โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๕๑

ผมเคยพูดถึงขาไปขากลับของการเดินทาง เปรียบได้กับการเรียนรู้ในชีวิตมนุษย์เหมือนกัน เมื่อเราเป็นเด็ก เราจะเดินทางขาไป เมื่อเราเริ่มเข้าวัยกลางคน เราจะรู้สึกว่า เรารู้จักโลกนี้ดีแล้ว เราผ่านฝนมาหลายฤดูกาล ชีวิตขากลับของเราจึงเริ่มน่าเบื่อหน่าย เรารู้แล้ว รู้ไปหมด ชีวิตหมดความตื่นเต้นอีกต่อไป เราลืมวันคืนที่เคยเป็นเด็กไปเสียสิ้น

แต่ขาไป (ไม่ใช่ขากลับ) ของการเรียนรู้นั้น เป็นการตื่นตัวกับการรับรู้โลกซึ่งสำคัญมาก มิฉะนั้น จะกลายเป็นอัตโนมัติที่หลับใหล สัญญา (Perception) เก่าจะเข้ามาครอบ ทำให้เราถูกตรึงติด หรือกักขังอยู่ใน the known หรือที่รู้อยู่แล้ว/ที่รู้แล้ว

สัญญา/ Perception เมื่อการรับรู้ผ่านสมองชั้นต้นมาแล้ว จะก่อตัวในสมองชั้นกลาง และสมองซีกขวา ถ้าจะรับรู้แบบใหม่ ไม่เหมือนเดิม จะมี “สัญญาใหม่” ได้ไหม มีความเป็นไปได้แต่อาจจะยากกว่า เช่น พวกชนเผ่าพื้นเมือง ในทวีปอเมริกา เห็นเรือสำเภาเป็นครั้งแรก ก็ไม่สามารถมองเห็นอะไรเลย! คือเห็น แต่ไม่รับรู้ ต้องไปเอาพ่อมดหมอผีมา พวกนี้ถูกฝึกให้เฝ้ามองอะไรต่ออะไร อย่างเนิ่นนาน และไม่ยอมให้จมจ่อมอยู่กับอะไรที่รู้แล้ว! ในที่สุดพ่อมดหมอผีก็ “มองเห็น” พอพ่อมดหมอผีมองเห็น ชาวบ้านก็มองเห็น!

ถ้าเป็นอย่างนั้น การที่เรามองไม่เห็นแล้วจะเอาเรื่องมาคิดใคร่ครวญต่อได้อย่างไร มันทำไม่ได้!

อีกมิติหนึ่ง ของสมองชั้นต้น หรือตันเถียนล่าง ก็คือการดูแลกลไกทั้งหมด มันคือ “การดำรงอยู่” (being) ของชีวิต กลไก ประสาทที่ทำงานเป็นอัตโนมัติทั้งหมด ที่ทำให้หัวใจของเราเต้นได้ โดยเราไม่ต้องคอยสั่งการ เป็นการดำรงอยู่อย่างเป็นอัตโนมัติเสียส่วนใหญ่ มันโปรแกรมด้วยพันธุกรรมของบรรพบุรุษเสียครึ่งหนึ่งแล้ว อีกครึ่งหนึ่ง มันมาเรียนรู้จากผู้คน สังคมที่อยู่รอบตัว

แต่ถ้าโลกแคบอยู่แคบๆ กับพ่อแม่ตัวเอง ไม่มีต้นแบบ หรือ role models อื่นๆ ให้เห็น อันนี้ก็น่าเศร้าใจยิ่งนัก

มีตัวอย่าง สิ่งที่มาจากบรรพบุรุษเข้ามามีอิทธิพลกับเราอย่างไร ลูกชายของผมซึ่งเรียนอยู่ชั้นปีที่สองของวิทยาลัยดนตรีในประเทศรัสเซียได้เขียนเล่าไว้ในวงน้ำชา (wongnamcha.com) ความว่า:

