างๆ รอบตัวเราไว้อย่างแยกกันไม่ออก พ่อทางจิตวิญญาณของฉันมักจะพูดเสมอว่า ทุกสิ่งเชื่อมโยงถึงกันและถึงตัวเราเสมอ เพียงเฝ้าดูการผุดปรากฏของมัน ด้วยดวงตาที่ตื่นรู้ เราก็จะมองทะลุกำแพงหลายสิบชั้นนั้นได้ ซึ่งเป็นคำอุปมาที่ไม่ไกลเกินความเป็นจริงเลย

เด็กที่ติดตามมาเพื่อขอเรียนการเป็นกระบวนกรกับเรา เดินหน้าบอกบุญไม่รับผ่านมาพอดี ถามไถ่ดู เธอก็เล่าออกมาด้วยความขุ่นเคืองว่า “กระบวนกรไม่เห็นทำกิจกรรมเหมือนกับที่คุยกันไว้วันก่อนเลย แล้วหนูจะเตรียมตัวถูกได้อย่างไร หนูแค่ไม่ชอบเวลาที่ต้องทำตามอะไรที่หนูไม่รู้น่ะค่ะ” เด็กสาวผ่อนคลายขึ้นหลังจากได้ระบายอารมณ์ จะว่าไปเธอออกจะเริ่มรู้สึกตัวมากขึ้นด้วย กับการหงุดหงิดของตนเองเมื่อครู่ ฉันถามกลับไปว่า เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าการเตรียมตัวของเราคือสิ่งที่ดีที่สุด เธอบอกว่า มันอาจไม่ดีที่สุดแต่มันปลอดภัยกว่า ฉันทำท่าเลิกคิ้วสงสัย และเหมือนเธอจะรู้ทันกระบวนกรแล้วด้วย โดยไม่ต้องซักต่อ เธอตอบว่า “ปลอดภัยจากความผิดพลาด ความล้มเหลว และการถูกด่า ถูกตำหนิ” เธอก้มหน้าเหมือนจะร้องไห้ ถูมือไปมา “ถึงที่นี่ไม่มีคนคอยด่าว่า และชอบบอกว่าผิดพลาดกันได้ แต่หนูก็กลัวอยู่ดี หนูกลัวของหนูเอง หนูไม่ดีเลยใช่ไหมคะ ชอบคิดเอาเองอยู่เรื่อย” แล้วเธอก็เริ่มร้องไห้ ฉันบอกเธอว่าฉันไม่มีเจตนากล่าวโทษเธอเลย และไม่เห็นด้วยที่เธอจะโทษตัวเองเรื่องนี้ เพราะทั้งหมดที่เธอเป็นนี้ ล้วนเป็นสิ่งที่เธอบ่มเพาะมันมาเนิ่นนาน สิ่งที่เธอต้องเรียนรู้สำหรับการเติบโตเป็นกระบวนกรก็คือ การเปลี่ยนแปลงที่นำพาตนออกจากข้อจำกัดที่มี

ฉันรู้มาว่าช่วงนี้เธอพยายามอ่านเยอะมาก เพื่อตามให้ทันเพื่อนที่มาเรียนเป็นกระบวนกรด้วยกัน ฉันบอกกับเธอว่า การอ่านก็เป็นเรื่องที่ดีมาก แต่มันยังไม่ใช่ทั้งหมดของการเติบโตของโลกภายในของเธอ เธอจะเติบโตและเปลี่ยนแปลงได้ดี เมื่อเธอนำสิ่งที่เธอเรียนรู้รับรู้มานั้น ฝึกปฏิบัติกับตนเอง

เรื่องสองเรื่องนี้เกี่ยวข้องกันอย่างไรนะ โดยมิมีเจตนากล่าวโทษใคร แต่คงปฏิเสธยากเหลือเกินว่า ระบบโรงเรียนนั้นมีผลต่อชีวิตเราไม่น้อย และยังคงมีผลกระทบอยู่ แม้นว่าเราจะเดินออกจากรั้วโรงเรียนมานานมากแล้วก็ตาม ตลอดจนสังคมของเราก็เอาคำว่ามาตรฐานไปแขวนห้อยไว้กับเครื่องชี้วัดที่แข็งตัว ไม่ยืดหยุ่นต่อความเป็นปัจเจกที่แตกต่างของคนเรา คนจำนวนมากมายจึงพยายามเป็นผู้รู้ ทั้งที่ความไม่รู้จะเชื้อเชิญเราให้กระโดดเข้าไปซึมซับความรู้นั้นอย่างลึกซึ้งมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับขณะที่เราคิดว่าเรารู้แล้ว และนี่เป็นเรื่องท้าทายมานานแล้วในการที่เราจะชักชวนคุณครูทั่วไปออกมาจากกรอบความเป็นผู้รู้ของตน

เด็กสาวถามฉันว่า เราจะทนอยู่กับความไม่รู้ของเราได้อย่างไรกัน และกระบวนกรนำพาผู้คนอย่างไร ในขณะที่เขาไม่รู้ว่าเขาจะทำอะไร ฉันบอกเธอว่า เธอน่าจะได้เรียนรู้เรื่องประสิทธิภาพ 5 อันดับ ของ ดรายฟัสและดรายฟัส (Dreyfus and Dreyfus) ฉันเล่าให้เธอฟังคร่าวๆ ว่า อันดับแรก เขาเรียกมันว่า ช่วงเด็กฝึกงาน (Novice) คือไม่รู้อะไรเลย รอทำตามคำสั่ง และต้องคอยให้รายละเอียด คอยบอกสอน ขั้นต่อมาก็คือ เด็กฝึกงานที่พัฒนาแล้ว (Advanced Beginner) เขาจะรู้และทำในงานที่ได้รับมอบหมายได้ดี ไม่ต้องคอยบอกสอนหรือลงรายละเอียดมาก ขั้นที่สาม เรียกว่า คนทำงานเป็น (Competent) เราจะเริ่มสบายใจได้ เพราะเขาสามารถทำงานพื้นฐานทั้งหมดได้อย่างดี แก้ไขได้ จัดการวางแผนการทำงานของตนได้ และลำดับขั้นต่อจากนี้ ใช้การทำงานในวิธีที่แตกต่างออกไปจากสามขั้นแรก เพราะในขั้นที่สี่ ที่เราเรียกว่า คนทำงานเก่ง (Proficient) เขาจะเริ่มฟังเสียงของญาณทัศนะของตนบ้าง สร้างสรรค์งานได้ และมองงานทะลุจากขีดข้อจำกัด ส่วนขั้นสุดท้าย เรียกว่า เซียน (Expert) เขาจะรับฟังญาณทัศนะของตนตลอดเวลา สิ่งต่างๆ ดูง่ายดาย และทรงพลังในมือของเขา

ฉันถามเธอว่า เธอคิดว่าตนอยู่ลำดับไหน เธอได้แต่ยิ้มเขินอาย ฉันเลยแซวว่า อย่าละอายที่จะซื่อสัตย์ต่อตนเอง เราต่างเป็นเด็กฝึกงานในบางเรื่องและเราต่างก็เป็นเซียนในบางเรื่องด้วยเช่นกัน แต่ทำอย่างไรเราจะเปิดพื้นที่ความเป็นเซียนในตัวเรามากขึ้นนี่สิน่าคิด

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home