โดย สรยุทธ รัตนพจนารถ
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๐

แดดสีโอโรส (สีส้มอมแดง หรือ orange + rose) ยามอาทิตย์ใกล้จะอัสดงส่องลอดที่กั้นจากไซต์งานก่อสร้างข้างบ้านเข้ามาในห้องทำงาน ปริมาณแสงในห้องที่เปลี่ยนไปเหมือนเพื่อนเข้ามาทักทาย ให้ได้รู้สึกตัวขึ้นมาว่าอยู่ในการทำงานด้วยความคิดเสียนาน แสงจับกับผ้าม่านสีครีมดูนุ่มเย็นตา พอหันไปมองก็ได้พักสายตาจากเครื่องคอมพิวเตอร์ตรงหน้า รู้สึกว่าเพื่อนสีสวยที่อยู่ไกลออกไปหนึ่งร้อยสี่สิบเก้าล้านกิโลเมตรยังทำตัวกลมโตน่ารักเหมือนอยากชวนให้ออกไปเดินเล่น ผมขยับตัวดูรู้สึกถึงความตึงในร่างกายจากการนั่งอยู่กับที่หลายชั่วโมง ให้เหตุผลกับตัวเองว่าน่าจะไปเปลี่ยนอิริยาบถบ้าง นี่ก็วันหยุดสุดสัปดาห์นะ อากาศข้างนอกก็ดี ดูไม่ร้อน ไม่ชื้น แม้อาทิตย์ยังอยู่สูงใช้ได้

อันที่จริงผมมีเหตุผลให้กับการออกไปชื่นชมธรรมชาติเป็นพิเศษอีกข้อ ด้วยว่าวันที่เขียนต้นฉบับนี้เป็นวันพิเศษในรอบปี หลายคนโดยเฉพาะคนเมืองรุ่นใหม่คงไม่ค่อยคุ้นเคยกับวันนี้ อาจเพราะใช้นาฬิกาและปฏิทินบอกเวลากันจนเคย วันนี้เป็นวันที่จุดที่แสงอาทิตย์ตกกระทบทำมุมตั้งฉากกับโลกนั้นอยู่ไปทางซีกโลกใต้และอยู่ไกลจากเมืองไทยที่สุด อยู่เหนือเส้นทรอปิกออฟแคปริคอร์น (เส้นรุ้งที่ยี่สิบสามเศษหนึ่งส่วนสององศาใต้) พอดิบพอดี
ฝรั่งเรียก winter solstice (ตามรากศัพท์คือวันที่พระอาทิตย์หยุดเคลื่อน ซึ่งในฤดูหนาวหมายถึงการหยุดเคลื่อนจุดทำมุมตั้งฉากลงไปทางใต้) ส่วนคนไทยเรียกว่า “เหมายัน” (อ่านว่า เห-มา-ยัน จากรากศัพท์คือการมาถึงของหิมะหรือฤดูหนาว)

ใครที่สังเกตบ้างคงจะเห็นว่าพระอาทิตย์นั้นไม่ได้ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดีเป๊ะทุกวัน ในหน้าร้อนก็จะขึ้นและตกค่อนไปทางเหนือ ส่วนหน้าหนาวอย่างในตอนนี้ ก็จะค่อนไปทางใต้ ดังที่ชาวบ้านเรียกว่า “ตะวันอ้อมข้าว” ข้าวที่กำลังออกรวงโน้มตัวลงต่ำ เหมือนกับจะสอนอะไรบางอย่างให้กับคนที่ปลูกและคนที่กิน

สำหรับคนหลายล้านคนหรืออาจจะถึงพันล้านคน วันนี้ในรอบปีเป็นหมุดหมายสำคัญของการเปลี่ยนผ่าน วันที่กลางวันสั้นที่สุดและกลางคืนยาวนานที่สุด

วันและช่วงนี้มีการเฉลิมฉลองกันทั่วโลก เช่น บรรดาคนจีนไม่ว่าในจีนแผ่นดินใหญ่หรือในไทยวันนี้ต้องฉลองเทศกาลไป่อี๊ ทำขนมบัวลอยหรืออี๊ ที่มีรากแปลว่า การกลับมาเจอกัน การรวมกันใหม่จนครบสมบูรณ์

รวมถึงเทศกาลคริสต์มาส แม้ว่าเป็นวันแห่งการระลึกถึงการมาประสูติของพระเยซู แต่ไม่ได้หมายถึงวันจริงๆในปฏิทิน อาศัยการกำหนดเอา คืนที่รัตติกาลอันเหน็บหนาวและยาวนานเหลือเกินเริ่มหดสั้นเข้า ความอบอุ่นและความสว่างได้ยาตรากลับเข้ามาในวันและคืนหนึ่งๆ มากขึ้น


แต่เอาละ ... ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ผมพาตนเองออกมาเดินเฉลิมฉลองวันนี้แล้วล่ะ ตั้งใจเดินไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้มีจุดหมายอะไร เดินไปยังที่สาธารณะใกล้ๆ บ้าน

วันหยุด ผู้คนดูแจ่มใสกว่าวันทำงาน ออกมาเล่นกีฬากันเยอะ ฟุตบอล บาสเกตบอล เทนนิส เด็กหนุ่มคนหนึ่งซ้อมเทควันโดด้วย

มีคนพาสุนัขมาเดิน มีทั้งพันธุ์โปรดของผม แจ็ครัสเซล เทอร์เรีย จอมซน และเจ้าชิสุ จอมเห่าเก่ง

เดินวนรอบสนามสองรอบ และสระน้ำใกล้เคียงกันอีกสองรอบ หยุดดูเต่าตัวน้อยที่ว่ายน้ำบ้างสลับกับหยุดดูผมบ้างอย่างไม่เร่งร้อนเป็นระยะๆ ผมเดินไปเรื่อยๆ มีลมหายใจเป็นเพื่อนสนิท ไม่ต้องเอื้อนเอ่ยก็บอกเล่าได้ ไม่ต้องตั้งใจฟังก็ได้ยิน

จู่ๆ ก็รู้สึกเหมือนคิดได้ เข้าใจ คลี่คลายกับความยุ่งเป็นลิงแก้แหของการเมือง ไม่ว่าผลเลือกตั้งวันรุ่งขึ้นจะออกมาตรงกับใจตนเองหรือไม่

รอจนพระอาทิตย์สีแดงเหมือนไข่เค็มไชยาเริ่มลับเหลี่ยมอาคารจึงค่อยเดินกลับบ้านอีกทางหนึ่ง ได้ยินเสียงหัวใจกระซิบบอกให้ไปตามทางที่ยังไม่เคยไปบ้าง

ขากลับเห็นเด็กสาวตัวนิดเดียวขี่จักรยานให้คุณพ่อร่างแข็งแรงแบบนักกีฬานั่งซ้อน คงพากันไปออกกำลังกาย ดูน่ารักน่าเอ็นดูจัง

