โดย วิธาน ฐานะวุฑฒ์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๑

เวลาสร้างสนามกอล์ฟนั้น หนีไม่พ้นที่จะต้องมีการเคลื่อนย้ายต้นไม้ใหญ่ๆ ซึ่งจำนวนมากน้อยแค่ไหนก็จะแตกต่างกันไปตามแปลนของสนาม เพื่อปรับสภาพภูมิทัศน์ให้เหมาะสมกับเส้นทางของเกมกอล์ฟตามที่คนออกแบบสนามกำหนดมา

โดยเผินๆ คนทั่วไปก็จะมองไม่ออกหรอกครับว่า ต้นไม้ต้นไหนเป็นต้นที่ย้ายมา ต้นไหนเป็นต้นดั้งเดิมที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ เพราะดูเผินๆ ก็จะเป็นต้นไม้เหมือนๆ กัน กระจายอยู่ทั่วไปในสนามกอล์ฟ ต่อเมื่อมีพายุใหญ่พัดเข้ามา เราจึงจะเห็นได้อย่างชัดเจนเลยว่าต้นไม้ต้นไหนเป็นต้นที่ย้ายมา เพราะต้นที่ย้ายมานั้นจะเป็น “ต้นไม้ที่ไม่มีราก”

“ต้นที่ไม่มีราก” หยั่งลึกนั้นจะล้มระเนระนาดเต็มไปหมดเวลาเจอพายุใหญ่

ในเวิร์คช็อพ ผมให้ผู้เข้าร่วมสองคนยืนข้างๆ กัน แล้วผลัดกันอ้อมมือไปแต่ที่กระดูกหน้าอกของอีกคนหนึ่ง ค่อยๆ ออกแรงดันที่มือและสังเกตแรงที่ใช้ในการดันให้ลำตัวของเพื่อนโยกไปด้านหลัง จากนั้นผมก็จะแนะนำให้ผู้เข้าร่วมรู้จักกับ “การมีราก” ด้วยการสอน “กราวดิ้ง” คราวนี้เมื่อให้ผู้เข้าร่วมออกแรงดันในขณะที่ “ยืนแบบมีราก” ทุกคนก็จะพบความแตกต่างระหว่างการยืนสองแบบอย่างชัดเจน

มนุษย์ในสังคมปัจจุบันก็คล้ายกันมากกับต้นไม้ครับ ดูเผินๆ ก็ดูไม่ออกหรอกนะครับว่า คนไหนมีรากหรือคนไหนไม่มีราก

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทำงานในโรงพยาบาลหรือสถานีอนามัย ก็มุ่งหวังให้คนไทยมีสุขภาพดี ให้ผู้ที่มารับบริการเมื่อเจ็บป่วยได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด แต่พอทำงานไปสักพัก มีหลายๆ เรื่องที่พัดแรงเข้ามาในชีวิตการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นความเครียดความกดดันจากการทำงาน เรื่องสามสิบบาท เรื่องประกันคุณภาพ เรื่องฟ้องร้องหรือเรื่องใดๆ ก็ตาม “คนที่มีราก” ก็จะยังคงสามารถมั่นคงกับการทำงานเพื่อให้คนไทยมีสุขภาพดี

“ไม่ใช่ทำงานเพียงเพื่อให้สถานบริการทางสาธารณสุขดูดี”

“คนรากลอย” จะหลงประเด็นว่าตัวเองกำลังทำงานอะไรอยู่ หลงไปทำงานเพียงเพื่อให้สถานบริการดูดีหรือมีคุณภาพ โดยที่ไม่ได้ใส่ใจว่า คนที่มารับบริการจะมีสุขภาพดีขึ้นตามจุดประสงค์ของการตั้งโรงพยาบาลหรือสถานบริการแห่งนั้นขึ้นมาหรือไม่

เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ตั้งระบบอีเอ็มเอสขึ้นมา จุดประสงค์หลักเพื่อให้คนรับจดหมายหรือพัสดุได้รับของที่ส่งทางไปรษณีย์ได้ “รวดเร็วที่สุด” เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ที่มีราก ก็จะมั่นคงกับการส่งของให้ถึงมือผู้รับได้อย่างสะดวกและรวดเร็วที่สุด เช่น ถ้ารอบนั้นของการส่งพัสดุมาส่งแล้วบ้านผู้รับของยังปิดอยู่หรือไม่มีใครอยู่บ้านก็จะยังคงพยายามวนเวียนส่งพัสดุอยู่หลายๆ รอบ หรืออาจจะฝากไว้กับคนข้างบ้านแล้วจะยังคงแวะเวียนมาตรวจสอบดูว่าเจ้าของบ้านเปิดหรือยัง

เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ที่ไม่มีรากก็อาจจะลืมวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของอีเอ็มเอสว่าตั้งขึ้นมาเพื่ออะไร เพียงแค่ขอให้ตัวเองทำงานเสร็จ หมดหน้าที่ตรงนั้นของตัวเอง ก็เลือกที่เขียนเป็น “ใบรับของ” ทิ้งไว้ให้ การทิ้งใบรับของไว้ให้นั้นเพียงทำให้เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ได้รู้สึกว่าตัวเองทำหน้าที่ได้รวดเร็วตรงตามเวลาทั้งๆ ที่คนรับพัสดุยังไม่ได้รับของ

การเข้าใจถึง “รากหรือแก่น” ของการทำงานแต่ละชนิดแต่ละอย่างจึงมีความสำคัญมาก ที่ยกตัวอย่างมานั้นเป็นเพียงอาการเริ่มต้นของการไม่มีราก ถ้าอาการหนักหนาสาหัสมากขึ้น

เช่น เรามักจะเกิดคำถามขึ้นมาเสมอๆ ว่า เอ๊ะ ทำไม คนๆ หนึ่งที่เราเคยคิดว่าเขาเป็นคนดี หรือเป็นคนเสียสละที่ทำอะไรเพื่อสังคม แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไป เขาเติบโตมีชื่อเสียงหรือมีตำแหน่งที่การงานที่ก้าวหน้าแล้ว อยู่ๆ “เขาก็เปลี่ยนไป” กลายเป็นคนที่เห็นแก่ตัว เห็นแก่เงิน หรือทำอะไรเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง หรือบางคนบางองค์กรแต่เดิมก็ทำงานกันอย่างดีๆ เพียงแค่เริ่มมีผลประโยชน์มีเงินมีทองมีสรรเสริญ เข้ามาเกี่ยวข้อง ก็เริ่มมองเห็นแก่ผลประโยชน์มองเห็นแก่ลาภยศสรรเสริญเหล่านั้น มากกว่างานดีๆ ที่ได้กระทำมา

เราก็จะเกิด “ความผิดหวัง” แบบนี้เสมอๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า กับคนแล้วคนเล่า

บางทีนอกจากการที่เราจะต้องฝึกหัด “การไม่ตัดสิน” ผู้คนแล้ว เรายังอาจจะต้องมาตั้งสมมติฐานกันใหม่หรือเปล่าว่า “เออ...บางทีเขาก็ไม่ได้เปลี่ยนไปหรอกนะ เขาก็เป็นของเขาอย่างนั้นเองแต่เราเข้าใจพวกเขาผิดไปเอง?”

เขียนแบบนี้ไม่ได้มีเจตนาจะให้ซ้ำเติมตัวเราเองประมาณว่า “โง่” ที่ไปเข้าใจอย่างนั้นเองนะครับ แต่เขียนเพื่อให้ลองกลับมาทบทวนอะไรบางอย่างที่อาจจะเป็นประโยชน์สำหรับตัวเราเองในการทำความเข้าใจกับผู้คนและอาจจะเป็นประโยชน์ในการทำงานเพื่อให้เกิดสังคมดีงามในอนาคตด้วยก็คือ “บางที อาจจะเป็นเพราะคนเหล่านี้ ‘ไม่มีราก’”

โลกใหญ่ใบนี้คือ “แหล่งพลังงาน” ที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ ทุกผิวสัมผัสของร่างกายของเราที่มีต่อโลกใบนี้ คือการตอบรับถ่ายเทพลังงานมหาศาลระหว่างร่างกายของเรากับโลกใบนี้ ในการเดินและการยืนนั้น ฝ่าเท้าของเราจะเป็นจุดสัมผัสกับแหล่งพลังงานที่ยิ่งใหญ่เหล่านั้น เวลาที่เราล้มตัวลงนอนแผ่นหลังและทุกส่วนของร่างกายที่สัมผัสพื้น คือจุดสัมผัสกับแหล่งพลังงานเหล่านั้น