“ตอนนี้เพิ่งจะรู้สึกว่าจัดเวลาได้ลงตัวไม่เครียดเกินไป แต่มันก็เกือบจะจบปีการศึกษาเสียแล้ว บางครั้งสิ่งที่เราต้องทำมันก็ไม่ได้เยอะแยะขนาดนั้น ปัญหาอยู่ตรงที่ความรู้สึกที่เรามีต่อมันมากกว่า ถ้าอะไรที่เราไม่อยากทำถึงแม้มันจะน้อยนิดเท่าขี้แมงหวี่เหมือนก็เหมือนช่างเยอะแยะเหลือเกิน แต่หลายครั้งเรา ก็ใช่ว่าจะเลือกได้เสมอไป ว่าเราอยากทำหรือไม่อยากทำ จริงๆ ก็เลือกได้นะแต่เราก็คงต้องเลือกด้วยคะแนนที่น้อยหรือการตกวิชานั้นๆ ไป ถามว่าเราสนใจคะแนนไหมเราก็สนนะ เราก็เลยยอมแลกด้วยการทำสิ่งที่เราไม่ชอบเท่าไหร่ในบางครั้ง

ทางเลือกมีเสมอ เราก็คงต้องเลือกอะไรในระดับที่เราพอใจ ทางเลือกอาจจะไม่ได้มีแต่ทางเลือกที่ดีที่สุดเสมอไป

แต่เราก็คงต้องเลือกระดับที่เรารู้สึกว่าพอดีๆ หรือว่าพอไหว ฝึกฝนการจัดเวลาของตัวเองพยายามไม่ดองงานไว้นานๆ ค่อยๆ ทำไปทีละนิดแล้วงานมันจะดูไม่เยอะเกินไป

นอกจากเรื่องจัดการกับเวลาคงจะเป็นเรื่องการจัดการกับความเครียด วันเสาร์คุยกับครอบครัวที่รัสเซีย ว่าเรามีแนวโน้มจะเป็นคนที่เครียดถึงเครียดมาก เรื่องแบบนี้มันสืบทอดกันได้ เราน่าจะตัดหรือลดมันในรุ่นของเรา ถ้าเราทำได้ ลูกหลานเราจะได้สบายขึ้น ผมคิดว่าการที่พ่อเริ่มทำงานกับตัวเองอย่างจริงจัง มันก็ช่วยให้ผมทำงานกับตัวเองได้ง่ายขึ้น มันเชื่อมโยงกันอย่างที่เราไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
บางครั้งเราเครียดโดยไม่รู้ตัว ความกังวลมันเหมือนจะอยู่ในอากาศ ตื่นเช้ามาแทนที่จะสดใสกับอากาศยามเช้า เราอาจกังวลว่า วันนี้ไปเรียนจะมีปัญหาไหมนะ ทั้งๆ ที่เรื่องเรียนเราก็แทบจะไม่มีปัญหาเอาซะเลย เราเครียดเกินกว่าเหตุ บางครั้งความเครียดอาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของเรา แต่มันอาจจะอยู่ที่ตัวเรามากกว่า คนบางคนที่ดูเหมือนว่า จะมีปัญหาชีวิตมากมาย แต่เขากลับไม่เครียดเท่าไหร่ ต่างจากบางคนที่เหมือนจะไม่ค่อยมีปัญหาอะไรแต่ก็เครียดมาก”


ในฐานล่างนี้ การดำรงอยู่เชื่อมโยงกับอารมณ์ โดยผ่านทางเคมีในสมองคือจะมีการหลั่งสารเป็บไทด์ (Peptide) เข้าสู่กระแสเลือดไปยังทุกส่วนของร่างกาย ในเซลล์แต่ละเซลล์จะมีที่รองรับเป็บไทด์ เหมือนมีแม่กุญแจนั่งอยู่ เป็บไทด์ตัวหนึ่ง ก็เป็นอารมณ์หนึ่ง เป็บไทด์เป็นลูกกุญแจ เมื่อลูกกุญแจเสียบเข้าล็อคพอดีกับแม่กุญแจในแต่ละเซลล์ เซลล์ก็รับสัญญาณของอารมณ์ และแสดงออกซึ่งอารมณ์ต่างๆ เช่น โกรธ เกลียด อิจฉา ริษยา อารมณ์รัก อารมณ์เซ็กส์ซี่ เป็นต้น