ผ่านช่อดอกไม้หน้าตาคล้ายดอกเล็บมือนางสีแดงสด บนก้านดอกสีเขียวอ่อน แต่อยู่บนต้นที่เหี่ยวแห้งกรอบที่ดูราวกับไม่มีชีวิตแล้ว นัยว่าจะบ่งบอกความจริงอะไรบางอย่าง

เดินมาอีกนิดถึงซอยอารีย์สัมพันธ์ ตรงข้ามกรมประชาสัมพันธ์ เห็นป้ายโปสเตอร์ติดประกาศไกลๆ อยู่อีกฟากของถนน หน้าร้านอาหารปลาดิบ ดูเหมือนงานแสดงศิลปะ อะไรเกี่ยวกับความรักสักอย่างเพราะเห็นคำว่า The ... Side of Love ผมข้ามไปดู

อ้อ The Other Side of Love

ที่แท้เป็นงานชิ้นแรกของชุมชนไซเบอร์ ชื่อ Sawasdee Multiply Community (http://smcharity.multiply.com) พวกเขาลุกขึ้นมาทำสิ่งบางอย่างที่พอทำให้คนอื่นได้ เป็นงานแสดงศิลปะเล็กๆ สะท้อนจิตใจอันยิ่งใหญ่ของคนทำ จัดแสดง (และขาย) ภาพถ่ายเพื่อนำรายได้ไปช่วยผู้ติดเชื้อเอดส์ที่วัดพระบาทน้ำพุ อืมม์ ใครว่าการใช้เวลาว่างต้องเสียเงิน นี่ได้ทั้งเงิน ได้ทั้งเพื่อน ได้ทั้งบุญ ดีจังที่แถวบ้านเดี๋ยวนี้มีงานแสดงศิลปะ ดูเป็นชุมชนและมีสุนทรีย์ขึ้นอีกโข

กลับ “ถึงบ้าน” แม้มีงานที่ทำยังไม่เสร็จ แต่ก็พอใจ วางใจ และภูมิใจกับที่ได้พยายามทำมาทั้งวัน

นึกย้อนไปวันหนึ่งวันนี้ เป็นวันที่เต็มอิ่ม ได้ตื่นแต่เช้าสวดมนต์ภาวนานิดหน่อย ใช้เวลาช้าๆ สบายๆ อยู่กับที่บ้านกับคุณแม่ พี่สาว น้องชาย มีอาหารง่ายๆ แต่สะอาด รสอร่อยจากฝีมือคุณแม่ที่พัฒนามาตลอดเกินกึ่งศตวรรษ บรรจงใส่ใจทุกขั้นตอน ตบท้ายด้วยขนมบัวลอยตามเทศกาล พร้อมเสียงหัวเราะเอิ๊กอ๊ากกัน

ได้เจียดเวลาให้กับงานที่มีความหมายต่อเรา ต่อสังคม และต่อโลกบ้าง

ได้อ่านต้นฉบับบทความจิตวิวัฒน์ฉบับ สคส. ปีใหม่ ๒๕๕๑ ของ อ.ประเวศ พูดถึงความสุขง่ายๆ แต่มีความหมายมากสี่ประการคือ ๑. นิพพานอยู่แค่ปลายจมูกตามสูตรอาจารย์พุทธทาส ๒. การเข้าถึงความจริงสูงสุด ๓. ความสุขจากงานทุกชนิดด้วยปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ และ ๔. ความสุขตามสูตร “ระพี - เสน่ห์ - ประเวศ”

ได้อ่านงานเขียน “ของดีที่ควรหวัง” ของหลวงพี่ไพศาล วิสาโล ที่ว่า “ถ้าเราหวัง ก็ควรหวังให้มีความเปลี่ยนแปลงที่ดีๆ ในจิตใจของเรา มีความต่างกันมากระหว่างการมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นในชีวิต กับการมีความเปลี่ยนแปลงที่ดีๆ เกิดขึ้นในจิตใจ อย่างหลังนี้อาจเกิดขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นกับชีวิตของเราก็ได้” มิน่าเล่าเราถึงรู้สึกวางจิตวางใจกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดายขึ้น

แถมยังได้รับฟอร์เวิร์ดอีเมลจากเพื่อนกลุ่มสื่อสร้างสรรค์ Happy Media ที่เป็นเรื่องชายหนุ่มหญิงสาวคู่หนึ่ง ไปเจอยักษ์จินนี่ในกระป๋องเบียร์ที่มอบพรสามประการ โดยชายหนุ่มขอ “ให้เราพอใจกับสิ่งที่เรามีและมีความสุขกับมัน” แววตาของตัวละครยังอยู่ในใจอยู่เลย

ได้ออกไปเดินเล่นเพื่อเฉลิมฉลองไม่ใช่แต่วันนี้ วันเหมายัน แต่ยังมีวันเทศกาลขนมบัวลอย เทศกาลคริสต์มาส และเทศกาลอื่นๆ อีกนับสิบ

ตอนค่ำได้รับข้อความ SMS จากน้องว่า วันนี้รู้สึกดีที่มีสติได้เลือกใช้เวลาที่มีคุณภาพกับครอบครัว ไม่พยายามทำงานไปใช้เวลากับที่บ้านไป ซึ่งก็ไม่เคยเวิร์กสักที


ย้อนไปในหนึ่งขวบปีก็มีช่วงที่เรามีสุขบ้าง มีทุกข์บ้าง ทันตัวเองบ้าง ไม่ทันตัวเองบ้าง พยายามน้อยไปบ้าง พยายามมากเกินไปบ้าง แต่ก็ในเวลาสบายๆ ของวันธรรมดาปรกติๆ เช่นนี้แหละที่ได้รู้ว่าเราเองก็เรียนจากตนเองก็ได้

นึกขอบคุณคนหลายๆ กลุ่มที่ยังคงพยายามทำในส่วนที่ทำได้โดยไม่หมดหวัง ขอบคุณขา เท้า ร่างกายและใจที่พาตัวเรามาพบกับสิ่งดีๆ ขอบคุณตนเองที่เลือกเดินเส้นทางใหม่ๆ ที่ไม่คุ้นเคยบ้าง ให้โอกาสมองโลกใบเก่าด้วยสายตาคู่ใหม่ จนกระทั่งได้มาพบสมบัติอยู่ใกล้ๆ ข้างหน้านี้เองเรื่อยมา ขอบคุณโลกใบน้อยในจักรวาลที่ยิ่งใหญ่ที่ให้โอกาสทุกคนได้เติบโตบนเส้นทางเรียนรู้

นึกถึงเนื้อเพลงจากหนัง รักแห่งสยาม “ดั่งในใจความบอกในกวี ว่าตราบใดที่มีรักย่อมมีหวัง”

ขอบคุณจริงๆ :-)



โดย สมพล ชัยสิริโรจน์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๐

เมื่อท่านวิจารณ์เห็นใครผ่านมาในชีวิตเรา แล้วพบว่าเขาไม่ครบครันเท่าที่พี่อุดม (คติ) ของเราต้องการ คนๆ นั้นก็กวนใจเรา