ถ้าเราไม่สามารถ “เปิดการรับรู้” ถึงแหล่งพลังงานจากผืนโลกใบนี้ได้ด้วยสาเหตุใดก็ตาม เราก็จะเปรียบเสมือน “ต้นไม้ที่ไม่มีราก” ที่ล้มหรือ “ปลิว” ได้ง่ายเหลือเกิน

ในภาคปฏิบัติจริง “การมีราก” คือ “การกราวดิ้ง” ซึ่งก็คือการเปิดการรับรู้ต่อโลกใบนี้ เป็นการสื่อสารระหว่างร่างกายของเรากับโลกใบนี้ เป็นการตอบรับต้อนรับดูดซับพลังงานที่สดใสจากโลกใบนี้ให้ผ่านเข้าสู่ร่างกายของเราและเป็นการถ่ายเทพลังงานด้านลบของเราให้ออกจากร่างกายถ่ายเทลงสู่โลกใบนี้ ด้วยความรู้สึกที่ศิโรราบ อ่อนน้อมและรู้คุณ

“คนที่มีราก” จะรู้ดีและมั่นคงถึง “เจตจำนง” ของชีวิตว่า “คุณเป็นใคร” และ “เกิดมาทำไมในโลกใบนี้”

“คนที่มีราก” ก็จะเข้าใจคำพูดกึ่งคำถามที่ออตโต ชาร์มเมอร์เคยบอกไว้ในหนังสือทฤษฎียูของเขาว่า “What life calls you to do?”

ใช่ครับ เราต้องถามตัวเราเองบ่อยๆ ครับว่า “What life calls me to do?”



โดย ปรีดา เรืองวิชาธร
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๑

เรื่องระหว่างผมกับเพื่อนที่จะเล่าถึงนี้แม้ดูเป็นเรื่องส่วนตัว แต่บางทีอาจไปตรงกับประสบการณ์หรือมีความหมายกับใครบางคนบ้าง ผมเองมีเพื่อนที่สนิทใจน้อยนัก ส่วนคนที่รู้จักกันธรรมดานั้นมีไม่น้อยเลย จำนวนที่มากนั้นจะมีความหมายมากมายกับชีวิตผมก็หาไม่ ยิ่งชีวิตช่วงสี่ถึงห้าปีก่อนหน้านี้รู้สึกมีเรื่องทุกข์ร้อนใจจำต้องเก็บงำไว้ภายในมากมายเหลือเกิน หาที่ทางปรับทุกข์โศกได้ยากเต็มที จะหาใครที่ใจกว้างพอรับฟังเราอย่างลึกซึ้ง เพื่อเข้าถึงความรู้สึกนึกคิดไม่ว่าร้ายหรือดี เป็นความเปลี่ยวเหงาเดียวดายท่ามกลางสังคมที่พลุกพล่านแต่แฝงด้วยความโดดเดี่ยวแปลกแยก ผมเชื่อว่ามีคนไม่น้อยเลยที่เป็นเช่นเดียวกับผม