ร่างกายของเราจะคุ้นกับแบบแผนของอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง และจะไม่ยอมพรากจากแบบของอารมณ์นั้นๆ ไปได้ง่ายๆ สามีภรรยาบางคู่อยู่ด้วยกันไม่มีความสุขเท่าไร ทะเลาะกันตลอดเวลา แต่มันก็เคยชินกับลูกกุญแจและแม่กุญแจอย่างนั้นเสียแล้ว คุ้นเคยกับสารเคมีที่เคยหลั่งประจำอยู่แล้ว แม้จะทำลายล้างร่างกายอย่างไรก็ติดเสียแล้ว มันเคยปกติของมันอย่างนั้น จะแปรเปลี่ยนไปอย่างไรได้ เวลาพรากจากกันก็ร้องห่มร้องไห้ ไม่เป็นผู้เป็นคนเอาเสียเลย

อันนี้จะเห็นเลยว่า ฐานกาย คือเซลล์ แบบแผนพลัง (Energy pattern) ในเซลล์มาสัมพันธ์กับอารมณ์ความรู้สึกอย่างไร และอารมณ์ความรู้สึกก็ไปสัมพันธ์กับความคิดด้วย มันแยกกันไม่ออก คือทุกความคิดจะมีอารมณ์กำกับอยู่ด้วยเสมอ เพราะฉะนั้น ความคิด อารมณ์ความรู้สึก และร่างกาย จะสัมพันธ์กัน หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน มากกว่าที่เราจะคิดถึงและเข้าใจได้

ความคิดเก่าๆ ก็จะนำมาซึ่งอารมณ์เก่าๆ และแบบแผนความเป็นไปในร่างกายแบบเก่าๆ เป็นสมดุลเฉพาะ หรือเป็น “ปกติ” เฉพาะตัวใครตัวมัน ซึ่งปกตินั้น อาจจะหมายความถึงแบบแผนที่เพาะเลี้ยงอาการป่วยไข้บางอย่างบางประการก็ได้ จะเห็นได้เลยว่า ความคิด ความรู้สึก ก็อาจก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บได้ ตราบใดที่ไม่เปลี่ยนวิถีชีวิต โรคภัยนั้น รักษาอย่างไร ก็ไม่หาย

อีกอย่างหนึ่ง ความคิดกับอารมณ์ก็มีทางปฏิสัมพันธ์กัน เช่นเมื่อคิดอย่างนี้ก็รู้สึกอย่างนี้ รู้สึกอย่างนี้ ก็จะมีอาการทางกายอย่างนี้ เช่น เครียดแล้วก็จะเกร็งที่ไหล่เป็นต้น หรือ เมื่อวิตกกังวลก็จะเจ็บที่กระเพาะอาหาร เป็นต้น

เพราะฉะนั้น โจทย์หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงตัวเอง ท่านให้พวกเราตื่นรู้ รู้ตัว รู้เท่าทัน อาการทางกาย กายมันสังเกตได้ง่ายกว่าจิต มันเป็นอุบายให้หาทางคลี่คลาย ให้เราออกจาก ลูกกุญแจ แม่กุญแจเดิมๆ หรืออาการพันธนาการแบบเดิมๆ ที่ชีวิตเราเป็นเช่นนั้นเรื่อยมา แต่ตอนนี้เราอยากออกจากความเคยชินนั้น ออกมาแล้ว เราจึงเริ่มถามหาหนทางเริ่มต้นแห่งการเปลี่ยนแปลงตัวเองได้

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home