หากเราเห็นใครไม่ขยันขันแข็งเท่าพี่ดันในตัวเรา เราก็รำคาญเขา

หากเราพบปะใครที่ชอบท้าทายกฎเกณฑ์ นักสร้างกฎในใจเราก็จะต่อว่ากล่าวหาว่าเขาเป็นพวกขบถ

หากใครเข้ามาในชีวิตของเรา แต่ไม่รู้จักสัมพันธ์กับผู้คนดังเช่นที่ตัวอ่อนหวานเอาใจของเราเรียกร้อง เราก็จะเห็นคนนั้นเป็นคนแข็งกระด้างเย็นชา และอาจจะยัดข้อหาเห็นแก่ตัวให้เขาคนนั้นในทันที

ในทางกลับกันผู้คนก็จะเห็นพี่ดันของเราเป็นพวกเผด็จการ เอาแต่สั่งงานไม่เอาใจใส่ใจคน หรืออาจจะเห็นพี่อุดม (คติ) ของเราจุกจิกจู้จี้เคร่งครัดและเคร่งเครียดไปเลย หรือเห็นตัวตนช่างเอาใจของเรานั้นช่างอ่อนแอเสียเหลือเกิน


ท่านวิจารณ์ (The Inner Critic) ที่ว่านี้ เป็นหนึ่งในตัวตนด้านในที่สำคัญ ที่ก่อตัวขึ้นมาในใจเราเพื่อคอยกำกับดูแลเตือนเราให้สนใจตัวตนด้านในอื่นๆ เช่น

พี่ดัน (The Pusher) ผู้คอยผลักดันให้เรา “ทำ” อะไรต่อมิอะไรเพื่อความอยู่รอดปลอดภัย

คุณอุดม (คติ) (The Perfectionist) ผู้เรียกร้องให้เราทำทุกอย่างโดยไม่มีที่ติ

รวมทั้ง น้องเอาใจ (The Pleaser) ผู้คอยชวนให้เราดูแลเอาใจใส่คนอื่นยิ่งกว่าตัวเราเอง

ท่านวิจารณ์ทำงานใกล้ชิดกับ นักสร้างกฎ (The Rule Maker) หรือคุณ ระเบียบ ผู้คอยจัดตั้งระเบียบและข้อเรียกร้องของใครต่อใครที่เราต้องทำตามไว้ในใจเรา เพื่อให้แน่ใจว่าเราจะรู้สึกกระอักกระอ่วนป่วนใจ เมื่อเราแหกกฎหรือหันหลังให้ระเบียบเหล่านั้นในใจเรา รวมทั้งเพิกเฉยกับเสียงของตัวตนด้านในต่างๆ เราจะเสียความรู้สึกอยู่ลึกๆ

ตัวตนด้านในเหล่านี้ ดร.ฮัล สโตน และ ดร.ซีดรา สโตน ผู้ก่อตั้งวิธีการสนทนาด้านใน (Voice Dialogue Work) ได้ชี้ให้เห็นว่าเป็น ตัวเอก (The Primary Self) ที่ก่อตัวอยู่ในใจเรา เสียงของตัวตนด้านในนี้เป็นเสียงที่คอยช่วยให้เราปรับตัวเข้ากับโลกและผู้แวดล้อมเราที่เราเติบโตมาตลอดชีวิต

แต่เพื่อให้ตัวเอกมีบทบาทมีเสียงในใจเรา เราจำต้องละทิ้งและลดเสียงของตัวตนที่ตรงกันข้ามกับตัวเอกลง รวมทั้งฝังเสียงตัวตนที่เป็นฝ่ายตรงข้ามฝ่ายค้านที่ว่าลงไปในใจลึกๆ ตัวตนที่ถูกทิ้งไปนั้น มีชื่อว่า The Disowned Self

หากย้อนระลึกถึงวันที่ละทิ้งตัวตนขั้วตรงข้ามกับตัวเอกได้ อาจจะช่วยให้เราเข้าใจความกระอักกระอ่วนใจของเราได้ชัดขึ้น

เด็กชายเล็กๆ คนหนึ่งหาญกล้ายกมือตอบคำถามในห้องเรียน แต่กลับตอบผิด เขาถูกครูและเพื่อนๆ หัวเราะเยาะจนอับอาย ในวันนั้นตัวตนของเด็กชาย “กล้าหาญ” พ่ายแพ้ต่อเสียงด้านในของเด็กชาย “อายไว้ก่อน” ที่เคยส่งเสียงในใจเด็กคนนี้ว่า “อย่าซ่านักเลย”

เมื่อเด็กชาย “กล้าหาญ” ถูกประหารด้วยความอับอายที่ครูและเพื่อนยัดเยียดให้ ตัวตนของเด็กชายคนนี้ในวันนั้นจำต้องบอกลา หรือขับไล่ให้หนู “กล้าหาญ” ออกไป เหมือนผู้บัญชาการหน่วยรบที่กำลังล่าถอยต้องยอมสละทหารมือดีจำนวนหนึ่งคอยตรึงข้าศึกไว้เบื้องหลัง และรู้อยู่แก่ใจว่าทหารเหล่านี้จำต้องสละชีวิตเพื่อรักษาให้ทหารส่วนใหญ่รอด

และนั่นคืออาการที่หนู “กล้าหาญ” หลีกทางให้หนู “อายไว้ก่อน” กลายเป็นเสียงของตัวเอกในใจของเด็กชายคนนี้ ในวันนั้นพี่ดันของเขาดันหนู “กล้าหาญ” ออกมาแนวหน้า ถูกตา “อยู่(เฉย)” เอาชนะประหารด้วยเสียงหัวเราะของครูและเพื่อน จากวันนั้น ตาอยู่ (เฉยไว้ก่อน) ก็กลายเป็นตัวเอกของเด็กน้อยคนนี้ หนูกล้าหาญที่ถูกประหารกลายเป็นตัวตนที่ถูกทิ้งไป

ครั้งแล้วครั้งเล่าที่เราจำต้องลดละเลิกโละทิ้งความรู้สึกนึกคิดของเราบางส่วนไว้ เพื่อให้ชีวิตเราอยู่รอดปลอดภัย และส่วนที่เราละเลิกทิ้งโละไปก็ยังฝังใจอยู่ในใจเรา และรอวันที่จะวกกลับมา “เอาคืน”

เด็กชายคนที่เราเพิ่งกล่าวถึง เขามีชีวิตผ่านมาจนกระทั่งวันหนึ่ง เขาเจอเพื่อนหรือใครสักคนที่ “ซ่าและหาญกล้า” ออกนำอยู่แถวหน้า เด็กชายนี้ที่มีตา “อยู่เฉยๆ (ไว้ก่อน)” เป็นตัวเอกคงหมั่นไส้รำคาญเจ้าคนนั้น หรือไม่ก็สยบยอมยกให้เด็กคนนั้นเป็นวีรบุรุษที่ตัวเองไม่มีวันเทียบเท่า