แล้วจู่ๆ เมื่อสามปีที่แล้วผมก็พบเพื่อนที่ผมดั้นด้นแสวงหามานาน เป็นการพานพบที่ต้องลงทุนสูงเพราะต้องใช้ความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวอย่างมากทีเดียวเพื่อเข้าหาเพื่อนคนนี้ ท่านที่ว่านี้รู้จักกันมานานไม่น้อยกว่าสิบแปดปี แต่เพิ่งจะเริ่มสัมผัสได้ถึงความเป็นเพื่อนกันเมื่อไม่นานมานี้ เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า ท่านมีสถานภาพเป็นทั้งเจ้านายสูงสุดในแง่หน้าที่การงาน เป็นครูบาอาจารย์ที่ผมเคารพศรัทธาในวิถีชีวิตตลอดจนความรู้ความสามารถ เป็นคนที่ผมรู้สึกว่ามีอำนาจมาก แม้วัยก็มากกว่าผมร่วมสี่สิบปี และเป็นเรื่องบังเอิญที่ผมเกิดปีเดียวกันกับลูกชายคนโตของท่าน ในแง่วัยจึงนับเป็นพ่อลูกกันได้เลย ปัจจัยเหล่านี้มันมากพอจะทำให้ผมมีระยะหรือช่องว่างกับท่านห่างกันเป็นโยชน์ และยังเป็นที่มาของความกลัวสารพัดเวลาที่ต้องเข้าใกล้ท่าน ผมไม่เคยนึกภาพออกเลยว่า เราจะเป็นเพื่อนกันได้อย่างไร เพื่อนที่ผมพูดถึงก็คือ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส. ศิวรักษ์

แต่แล้วมันก็น่าฉงนที่อาจารย์สุลักษณ์กลับออกปากกับผมเพื่อให้มีโอกาสใกล้ชิดมากขึ้น นับเป็นช่วงเวลาที่ได้พูดคุยในเรื่องที่ผมอยากรู้อยากเห็น ได้สารภาพเรื่องราวภายในที่ผมเก็บงำไว้นาน การตอบสนองของอาจารย์ที่ทำให้ผมรู้สึกซาบซึ้งที่สุด ไม่ใช่อยู่ที่คำเตือนสติหรือคำแนะนำ (ซึ่งมีคุณค่ามากมายในตัวอยู่แล้ว) หากแต่อยู่ที่การลดตัวเองลงมาหาเด็กรุ่นหลังอย่างเสมอบ่าเสมอไหล่ ให้เวลาเพื่อรับฟังผมอย่างเต็มที่ (มากพอที่ผมต้องการจะขอพูดคุย ทั้งที่ท่านมีภารกิจมากมายและเป็นคนมีชื่อเสียงที่ใครๆ ต้องการเข้าหา) และรับฟังได้ทั้งเรื่องดีและไม่ดี โดยเฉพาะอาจารย์ใจกว้างมากต่อความผิดพลาดของมนุษย์ ผมรู้สึกได้ว่า อาจารย์เข้าถึงความรู้สึกนึกคิดของผมเกือบทั้งหมด จริงอยู่แม้ว่าคำแนะนำตักเตือนจะมีคุณค่ามหาศาล แต่บางครั้งบางเวลาเรากลับต้องการเพียงการรับฟังรับรู้อย่างเข้าอกเข้าใจเราเท่านั้น

กับอาจารย์สุลักษณ์แม้ว่าโอกาสที่ได้พูดคุยกันจะมีไม่กี่ครั้ง แต่สิ่งสำคัญกลับอยู่ที่คุณภาพของการพูดคุยในแต่ละครั้งต่างหาก ซึ่งคุณภาพที่ว่านี้เป็นคนละเรื่องกับการพยายามสื่อสารกันให้มากเข้าไว้ตามคำโฆษณาสินค้าที่เราได้ยินบ่อยครั้ง โอกาสพูดคุยแต่ละครั้งที่ผ่านไปมันทำให้ผมไว้วางใจที่จะพูดอะไรได้ลึกและกว้างยิ่งขึ้นเรื่อยๆ กล้าหาญมากขึ้นที่จะซักถามในเรื่องที่ขัดข้อง ในเรื่องที่อยากรู้อยากเห็น และได้รับคำเตือนสติและรับคำแนะนำทั้งในแง่ชีวิตและงาน แถมยังได้รับความชื่นชมยินดีในความก้าวหน้าของผมอีกโสตหนึ่งด้วย นี้แลที่ทำให้ช่องว่างระหว่างผมกับอาจารย์เริ่มหดแคบลง อย่างไรก็ตามความกว้างของช่องว่างก็ยังคงมีอยู่ไม่น้อยแม้ว่าจะลดลงบ้างก็ตาม ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะผมมักจะคิดปรุงแต่งไปเองว่า เวลาคุยกับเราอาจารย์คงรู้สึกไม่สนุกเท่าไรเพราะความรู้และประสบการณ์มันห่างชั้นกันเหลือเกิน แม้ว่าจริงๆ แล้วหลายครั้งอาจารย์รู้สึกพอใจและคุยกับเราอย่างออกรสก็ตาม แต่ผมก็คิดมากและกลัวไปเองอย่างไม่รู้เท่าทันภายในตัวเอง ดังนั้นในแง่นี้ต้นทุนที่ผมต้องจ่ายเพื่อเข้าถึงความเป็นเพื่อนในตัวอาจารย์สุลักษณ์ก็คือ การข้ามพ้นมายาคติที่ผมสร้างและยึดไว้อย่างเหนียวแน่นว่าอาจารย์เป็นใครและผมเป็นใคร

