โดย พูลฉวี เรืองวิชาธร
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๒
ณ โรงพยาบาลบ้าแห่งหนึ่งมีผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก ทำให้มีเนื้อที่ไม่เพียงพอต่อการรับรักษา จึงจัดการทดสอบผู้ป่วย โดยสูบน้ำออกจากสระว่ายน้ำจนแห้ง แล้วปล่อยผู้ป่วยให้ลงไปเล่นน้ำในสระ มีเกณฑ์ว่าหากผู้ป่วยคนใดไม่ลงไปเล่น แสดงว่าหายดี ก็จะให้กลับบ้าน หลังจากปล่อยให้ลงไปเล่นน้ำ คนบ้าทุกคนต่างก็ลงไปเล่นอย่างสนุกสนาน แต่ทว่ามีรายหนึ่งนั่งอยู่ริมสระและไม่ลงไปเล่นน้ำกับเพื่อนๆ
คุณหมอ : อ้าวไข่นุ้ยไม่ลงไปเล่นน้ำกะเพื่อนล่ะ
ไข่นุ้ย : หมอจะบ้ารึป่าว
คุณหมอ : ถ้าอย่างนั้นก็แสดงว่าเธอหายแล้ว เดี๋ยวหมอจะส่งเธอกลับบ้าน
ไข่นุ้ย : ก็ได้ครับ แต่ก่อนจะส่งผมกลับบ้าน หมอช่วยสอนผมว่ายน้ำก่อนซิครับ ผมจะได้ลงไปเล่นน้ำกะเพื่อนก่อนกลับบ้าน
-----------------------------------------------
จากเรื่องเล่านี้เราก็ไม่รู้ว่าหมอหรือไข่นุ้ยบ้ากันแน่ แต่อ่านแล้วก็นึกขำตัวเองและทำให้ได้คิดไปอีกมุมหนึ่งว่าบางขณะเราก็บ้าเช่นกัน ท่านผู้อ่านเคยคิดหรือเคยรู้สึกว่าตัวเองกำลังบ้าอยู่บ้างไหม? บ่อยครั้งที่ผู้เขียนตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราบ้าอยู่หรือเปล่า? กำลังทำอะไรอยู่? ต้องการอะไรกันแน่? มีความสุขจริงหรือกับสิ่งที่กำลังทำ? และมักจะบอกตัวเองว่ากำลังทำสิ่งที่มีประโยชน์ต่อตัวเอง ต่อผู้อื่น ต่อสังคม แต่เพราะอะไรจึงหงุดหงิดอารมณ์เสียได้ง่ายๆ เหมือนคนบ้าที่พูดกันไม่ค่อยจะรู้เรื่องโดยเฉพาะกับคนใกล้ตัว เหนื่อยหน่ายกับการดำรงชีวิต เครียด ท้อแท้ บางครั้งถึงกับเกือบหมดหวัง ความมีชีวิตชีวาความสดชื่นสดใสที่เคยมีหายไปไหนหมด เรากำลังเดินถูกทางจริงหรือ? ภาระที่ต้องรับผิดชอบมันหนักเกินไปไหม? คำถามเหล่านี้วนเวียนเข้ามาทักทายในใจผู้เขียนอยู่เสมอ
สภาพสังคมปัจจุบันมีเหตุมากมายที่ก่อให้เกิดความเครียดกดดัน ความไม่พึงพอใจ ความโกรธ จนทำให้หลายคนมีสภาวะบ้าทางอารมณ์ได้ง่ายๆ บางคนบอกว่ากำลังเป็นโรคมะเร็งอารมณ์ระยะลุกลาม
ยิ่งสภาพของคนที่อยู่ในมหานครใหญ่โตหรูหรานั้นน่าเศร้ากว่าคนต่างจังหวัด นับตั้งแต่เช้าลืมตาตื่นขึ้นมาก็ต้องเร่งรีบจัดการภารกิจส่วนตัวเพื่อจะไปให้ทันเวลา ก้าวขาออกจากบ้านก็พบกับรถยนต์ต่อแถวยาวเหยียด แถมรถมอเตอร์ไซค์นับร้อยๆ คันที่ทะลักออกมาบนท้องถนนในเวลาไล่เลี่ยกัน การดำเนินชีวิตลำบากมากขึ้น ทั้งค่าครองชีพสูง สภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก
บรรยากาศการแข่งขันในเกือบทุกเรื่องของชีวิตก็เป็นอีกวังวนหนึ่งที่ทำให้เกิดแรงเครียดกดดัน เริ่มแต่เป็นเด็กเล็กก็มีพ่อแม่ผู้ปกครองแข่งกันให้ได้เข้าโรงเรียนที่มีชื่อเสียง โตขึ้นมาหน่อยก็พากันเรียนพิเศษจนไม่มีเวลาให้เล่นหรือได้ใช้ความเป็นเด็กให้คุ้มค่า พอเข้ามหาวิทยาลัยก็แข่งให้ได้เรียนในคณะและมหาวิทยาลัยมีชื่อที่ตลาดแรงงานต้องการ จบออกมาจะได้หางานที่รายได้สูงๆ พอได้งานแล้วคิดว่าชีวิตจะสงบสุขแต่ก็มิวายยังต้องแข่งขันกันเพื่อให้ได้ผลงานโดดเด่นเป็นที่ยอมรับ เพราะหวังว่าจะมาพร้อมกับผลประโยชน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจหน้าที่ ทรัพย์สินเงินทอง
นอกจากนี้เรายังถูกแรงกดดันจากสภาพการเมืองแบ่งขั้วแบ่งฝ่ายจนก่อให้เกิดความขัดแย้งความรุนแรงรายวัน รวมถึงภาวะวิกฤติทางสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น บางแห่งน้ำท่วมรุนแรง บางแห่งขาดแคลนน้ำ
ถึงแม้ว่าในสังคมปัจจุบันมีความเจริญทางเทคโนโลยีที่ช่วยทุ่นแรงกายไปได้มาก แต่ก็น่าแปลกใจว่าความสุขใจของคนเรากลับลดน้อยถอยลงเข้าถึงได้ยากเข้าไปทุกที
ผู้เขียนเองก็เป็นคนหนึ่งที่เวียนว่ายใช้ชีวิตอยู่ในวิถีของคนเมืองหลวงและต้องประสบกับสภาวะดังกล่าว ช่วงต้นปีที่ผ่านมาก็รับรู้ได้ถึงความเครียด ความกดดัน ความเหนื่อยหนักจนทำให้สุขภาพร่างกายแย่ลง โรคภูมิแพ้เริ่มย่างกรายเข้ามาหา เมื่อต้องเดินทางไปทำงานในที่ต่างๆ ผิดที่ผิดทางนิดหน่อยก็มีผื่นขึ้นตามเนื้อตัวได้ง่ายๆ ปวดหัวข้างเดียวโดยไม่ทราบสาเหตุอยู่บ่อยๆ มือเท้าเริ่มมีอาการชา นอนเท่าไรก็ยังไม่รู้สึกพอ
อาการทางร่างกายแย่ก็ยังพอทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นในบางครั้งได้ แต่อาการทางจิตใจยิ่งแย่กว่า หงุดหงิด อารมณ์เสีย เก็บความรู้สึกไม่พอใจไว้กับตัวไม่ได้ กดดัน เรียกร้องทั้งกับตัวเองและคนที่อยู่รอบข้างทั้งในเรื่องงานและชีวิตส่วนตัว โดยลืมรับฟังผู้อื่นอย่างลึกซึ้ง ลืมถามความต้องการของผู้อื่นด้วยความใส่ใจ คิดแทน ตัดสินใจแทน บนความหวังดีแต่ไม่ถูกจังหวะ และมักจะมีข้ออ้างเข้าข้างตัวเองอยู่เสมอว่าเร่งรีบ เร่งด่วน หรือเพื่อให้ทันกับสิ่งที่กำลังไล่ล่ามา (ในความรู้สึกนึกคิดของเราเอง) ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งกับผู้คนรอบข้างนับตั้งแต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ อยู่เสมอ จนเป็นความชาชิน เบื่อ เซ็งในอารมณ์ ไม่อยากพูด ไม่อยากคุย ไม่ต้องการสื่อสาร ราวกับเป็นคนบ้า
ชีวิตเริ่มไม่มีความสุขอย่างเห็นได้ชัด หลายคนทักว่าทำไมดูโทรมจัง หน้าตาไม่ผ่องใส เหมือนคนป่วย ไม่สบายอกสบายใจอะไรอยู่หรือเปล่า คำทักทายนี้ทำให้หันกลับมาใคร่ครวญตัวเองอย่างจริงจังว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตเราหรือ? แม้การดำเนินชีวิตนั้นมีปัจจัยภายนอกที่บีบคั้นกดดันทำให้ทุกข์ แต่ก็เป็นเพียงสาเหตุส่วนหนึ่งของความทุกข์ที่ไม่สามารถควบคุมได้ด้วยตัวเราเอง แต่ยังมีอีกสาเหตุจากปัจจัยภายในตัวเราที่เป็นบ่อเกิดแห่งความทุกข์ทั้งหลาย