ปฏิกิริยาที่ว่าทั้งสองขั้วเรียกว่า อาการพิพากษาทั้งทางบวกและทางลบ ทางลบกับเราก็รู้สึกว่าตนเหนือกว่าเขา ทางบวกก็รู้สึกว่าตนด้อยกว่าเขา แต่ทั้งสองทางนั้นยืนยันและเตือนให้ระลึกถึงวันนั้นในห้องเรียนต่อหน้าเพื่อนๆ และครู

หนู “กล้าหาญ” ที่ถูกเนรเทศไป ได้กลับมาเตือนความอับอายเจ็บปวด กลับมาทวงที่ทางคืน เมื่อเราเห็นนาย “กล้าหาญ” ในตัวคนอื่น เราจึงพิพากษาเขา แล้วเขาจึงสามารถกวนใจเราได้ ทำให้เรากระอักกระอ่วนป่วนใจ เพราะเราก็ยังไม่ให้อภัยตัวเองที่ไม่รู้จักที่จะกล้าได้อย่างที่เราเคยกล้ามาแล้วอีกสักที หรือให้อภัยตัวเองที่ทอดทิ้งพันธมิตรคนใกล้ชิดของเราไว้ในสนามรบ

และนี่หรือคือที่มาของคำกล่าวที่ว่า “เราทำกับตัวเองเช่นไร เราก็ได้ทำกับคนอื่นเช่นนั้น”

หากจะพูดให้เฉพาะเจาะจงลงไป “เราพิพากษาต่อว่าใครต่อใครอย่างไร เราก็พิพากษาตัวเราอย่างนั้น” หรือเปล่า?



โดย อดิศร จันทรสุข
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๐

ช่วงนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง และเป็นช่วงที่ผมรู้สึกสับสนมากที่สุดกับการเมืองไทยก็ว่าได้ เพราะไหนจะมีทั้งพรรคการเมืองใหม่ๆ ชื่อแปลก ยาว จำยาก ทั้งป้ายหาเสียงที่ขุดกลยุทธพิสดารออกมาใช้กัน มิหนำซ้ำยังมีนักการเมืองบางคนชอบสร้างกระแสด้วยการเล่นปาหี่ต่อหน้าชุมชน บางคนยิ่งแล้วใหญ่ เพราะย้ายพรรคไปมาราวกับเล่นเก้าอี้ดนตรี จากคนที่เคยด่ากันถึงโคตรเหง้าบรรพบุรุษ ก็หันมาจับมือจูบปากกันราวกับไม่เคยมีเหตุบาดหมางใจมาก่อน (สะท้อนตัวอย่างการเป็นเมืองพุทธได้อย่างน่าอัศจรรย์ ในเรื่องความอนิจจัง และการให้อภัย!) ประชาชนตาฝ้าฟางอย่างผมก็เลยสับสน และพาลจะหมดหวังกับประชาธิปไตยในบ้านเราเอาง่ายๆ

เมื่อครุ่นคิดพินิจนึกได้สักระยะ ก็พอจะสรุปได้อย่างหนึ่งว่า สภาพการณ์ที่เป็นอยู่นี้ดูคล้ายกับจะเป็นผลพวงของไวรัสตัวร้ายซึ่งกระจายอยู่ในสภาพบรรยากาศที่เงินตราและอำนาจกลายเป็นสิ่งปรารถนาสูงสุดของมนุษย์ในเวลานี้ ไวรัสตัวที่ว่าดูเหมือนจะมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของจิตสำนึกที่ดูแลการรับรู้ผิดชอบชั่วดีให้สูญเสียไปชั่วคราว บางรายที่อาการหนักก็ถึงกับสูญสิ้นจิตสำนึกไปอย่างถาวร เป็นที่น่าอนาถใจแก่ผู้พบเห็นยิ่งนัก

จะว่าไปแล้ว เราอาจต้องย้อนกลับไปตั้งคำถามเพื่อวิพากษ์แหล่งบ่มเพาะมนุษย์ ตั้งแต่ครอบครัว ไปจนถึงสถาบันการศึกษาว่าทำอย่างไรจึงประสบกับความล้มเหลวซ้ำซ้อนในการผลิตสมาชิก (บัณฑิต) แต่ละรุ่นออกมาโดยปราศจากภูมิคุ้มกันทางจิตสำนึก อันถือได้ว่าเป็นการสูญเสียทรัพยากรบุคคลของประเทศที่มีมูลค่ามหาศาลเกินคณานับ

จิตสำนึกที่ว่านี้ ถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งของคุณภาพภายในที่มนุษย์สามารถสร้างให้เกิดขึ้นได้ ร่วมกับองค์ประกอบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการให้ความหมายอย่างลึกซึ้งต่อสิ่งต่างๆ ในชีวิต การตระหนักและเคารพต่อความรู้สึกนึกคิดของตนเองและผู้อื่น รวมไปถึงการให้คุณค่าและศรัทธาต่อการดำรงอยู่ของชีวิต ซึ่งทั้งหมดนี้ สามารถพัฒนาผ่านกระบวนการอันหลากหลาย การสร้างคุณภาพภายในทั้งหมดนี้เรียกรวมๆ กันว่าเป็น “การพัฒนาทางจิตวิญญาณ” อันเป็นส่วนสำคัญของปรัชญาการศึกษาที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ

น่าเสียดายที่องค์ประกอบดังกล่าวถูกตัดขาดแยกส่วนออกจากระบบการศึกษาในบ้านเรา รวมทั้งในประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลก นับตั้งแต่การเปลี่ยนผ่านของสังคมเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม ที่มาพร้อมกับการให้ความสำคัญต่อการแสวงหาความรู้ในเชิงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อผลิตนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมารองรับการเติบโตของสังคมวัตถุ และกลายไปเป็นเครื่องมือหรือกลไกส่วนหนึ่งของภาคธุรกิจ ที่แผ่ขยายอิทธิพลไปทั่วทุกหัวระแหง ไม่พ้นแม้แต่วงการการศึกษา

ดังนั้น ทุกวันนี้ เราจึงมีระบบการศึกษาที่ตั้งอยู่บนรากฐานของคุณภาพที่พิสูจน์ตรวจสอบได้ สถาบันการศึกษา โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษาต้องผันตัวเองมาเป็นสถาบันเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ โดยมีนโยบายที่ให้ความสำคัญต่อสัมฤทธิผล ความคุ้มทุน และความต้องการของตลาดแรงงานเป็นสำคัญ ดังเช่นที่ คริสติน่า เมอร์ฟี่ คณบดีวิทยาลัยศิลปศาสตร์ และศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยมาร์แชล มลรัฐเวสต์ เวอร์จิเนีย ได้กล่าวไว้ในบทความ The Academy, Spirituality, and the Search for Truth จากวารสาร New Directions for Teaching and Learning ฉบับที่ 104 ปี 2005 ว่า