ผมเข้าใจว่า การลดตัวลงมาอย่างเสมอบ่าเสมอไหล่ของอาจารย์สุลักษณ์มันได้ทำให้ความทุกข์ร้อนใจของผมได้หลั่งไหลระบายออกมาเต็มที่ บางจังหวะก็ช่วยกะเทาะเปลือกอันแข็งกระด้างที่ห่อหุ้มปิดบังความสามารถในการตระหนักรู้ชัดถึงจิตใจภายใน อาจารย์จะมีวิธีกระแทกอัตตาของเราทั้งนิ่มนวลและร้อนแรงจนทำให้เราเข้าใจชัดเจนถึงตัวตนแท้ๆ ของเราเอง และนำไปสู่การรู้จักแสวงหาวิธีการแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง แม้ศักยภาพที่ซ่อนเร้นภายในก็ถูกกะเทาะให้ปรากฏเห็นแววออกมา เป็นที่ประจักษ์ทั้งแก่ตนเองและคนอื่น ซึ่งหลายครั้งเราแทบไม่เคยรู้เท่าทันในกุศโลบายในการกะเทาะเปลือกนั้นเลย วิธีการหนึ่งที่ผมชอบและโดนใจมากก็คือ การพูดท้าทายให้เราเห็นความกะล่อนภายในของเราจนดิ้นไม่หลุดและไม่นานเราก็สามารถรู้เท่าทันและยอมรับในสิ่งที่เราเป็นได้

จริงอยู่ในหลายครั้งวิธีการกระแทกอัตตาของอาจารย์มักจะมาพร้อมกับความหงุดหงิดโกรธเคืองจนทำให้เรารู้สึกเจ็บปวดบ้างบางครั้งและขยาดที่จะเข้าหา แต่ในความร้อนแรงนั้นข้างในกลับมีแก่นแท้ของบทเรียนที่เราควรเงี่ยหูและเปิดใจรับฟัง เพราะเมื่อความเจ็บปวดใจจางคลายลงก็กลับพบพลังแห่งความเมตตากรุณาที่อาจารย์หยิบยื่นให้เป็นพื้นอยู่เสมอ ผมจึงค้นพบความจริงข้อหนึ่งว่าบางครั้งเราจำต้องกัดฟันไม่ด่วนสรุปตัดสินง่ายๆ และกล้าพร้อมเผชิญกับรูปเงาะที่น่าเกลียดหรือเปลือกนอกที่ทำให้เราเจ็บปวดใจ ฝึกอดทนอดกลั้นจนสามารถเข้าถึงทองแท้ข้างในของความเป็นเพื่อน ที่สำคัญยิ่งประการหนึ่ง ผมเชื่อมั่นว่า เรื่องราวความทุกข์เจ็บปวดของผมนี้ในทางตรงข้าม ย่อมเป็นประโยชน์กับอาจารย์บ้าง อย่างน้อยบางเรื่องที่เป็นความทุกข์ของมนุษย์ทุกยุคสมัยที่ยากจะข้ามพ้นได้ แม้อาจารย์เองก็เถอะ