สาเหตุภายในที่สำคัญอันหนึ่งก็คือ ความโลภ คือความต้องการทำสิ่งต่างๆ ที่มากเกินพอดี มีหน้างานที่เรียกร้องให้เข้าไปช่วยเหลือดูแลมากขึ้นทุกวัน ทั้งงานที่เต็มใจจะช่วย หรือที่ขัดไม่ได้เพราะความเกรงใจหรือเหตุอื่นๆ การได้ทำงานเหล่านี้ก็ทำให้รู้สึกดีกับตัวเอง เหมือนเป็นนางฟ้าเป็นแม่พระ ลืมมองถึงความเป็นจริงในชีวิตว่าหากเราทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดมากเกินไปชีวิตก็จะขาดสมดุล จากเดิมเป็นนางฟ้าหรือแม่พระก็กลับกลายเป็นนางมารร้ายแทน และการเป็นนางฟ้ากับนางมารนั้นอยู่ใกล้กันนิดเดียว เป็นสภาวะคู่ที่มีอยู่แล้วในตัวเรา
ความคาดหวังสูงและยึดมั่นในผลสำเร็จจนเกินไปก็พบว่าเป็นอีกเหตุหนึ่งที่ทำให้การดำเนินชีวิตขาดสมดุล ด้วยแรงเหวี่ยงของความคาดหวังและความยึดมั่นว่าสิ่งที่ทำจะต้องออกมาดูดี ต้องเนี้ยบ ต้องสมบูรณ์ไม่ผิดพลาด ทำให้กดดันทั้งตัวเองและคนรอบข้าง ให้ทำอย่างสุดกำลังความสามารถ ทุ่มเททั้งเวลา แรงกาย แรงใจไปเต็มเหนี่ยวจนเกินกำลังที่มี พอผิดพลาดพลั้งเผลอก็ไม่เท่าทัน อารมณ์เสียหงุดหงิดโวยวาย สีหน้าท่าทางบ่งบอกถึงความไม่พอใจ เมื่อพิจารณาลงไปลึกๆ แล้วกลับพบว่าเราต้องการหลบหนีความกลัว กลัวจะไม่เป็นที่ยอมรับ กลัวไม่ได้รับความชื่นชม และกลัวว่าชีวิตจะไม่มีคุณค่าเพียงพอ
คงต้องหันกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองอีกครั้งว่าเราจะดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไรให้มีความสุข มีความสมดุลบนความต้องการที่แท้จริง หากการดำเนินชีวิตที่ผ่านไปในแต่ละวันแต่ละปีเปรียบได้กับการเขียนบันทึก บันทึกชีวิตของแต่ละคนก็คงเป็นสมุดเล่มใหญ่ที่มีเนื้อหายาว แต่เราส่วนใหญ่ลืมกลับไปอ่านบันทึกนี้เพื่อทบทวนตัวเอง ทบทวนสิ่งที่ได้กระทำลงไป
หากเราดำเนินชีวิตช้าลงสักนิดใคร่ครวญมากขึ้นสักหน่อย เราคงตั้งสติได้ทัน และพบว่าสิ่งดีที่ควรทำให้โลกนั้นมีมากมาย เราสามารถช่วยได้เท่าที่ช่วยได้ เราสามารถเรียนรู้ได้จากความผิดพลาดพลั้งเผลอ เพียงแค่พร้อมเผชิญความจริงไม่ว่าจะสำเร็จหรือล้มเหลว ยอมรับกับทุกสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยใจ หากเราได้ตั้งใจทำอย่างเต็มที่ดีที่สุดแล้ว
หากมีสติเพียงพอเราก็คงจะเต้นรำไปตามจังหวะของชีวิตที่เร็วบ้างช้าบ้างอย่างสมดุล คงไม่ต้องเต้นเร็วหรือเร่งจังหวะอยู่ตลอดเวลา ซึ่งก็น่าจะมีเวลามากพอที่จะเต้นรำร่วมกับคนที่เรารักและรักเราอย่างสมดุลมากขึ้น ในขณะนั้นชีวิตคงจะมีความสุขและสมดุลมากกว่าที่เป็นอยู่
ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนที่กำลังจะเริ่มต้นเต้นรำไปตามจังหวะชีวิตอย่างรู้ตัว
คงไม่มีคำว่าสายเกินไปหากเรายังมีลมหายใจและพร้อมเริ่มต้นนับจังหวะใหม่ทุกครั้งที่รู้ตัว
Labels: พูลฉวี เรืองวิชาธร