“... สถาบันอุดมศึกษาได้เปลี่ยนจุดเน้นจากการสร้างชุมชนอุดมคติที่สมาชิกยึดถือคุณค่าบางอย่างร่วมกัน อันเป็นต้นทางนำไปสู่การพัฒนาปัญญา คุณธรรม และจิตวิญญาณ ให้กลายไปเป็นสถาบันธุรกิจที่ดำเนินการบนฐานของการค้ำจุนทุนนิยมและการป้อนคนสู่ตลาดแรงงานแทน”

ผลที่เกิดจากระบบธุรกิจดังกล่าว คือบัณฑิตฉบับกระป๋อง ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากโรงงานการศึกษาว่าสามารถปฏิบัติงานได้อย่างแม่นยำ และรอบรู้ในเรื่องที่จำเป็นต่อหน้าที่การงาน เมื่อใดที่ต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตทางจริยธรรม พวกเขาเหล่านั้นก็จะปล่อยให้กระแสเงินตราและอำนาจเข้าครอบงำการตัดสินใจ ไร้ซึ่งความละอายและเกรงกลัวต่อบาป ไม่สามารถแยกแยะระหว่างความดีและความชั่วได้ ที่ร้ายกว่านั้นก็คือ พวกเขาบางคนได้กลายมาเป็นนักการเมืองที่มีบทบาทสำคัญต่อการกำหนดวิถีชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ?!?

ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ได้เคยปาฐกถาไว้ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2540 เกี่ยวกับแนวคิดความเป็นบัณฑิตหรือมนุษย์ที่สมบูรณ์ว่า บุคคลผู้นั้นควรจะต้องมีคุณสมบัติในการเข้าถึงความจริงของสิ่งต่างๆ เพื่อให้สามารถปฏิบัติต่อชีวิตและสังคมได้อย่างถูกต้อง จนค้นพบหนทางพ้นทุกข์ ประสบความสุข และบรรลุอิสรภาพได้ในที่สุด อาจนับได้ว่าสอดคล้องกับแนวคิด liberal arts หรือศิลปศาสตร์ในสมัยโบราณทั้งในประเทศตะวันตกและตะวันออก ที่มุ่งเน้นการศึกษาเพื่อยกระดับจิตใจของผู้เรียนให้หลุดพ้นหรือเป็นอิสระจากอวิชชา ผ่านกระบวนการพัฒนาและขัดเกลาทางจิตวิญญาณในรูปแบบต่างๆ นั่นเอง

บางทีในช่วงเวลาที่การเมืองกำลังร้อนระอุอยู่เช่นนี้ อาจเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้หันกลับมาตั้งหลักทบทวนกันอย่างจริงจังเสียทีว่า ถ้าเราต้องการสร้างสังคมที่มนุษย์มีความเข้มแข็งทางจิตวิญญาณ และมีจิตสำนึกที่มั่นคงพอต่อการประคับประคองประเทศชาติให้ผ่านพ้นภาวะวิกฤติ ทั้งที่เกิดขึ้นแล้ว และที่กำลังจะเกิดขึ้นตามมาอีกหลายระลอก การต้องเลือกระหว่างการผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ (รวมทั้งทักษะ) ท่วมหัว แต่เอาตัวไม่รอด กับบัณฑิตที่ถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ บัณฑิตแบบไหนที่เป็นจะกลายเป็นขุมพลังของประเทศชาติอย่างแท้จริง?

การมองย้อนทบทวนรากเหง้าและภูมิปัญญาในยุคโบราณ คงไม่ได้เป็นไปเพื่อการเรียกร้องวันเวลาเก่าๆ ให้คืนย้อนมา แต่น่าจะเป็นการแสวงหาคุณค่าแท้อันเป็นสมบัติร่วมของมนุษยชาติที่จะพาให้พวกเราก้าวข้ามไปสู่อนาคตได้

เผื่อว่าบางที เราอาจจะมีนักการเมืองดีๆ ที่เป็นความหวังของสังคมในรุ่นต่อไปได้เสียที



โดย ธนัญธร เปรมใจชื่น
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๕๐

จินตนาการอันฝันเฟื่องของเรานี้ กำลังถูกระบายไปหลายหลากสี ตามแต่สิ่งที่เราต่างบ่มเพาะและซึมซับ ทั้งโดยรู้ตัวและที่ไม่ทันตั้งตัว ละครที่เราเฝ้าติดตามชม จบไปแล้วหลายเรื่องหลายตอน แต่ใยตัวเรายังคงเล่นบทเก่าเดิมๆ อยู่ทุกวี่วัน บอกตนเองซ้ำๆ ว่าเราเป็นได้แค่นี้ ทำได้เท่านี้ จนกลายเป็นบทสรุปบทบาทชีวิตที่เราหลงเข้าใจไปแล้วว่ามันคือทั้งชีวิตของเรา หรืออีกนัยหนึ่งนั้น เรากลายเป็นผู้ประพันธ์บทที่ขลาดกลัวเกินไปที่จะรังสรรค์บทใหม่ๆ ให้กับตนเอง

ปิดโทรทัศน์ซะ หากมันกำลังทำให้คุณสูญเสียเวลาอันมีค่าในการได้ใคร่ครวญตน หากมันกำลังทำให้คุณเพียงฝันเฟื่องและหลงใหลไปกับบทตอนเหล่านั้น แม้แต่นักแสดงที่คุณคลั่งไคล้ ก็อาจมีชีวิตด้านในที่ไม่แตกต่างจากคุณนัก คือ เล่นไปตามบทที่มี เป็นชีวิตที่ยังคงจมอยู่กับบทเก่าๆ อันซ้ำซาก จนมันกลายเป็นอัตโนมัติของความคุ้นชิน สิ่งต่างๆ ถูกจำกัดไว้ในแบบเดิม กลายเป็นกรอบ เป็นกำแพงของข้อจำกัดมากมายที่เราไม่กล้าก้าวออกไป

จริงอยู่ว่า มันอาจจะง่ายกว่าที่จะเลือกเล่นไปตามบทเดิมๆ ที่บอกป้อนกับตนเองตลอดชีวิตที่ผ่านมา เดินไปตามบทสรุปที่ทั้งเราและสังคมร่วมกันวางข้อกำหนด ลองใคร่ครวญดูหน่อยเป็นไรว่า หากเรายังติดยึดกับกรอบและบทบาทที่เป็นอยู่นี้ร่ำไป ชีวิตเราก็เหมือนติดกับ ขยับเขยื้อนเลื่อนไหลไม่ได้ มีเพียงวิธีคิดชุดเดิม มุมมองต่อโลกรอบตัวในแบบเดิมๆ ให้กับชีวิต หูของเราก็รับรู้เพียงเสียงของสังคมที่กดทับเสียงตัวตนภายในของเราอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ทั้งที่ปัญหาที่ดาหน้าเข้ามาให้เผชิญนั้นก็แตกต่างกันไป ในขณะที่เครื่องมือที่เรามีก็เป็นกรอบคิดเก่าที่จำกัดตัวเองไว้อย่างคับแคบ เสียงตัวตนภายในของเรานี้นับวันก็ยิ่งเบาบางลง เพราะหวาดหวั่นต่อความถูก-ผิด ที่มิได้เกิดจากสำนึกภายในอย่างแท้จริง นี่ยังไม่นับรวมพฤติกรรมอันบิดเบือนที่เรามีต่อโลกรอบตัว ในการสร้างภาพลักษณ์ให้เห็นว่า เราคือความถูกต้องดีงาม จนปิดการรับรู้ความจริงแท้ของตนเองจากโลก