ผมอยากบอกอย่างมั่นใจว่า ที่คุณภาพของความเป็นเพื่อนเป็นไปอย่างลึกซึ้งกินใจ ทั้งที่มีโอกาสและเวลาไม่มากนัก ก็เพราะว่าอาจารย์ให้ความสำคัญกับผมอย่างจริงใจ และผมรับรู้ถึงคุณค่าที่ได้รับนี้ ดังนั้นในกรณีของผม เวลาที่มากมายจึงไม่ใช่ประเด็นสำคัญ การให้ความสำคัญและลดตัวเองลงมาทำให้ผมรู้สึกเคารพตัวเองได้มากขึ้น และรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าความหมายต่อผู้อื่นในแง่ที่จะนำเอาสิ่งที่เปลี่ยนแปลงภายในไปแบ่งปันหรือทำประโยชน์ให้กับสังคมต่อไป อีกด้านหนึ่งผมตระหนักดีว่า การลดตัวเองและให้ความสำคัญกับเราอาจจะขาดๆ หายๆ หรือขึ้นๆ ลงๆ คงไม่เป็นไปดังนี้ทุกช่วงเวลาซึ่งต้องคอยเตือนตนเองอยู่เสมอว่าไม่ควรไปหลงยึดมั่นผูกติดอาจารย์ไว้กับเราตลอดเวลา

ดังที่ผมบอกในตอนต้นแล้วว่า การพบพานเพื่อนอย่างอาจารย์สุลักษณ์นี้ต้องลงทุนสูงมาก ผมต้องใช้ความกล้าหาญมากทีเดียวที่จะเอาชนะกำแพงที่บดบังความเป็นเพื่อน ไม่ว่าจะเป็น สถานภาพที่ผมหลงยึดมั่นถือมั่นว่าอาจารย์อยู่สูงและไกลเกินที่จะเข้าถึง ภาพลักษณ์ที่เต็มไปด้วยอำนาจซึ่งทำให้ผมและหลายคนเกิดความกลัวเป็นเจ้าเรือน การหลงเข้าใจไปเองว่าอาจารย์มีภาระมากมายคงไม่อยากเสียเวลากับคนเล็กน้อยอย่างเราหรอก รวมถึงเวลาที่ดูยุ่งเหยิงพันตูกับการทำงานของผมเอง และที่สำคัญที่สุดก็คือ ความไม่กล้าเสี่ยงที่จะไว้วางใจคนอื่นก่อนเพื่อเป็นต้นทางของการแสวงหาความเป็นเพื่อน ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรคขัดขวางการก้าวข้ามพรมแดนเพื่อเข้าถึงความเป็นเพื่อน ซึ่งเพื่อนในที่นี้มิได้หมายถึงคนวัยเดียวกัน เล่นหัวกันอย่างสนิทใจมานานเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ความเป็นเพื่อนจึงไม่ควรถูกจำกัดด้วยวัย และสถานภาพที่แตกต่างกัน ดังนั้น พ่อแม่กับลูก สามีกับภรรยา พี่กับน้อง เจ้านายกับลูกน้อง คนจนกับคนรวย แม้กระทั่งมิตรกับศัตรู ก็ควรแสวงหาและสร้างสรรค์ความเป็นเพื่อนเพื่อลดความโดดเดี่ยวแปลกแยกและพร้อมที่จะเกื้อกูลการเติบโตภายในให้แก่กันและกันได้



โดย สมพล ชัยสิริโรจน์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๕๑

เมื่อคนเราปักใจว่า “ฉันเป็นคนเช่นนี้” ตามความเคยชินโดยเรียนรู้เอาจากประสบการณ์ในอดีตทั้งที่ถูกใจและไม่ถูกใจ ตัวเอก (primary self) ของเราก็เป็นเช่นนั้น และเมื่อเราปักใจเช่นไร เราก็ถอดทิ้งใจของเราด้านตรงกันข้ามไปให้กลายเป็น ตัวตนที่ถูกทิ้ง (disowned self) เสมอ ๆ

เราสามารถรู้จักว่าตัวเอกของเราเป็นคนเช่นไรได้โดยดูจากตัวตนที่ถูกทิ้งของเราควบคู่กันไป เราจะรู้จักตัวตนที่เราทิ้งไปได้ต่อเมื่อรู้จักสังเกตว่า เราพิพากษาใครต่อใครทั้งทางลบหรือทางบวกอย่างรุนแรง เรามีใจปฏิพัทธ์หรือปฏิปักษ์กับใครอย่างชัดเจนอยู่ในเนื้อในตัวเราอย่างไร คนที่เราพิพากษาหรือมีปฏิกิริยาด้วยนั้นต่างก็มีบุคลิกและคุณสมบัติของตัวตนที่ถูกทิ้งของเราอยู่อย่างแนบเนียน ไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ เห็นคล้อยตามหรือไม่ก็ตาม ทั้งเราทั้งเขาต่างเป็น “คนละคู่เดียวกัน” อย่างแยกกันไม่ออก เหมือนสองด้านของเหรียญเดียวกัน