ความถูก-ผิด ที่เราผูกยึดโยงตนกับกรอบคิดอันจำกัดที่มีนี้ ไม่เพียงสะท้อนภาพลักษณ์ที่บิดเบือนแก่ตัวเราเอง แต่ยังนำพาเราให้แลเห็นผู้อื่นเพียงภาพลักษณ์ภายนอก ซึ่งมิอาจบ่งชี้ความจริงแท้ของตัวตนอื่น เราจึงพบแต่ความคับข้องใจ ความไม่สมบูรณ์ในภาพลักษณ์ของผู้อื่นที่แตกต่างไปจากภาพลักษณ์ที่เป็นบทสรุปของชีวิตเรา เราวิพากษ์วิจารณ์ ตำหนิติเตียนผู้อื่น ราวกับภาพลักษณ์ที่เรามีนี้เป็นบรรทัดฐานที่ถูกต้อง ดีงาม ทั้งที่แท้จริงแล้วเขาอาจแค่ยืนอยู่เหนือขีดจำกัดที่ตัวเรานี้ มิอาจเป็นได้ตามที่ควรจะเป็น เรามักอ้างถึงตัวตน และความเป็นธรรมชาติของตัวเรา แล้วเคยตั้งคำถามกับตัวเองไหมว่า ตัวตนจริงๆ หรือธรรมชาติที่แท้จริงของตัวเรานี้เป็นอย่างไร? เพราะหากเรารู้จักตัวตนที่จริงแท้ของตนเองแล้ว เราก็น่าจะรับรู้ได้ว่า ... เราเกิดมาทำไม? การเกิดมาของเรานี้มีภารกิจใดต่อโลกบ้าง? อย่างน้อยก็คงไม่ใช่เพื่อมาติดอยู่กับข้อจำกัดมากมาย เวียนว่ายอยู่ในความสุขจอมปลอมที่เราเข้าไปนัวเนียจนตัวเราทุกข์อยู่ทุกวันนี้ ก็ช่างเวทนาเหลือเกิน ที่เราทำงานอย่างหนัก บ้างก็ทำอย่างบ้าคลั่ง เพียงเพื่อจะมีความสุขกับเครื่องอำนวยความสะดวกทั้งหลาย และการบันเทิงเริงใจในคืนวันศุกร์และเสาร์ แล้วก็พาตนมาคร่ำเคร่งอีกในสัปดาห์ต่อมา

ทุกวันนี้เราต่างได้รู้จักกระบวนการผลิตละครที่เราดูมากขึ้น เราชื่นชมผู้สร้างสรรค์เหล่านั้นราวกับพวกเขาเป็นบุคคลพิเศษ ที่เกิดมาเพื่อสิ่งเหล่านี้ โดยหลงลืมไปว่า ตัวเรานี้เองก็สามารถปั้นแต่งบทบาทใหม่ให้เกิดขึ้นในชีวิต

หากเราเอาเวลาที่เรามีอยู่น้อยนิดนี้มาใคร่ครวญตน เราอาจจะได้ยินเสียงอันแท้จริงของตัวเรา เสียงของความปรารถนาที่จะมีชีวิตที่สุขสงบโดยมิจำต้องเป็นนักบวชแต่อย่างใด เราอาจได้ยินเสียงความปรารถนาของลูก เสียงของความรักจากผู้เป็นที่รัก (แม้เขาเองก็ยังอยู่ในวังวนแห่งทุกข์) เราน่าจะพบว่าการมีชีวิตที่ดีงามนั้นเรียบง่ายกว่าที่เราพยายามอยู่นี้เหลือคณา

เมื่อดวงตาของเราเปิดกว้างพอ เราจะแลเห็นบทใหม่ ที่จะนำพาตัวเราสู่ความเป็นมนุษย์ที่แท้ และขอให้มอบบทบาทใหม่นั้นแก่ตน ผ่านการใคร่ครวญซ้ำๆ จนมันประทับอยู่ในหัวใจดวงน้อยของเรานี้ จนเราค่อยๆ เปลี่ยน แต่การเปลี่ยนแปลงของเรานี้ภายใต้ร่องชีวิตเดิมๆ ที่เราคุ้นชิน และเล่นกับมันจนเป็นอัตโนมัติ นอกจากเราจะต้องช้าลงแล้ว เราจำต้องสร้างผู้กำกับบทบาทใหม่ให้เกิดขึ้นที่ภายในจิตของเรา ให้ผู้กำกับช่วยดูแลวินัยในการปรับเปลี่ยนตนของเรานี้ ในขณะที่เราเองก็น้อมตนเพื่อจะโลดเต้นไปในบทตอนใหม่ของชีวิต ที่เราเป็นผู้ลิขิตบทบาทนี้แก่ตัวเราเอง เป็นความดีงามที่เราเลือกสรรแก่ตนเอง

ความอัศจรรย์ของชีวิต คือการที่เราได้เป็น ได้ฝัน ได้ลงไม้ลงมือกระทำด้วยตัวเราเอง ได้ร่วมภาคภูมิใจกับชีวิตของตนเอง การเฉลิมฉลองแห่งชีวิตเป็นสิ่งที่พึงกระทำยิ่ง และสามารถทำได้บ่อยครั้ง แม้แต่ยามที่เราอยู่เพียงลำพัง ทั้งนี้การเฉลิมฉลองอาจไม่ได้หมายรวมการเสพอันขาดสติใคร่ครวญ เราอาจจะหลุดจากบทที่เพียรกำกับทันทีทันใดที่เราหลุดจากจิตที่หล่อเลี้ยงสติแห่งการใคร่ครวญ

ครูละครท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่า นักละครที่ดีต้องเป็นดั่งดินเหนียวที่พร้อมจะถูกสร้างสรรค์ปั้นแต่งได้ไปตามบท ความยืดหยุ่นของดินเหนียวที่ครูกล่าวถึงนี้ คงมิใช่เพียงกายเท่านั้น แต่อาจหมายรวมถึงจิตใจของเราด้วย ณ ขณะที่ฉันกำกับ ฉันก็พบว่าฉันเองต้องเรียนรู้ร่วมไปกับเด็กๆ ของฉัน เด็กน้อยทั้งหลายที่ดำรงอยู่ภายในของเรานี้

หยุดตัดบทชีวิตของตน ด้วยคำง่ายๆ ที่เราเคยยึดโยงไว้อย่างขาดการตื่นรู้นั่นเสีย และการเปลี่ยนแปลงชีวิตก็ยืนอยู่เหนือข้อจำกัดของวัยและเวลา ยิ่งเราแข็งขืนชีวิตกลับยิ่งยาก ก็ในเมื่อเราเดินตามบทเก่าๆ มาทั้งชีวิต แต่ไม่อาจข้ามผ่านโจทย์ที่มีเข้ามาอย่างหลากหลายในแต่ละวันได้ ทำไมจะไม่ลองสร้างบทใหม่ให้กับชีวิตของตนเองเล่า แล้วเราจะได้เฉลิมฉลองให้กับชีวิตของเราในทุกขณะที่เราดำเนินไป ตลอดจนความหมายใหม่ที่เรามีต่อโลกใบนี้ ที่เราเป็นผู้ค้นพบมันด้วยตัวของเราเอง ... ขอพลังและศรัทธานี้ดำรงอยู่กับหัวใจของเราทุกดวง



โดย สมพล ชัยสิริโรจน์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๕๐

“ใครสักคนพูดจาฟังดูแล้วไม่ถนอมน้ำใจคนเลย” อาจจะเป็นเพราะตัวเอกของเรายึดถือว่า คนเราต้องพูดจาระมัดระวัง “ใครสักคนดูไม่รับผิดชอบเอาซะเลย” อาจจะด้วยว่า ตัวเอกของเราบอกว่า คนเอาไหนต้องรู้จักเคร่งครัดกับหน้าที่ “ใครสักคนดีแต่สั่งไม่เคยรับฟัง” เป็นไปได้ว่าตัวเอกคอยกำชับเราว่า จะทำอะไรกับใครต้องให้ทุกคนมีส่วนร่วม “ใครสักคนเห็นแก่ตัวสุดๆ” ด้วยเสียงตัวเอกคอยบอกว่าคนเราต้องรู้จักเสียสละเอาใจใครต่อใคร ... ถ้าหากเราจะแขวนลอยห้อยคำถามว่า ใครผิดใครถูกไว้สักชั่วครู่ เราอาจจะได้ยินเสียงเบาๆ อีกเสียงว่า “ไม่ต้องระมัดระวังนักก็ได้” “ไม่ต้องเคร่งครัดเสมอๆ หรอก” “ไม่ต้องคอยใครต่อใครให้เห็นด้วยนัก” และ “ไม่ต้องเสียสละหรือเอาใจใครสักวันได้ไหม” ... เสียงของตัวเอกที่ยกมาคือเสียงของตัวตนด้านในที่ ดร.สโตนเรียกว่า Primary Self ตัวพระเอกหรือนางเอก ที่เราได้แสดงในชีวิตเราแล้วใครต่อใครก็ยอมรับและหรือช่วยเราให้รอดในโลกที่เราเติบโตผ่านมา

ส่วนเสียงเบาๆ ที่เราได้ยินไม่ค่อยชัดนัก มักมาจากตัวตนด้านในที่ถูกละทิ้งไป ที่เรียกว่า Disowned Self ซึ่งมีบุคลิกและพฤติกรรมเป็นขั้วตรงกันข้ามกับตัวเอกของเรา เพราะขณะที่ตัวเอกสามารถทำให้เราอยู่รอดในโลกได้ ตัวตนด้านในที่ตรงกันข้ามกับตัวเอกนั้นทำให้เราไม่ปลอดภัย ไม่เป็นที่ยอมรับ อับอาย และเจ็บปวด

ผู้คนที่กวนใจกวนโมโหเรา รวมทั้งคนที่เรารู้สึกขาดเขาไม่ได้นั้น ต่างก็มีตัวตนที่ถูกทิ้งของเราอยู่ในมือของเขา และอาการรำคาญกวนใจของเรานั้นเป็นกุญแจเปิดให้เราได้เห็นกระจกเงาบานใหญ่ที่ส่องให้เห็นตัวตนที่เราละทิ้งหลงลืม แต่ยังทรงพลังอยู่ในตัวเรา และสำแดงพลังนั้นออกมาในอาการกระอักกระอ่วนป่วนใจทุกข์ร้อนที่เรามีกับผู้คนรอบข้าง

หากเราลองแวะเข้าไปสำรวจดูความสัมพันธ์ระหว่าง ตัวเอกกับตัวที่ถูกทิ้งของเราไปว่าเขาอยู่กันอย่างไร ตัวตนด้านในของเรานั้น “ใคร” คุม “ใคร” ในใจเรา เราอาจจะเห็นพลังที่ซ่อนเร้นและที่มาของอาการรำคาญกวนใจของเราได้

หากเปรียบเทียบว่าบุคลิกทางจิตของเราเป็นละคร เราเป็นนักแสดงที่ต้องเล่นตามบทบาทที่เราได้รับ แต่ตัวเอกของเราบอกบทของเขาให้เราเล่น และหากใครจะบอกบทที่ต่างจากตัวเอกตัวนี้ เจ้าตัวเอกที่ว่าก็ไล่คนบอกบทที่ต่างออกไปนั้นลงจากเวที และคอยกำกับให้เราเล่นเฉพาะบทที่ตัวเอกต้องการ ตัวตนที่ถูกไล่ลงจากเวที ยังวนเวียนอยู่หลังฉากและอยู่ในหมู่คนดูคอยเอาคืน หรือหาทางหวนคืนเวที

ตัวตนด้านในเหล่านี้มิใช่เป็นเพียงอุปมาอุปไมย แต่ดำรงอยู่จริงโดยก่อร่างสร้างตัวเป็นพลังสะสมสะท้อนความรู้สึกนึกคิด อารมณ์รวมทั้งการแสดงออกต่างๆ ในเนื้อในตัวในความทรงจำของเรา และเขามีชีวิตของเขามีความต้องการของเขา มีอาการทุกข์สุขของเขาเป็นตัวตนอยู่ในจิตไร้สำนึกของเราอย่างแนบเนียน จนเรานึกว่าเราเป็นได้เท่าที่เขาเป็น เราต้องการได้ตามที่เขาต้องการ และทุกข์สุขไปได้แค่พอๆ กับเขา แล้วเราปล่อยให้ตัวตนด้านในเข้าควบคุมเราโดยที่เราไม่รู้เนื้อรู้ตัวและรู้ทัน ทั้งที่ตัวเรามีศักยภาพที่จะกำหนดชีวิตเราได้มากกว่าเขายิ่งนัก

เราจะมาพิจารณาตัวตนด้านในที่สำคัญๆ เหล่านี้ นายแพทย์สกล สิงหะ แห่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ตั้งชื่อตัวตนตัวเอกสำคัญๆ ของดร.สโตน เป็นภาษาไทยที่เข้าใจได้ง่าย ซึ่งขอยกมาเปิดตัวไว้ ณ ที่นี้ได้แก่