สำหรับคนที่ปักใจว่า คนเราต้องรู้จักปล่อยวาง ไม่ควรยึดถืออะไรต่อมิอะไรมาเป็นของเรา ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สิน ชื่อเสียงหรือการยกย่อง ย่อมมองเห็นคนที่ปรารถนาไขว่คว้า และพยายามอย่างยิ่งให้ได้มาในสิ่งที่ตนกำลังละวางนั้นช่างเป็นคน”ละโมบ” กอบโกยเอาเสียเลย เมื่อเราตัดสินว่าเขาเป็นคน “ละโมบ” ก็เหมือนเข็มทิศชี้ทางบอกว่า เรากำลังละโมบไม่เป็นเสียแล้วก็เป็นได้

เป็นไปได้ไหมว่า คุณ “ละวาง” ปักใจว่า คนเราต้องไม่อยากครอบครอง ด้วยภูมิหลังเจ็บปวดหรืออับอาย เห็นใครที่ใกล้ชิดเป็นทุกข์ และ/ หรือทำให้คนอื่นเป็นทุกข์ด้วยอาการอยากมีอยากเป็นเจ้าของ อดีตที่คุณ “ละวาง” เห็นใครต่อใครที่เป็นคุณ “ละโมบ” เป็นเดือดเป็นร้อน คุณ “ละวาง” จึงอัปเปหิคุณ “ละโมบ” ออกจากชีวิตไปเลย และทนไม่ได้นัก เมื่อเห็นใครอีกสักคนหรือหลายๆ คน เดินเข้ามาเป็น คุณ “ละโมบ” ต่อหน้าต่อตาเราอีกครั้ง

อะไรคือด้านคู่ขนานกับการละโมบ คนละโมบหรือคนมักได้เอาประโยชน์ตนเป็นหลักนั้น คงไม่เดินไปทักทายใครต่อใครแล้วแนะนำตัวว่า “สวัสดีครับ ผมชื่อ คุณละโมบ” หากใครหาว่าเขาเป็นคนละโมบ เขาคงบอกว่า ผมไม่ได้ละโมบหรอก ผม “เอา” ตามสิทธิของผม ตามศักยภาพของผม ผมรู้จักยืนยันที่จะได้มีในสิ่งที่ผมต้องการ

ถ้าเป็นทุนนิยมก็จะมีเสียงเสริมคุณละโมบอยู่ในใจลึกๆ ว่า มือใครยาวสาวได้สาวเอา ถ้าเป็นศักดินาก็จะมีเสียงเชียร์อยู่ในใจว่า ใครฐานะดีกว่าใหญ่กว่าก็ได้เปรียบ ถ้าเป็นวงนิยมองค์ความรู้ ย่อมมีเสียงเชียร์ว่า “ผมลึกซึ้งกว่า” ย่อมมีสิทธิกว่า ในแต่ละคนในแต่ละวงการต่างก็มีเสียงด้านในที่ยืนยันโอกาสและสิทธิต่างกัน และเมื่อมองจากคนที่มีตัวเอกเป็น คุณ “ละวาง” พวกนักรักษาสิทธิ หรือคุณ “สิทธิรักษ์” นี้เป็นฝาแฝดกับคุณ “ละโมบ” ก็ว่าได้