ตัวอ่อนหวานเอาใจ (The Pleaser) ตัวตนนี้มีมาตั้งแต่เราเกิด ก่อนที่เราจะรู้ภาษาพูดซะด้วยซ้ำ ตัวช่างเอาใจนี้รู้ดีว่าทำอย่างไร จึงจะทำให้ใครต่อใครยอมรับและพอใจในตัวเรา หากเป็นเด็กก็รู้ว่าจะร้องอย่างไรจึงจะได้นมกินได้เสียงหัวเราะและรอยยิ้มตอบสนอง เมื่อเติบโตขึ้นมาก็รู้ว่า ต้องรู้จักพูดจาพินอบพิเทาอย่างไร ผู้อาวุโสกว่าจะเอ็นดู รวมทั้งต้องเอาใจใครต่อใครอย่างไรให้เขารู้สึกดีดีกับตัวเรา ตัวตนนี้เชื้อเชิญให้เราประนีประนอมกับผู้คนจนบางครั้งเราแทบจะไม่มีที่ยืน

ตัวสร้างกฎ (The Rule Maker) ตัวนี้ ในการปรับตัวเข้ากับโลก ตัวสร้างกฎจะคอยกำชับเราให้ทำตามกฎและคำสั่งที่เราเคยได้รับ ไม่ฉี่รดที่นอน จนไปถึงไม่ซุกซน ไม่ด่าทอต่อว่า ไม่ดื้อ ไม่มาสาย ไม่เหม่อลอย ไม่โง่ และคำสั่งอื่นๆ ที่เราได้รับจากผู้คนผู้หวังดีต่างๆ นานาในชีวิต และตัวสร้างกฎจำได้แม่นยำว่า ผลลัพธ์ของการแหกกฎนั้นเป็นเช่นไร ดังนั้นเสียงใดที่คอยยุให้เราขบถลดบทบาทของกฎเกณฑ์ลง ตัวตนเจ้าของเสียงขบถจะถูกผลักให้ลงจากเวที

พี่ดัน (The Pusher) ชีวิตของเรามิได้คอยตั้งรับปรับตัวเท่านั้น แต่พี่ดันจะผลักดันให้เราทำตามข้อเรียกร้องของใครใคร ให้ทำตามมาตรฐานที่สังคมทั้งในครอบครัว ในโรงเรียนในที่ทำงานกำหนด และดันให้ทำจนกว่าเราจะสำเร็จ ไม่เสร็จไม่เลิก ถึงเลิกทั้งๆ ที่ไม่สำเร็จก็จะกินไม่ได้นอนไม่หลับกระสับกระส่าย

พี่อุดมคติ (The Perfectionist) เมื่อลงมือทำแล้วต้องทำให้สมบูรณ์แบบที่สุดจนหาที่ติไม่ได้ ทำแล้วทำไม่ดี ทำไปทำไม เสียงของพี่อุดม(คติ)จะดังก้องทำนองนี้ พี่อุดมต้องการความสมบูรณ์แบบ น้อยกว่านี้ได้อย่างไร เสียงของใครขวางทางให้ยืดหยุ่นประนีประนอม พี่อุดมคงจะเห็นว่า “ชุ่ย” แล้วไล่ไปอยู่หลังฉากหลังเวทีได้ทันที

ท่านวิจารณ์ (The Inner Critics) เป็นนายใหญ่ของหมู่เหล่าตัวเอกที่กล่าวมาแล้ว ท่านวิจารณ์มีหน้าที่คอยวิจารณ์กำกับและตักเตือนเราทั้งยามตื่นและเข้านอนว่า เราทำพอหรือยัง เราเอาใจใครต่อใครมากพอไหม เราทำได้ดีแค่ไหน เรามุ่งมั่นทำหรือยัง ถ้ายังไม่พอ ทำไมไม่พอ หรือพอแต่ยังไม่ดี หรือดีแต่ยังดีไม่พอ ท่านวิจารณ์ก็จะเตือนเราให้ระวังว่า ใครต่อใครจะตำหนิเราหรือเห็นเราไม่เอาไหน แต่เมื่อเราทำอะไรสำเร็จอย่างสมบูรณ์แม้นจะยากลำบากเพียงใด กลับได้ยินเสียงวิจารณ์พาดผ่านแว่วๆ มาว่า “ไม่ดีอย่างที่คิด” เป็นต้น เสียงของท่านวิจารณ์ประสานกับเสียงของตัวเอกทั้งหลายคือที่มาของอาการ “กวนใจ” ของเราทั้งสิ้น

เมื่อท่านวิจารณ์เห็นใครผ่านมาในชีวิตเราแล้วไม่ครบครันเท่าที่พี่อุดม(คติ)ของเราต้องการ คนๆ นั้นก็กวนใจเรา หากเราเห็นใครไม่ขยันขันแข็งเท่าพี่ดันในตัวเรา เราก็รำคาญเขา หากเราพบปะใครที่ชอบท้าทายกฎเกณฑ์ นักสร้างกฎในใจเราก็จะต่อว่ากล่าวหาเขาเป็นพวกขบถ หากใครเข้ามาในชีวิตของเรา แต่ไม่รู้จักสัมพันธ์กับผู้คน เช่นที่ตัวอ่อนหวานเอาใจเราเรียกร้อง เราก็จะเห็นคนนั้นเป็นคนแข็งกระด้างเย็นชา และอาจจะยัดข้อหาเห็นแก่ตัวให้เขาคนนั้นในทันที

ในทางกลับกันผู้คนอาจจะเห็นพี่ดันของเราเป็นพวกเผด็จการ เอาแต่สั่งงานไม่เอาใจใส่ใจผู้คน หรืออาจจะเห็นพี่อุดม(คติ)ของเราจุกจิกจู้จี้เคร่งครัดและเคร่งเครียดไปเลย และเห็นตัวตนช่างเอาใจของเรานั้นช่างอ่อนแอเสียเหลือเกิน

ครั้งแล้วครั้งเล่าที่เราปล่อยให้ตัวตนตัวเอกในตัวเรา “คุม” ความสัมพันธ์ของเราโดยพิพากษา “ใครใคร” อย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว จนเรารู้สึกว่าเราแวดล้อมด้วยผู้คนที่ไม่พึงปรารถนา และน่าหงุดหงิดกวนใจไปเสียหมด อันที่จริงแล้วหากเราดูแลแยกแยะเสียงของตัวเอกออกจากเสียงของตัวเราแล้ว เราอาจจะพบกระบวนการที่ดูแล อาการกวนใจเหล่านี้ให้ไม่รุนแรงนัก และอาจจะพลิกผันอาการทุกข์โศกที่เรามีกับผู้คนเป็นหนทางเดินด้านในเข้าหาการตื่นรู้ก็ยังเป็นได้

กระบวนการเรียนรู้เสียงของตัวตนด้านใน คือที่มาของ Voice Dialogue Work (VDW) ที่ช่วยให้เราแยกแยะและเก็บเกี่ยวเอาความสามารถทางจิตของเราที่หล่นหายให้กลับมาอยู่ในมือเรา แถมช่วยให้โดนกวนใจน้อยลง ... มั้ง

Newer Posts Older Posts Home