แล้วเมื่อคุณ “ละโมบ” หันมามองคนที่ชอบละวางที่มักจะพูดว่า “ที่ทำอยู่นี้ไม่ได้ทำด้วยความ ‘อยาก’ เลย ไม่ได้ทำเพื่อ ‘ตัวเอง’ เลย” อีกทั้งกล่าวบ่อยๆ ว่า “ชีวิตนี้ไม่เอาอะไรอีกแล้ว ปล่อยเขา ให้เขาไปเถอะ เพื่อความสบายใจ (ของใคร)” และคุณ “ละวาง” ก็ให้ใครต่อใครก้าวล่วงสิทธิของตนเอง อีกทั้งเข้ามาก้าวก่ายชีวิตของตน และทำตัวเป็นสุขใจ ในความละวางของตน คุณ “ละโมบ” อาจคิดว่าแท้จริงแล้ว “คุณละวาง” นั้นยอมจำนนอยู่กับอาการละวางด้วย “ไร้หนทาง” ก็เป็นได้

หากตั้งคำถามว่า จะมีใคร “ละวาง” ได้เช่นนี้หรือ ยังไม่เป็นประเด็นเท่ากับว่าจะมีใครยอมเสียสิทธิของตนในทุกสถานการณ์หรือ และหากจะเป็นเช่นนั้นมันเกิดขึ้นได้อย่างไร เป็นไปได้ไหมว่า คนที่มีตัวเอกเป็นคุณ “ละวาง” นั้นทำตัวห่างไกลจากการรักษาสิทธิของตน รักษาความรู้สึกนึกคิดของตน เห็นคุณค่าของการ “พลี” ชีวิต และ “เสียสละ” ให้ผู้อื่น รวมทั้งเคยเห็นโทษอย่างรุนแรงของตนหรือคนอื่นที่ “เคย” รักษาสิทธิ และเรียกร้องปกป้องตนเอง จนคุณ “ละวาง” ต้องเนรเทศ คุณ “สิทธิรักษ์” ออกจากชีวิต และทนไม่ได้เมื่อเห็นใครๆ ที่เขา “สามารถ” รักษา เรียกร้อง ยืนยันสิทธิของตัวเขาเอง

มีใคร “ละวาง” และ “ละโมบ” ได้อย่างแท้จริง ไม่มีอะไรปนเปื้อนเลยหรือ หากคุณ “ละโมบ” เป็นตัวเอก และทิ้ง คุณ “ละวาง” ไป คุณ “ละวาง” ก็หาทางกลับมามีบทบาทกับคุณ “ละโมบ” ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ในคนที่คุณ “ละโมบ” รัก ในชีวิตรอบข้างที่เรียกร้องให้คุณ “ละโมบ” รู้จักถอยบ้าง รู้จัก “ให้” บ้าง และถ้าเสียงเรียกร้องเหล่านี้ไม่ดังพอให้คุณ “ละโมบ” ได้ยิน เสียงเรียกร้องให้คุณ “ละโมบ” รู้จักดูแลสุขภาพก็จะดังขึ้น และเสียงที่อาจจะช่วยให้คุณ “ละโมบ” เริ่มรู้จักคุณ “ละวาง” อีกครั้ง ก็อาจจะมาจากเสียงของคุณ “โคตร ละโมบ” ที่กระทำต่อคุณ “ละโมบ” จนคุณละโมบต้องเอ่ยปากกับคุณโคตรละโมบว่า “รู้จักปล่อยวางเสียมั่งได้ไหมคุณ”

คุณ “ละวาง” ก็เช่นกัน หากไม่รู้จักรักษาสิทธิและปกป้องขอบเขตที่ตนครอบครอง ก็จะเจอคนที่ “ละโมบ” ให้กวนใจ เสียอารมณ์และเสียข้าวของอยู่เนืองๆ จนต้องลุกขึ้นมารู้จักคุณ”สิทธิรักษ์”ในที่สุด แต่ที่น่าสนใจกว่านี้ คุณที่ประกาศจุดยืน เป็นคุณ “ละวาง” นี้ เมื่อคิดจะเรียกร้องสิทธิของตน ขยายขอบเขตความต้องการของตน มักจะทำได้รุนแรง และเสียดแทงจิตใจผู้คนได้ไม่แพ้คุณที่มีตัวเอกเป็นคุณ “ละโมบ” เลย เป็นได้อย่างไร

เป็นได้ด้วยเพราะตัวตนที่ทิ้งไปของเรานั้น เขาต้องการเหลือเกินที่จะกลับคืนมาในชีวิตเรา และหากเราไม่รู้จักนำกลับมาอย่างเหมาะสม เขาก็กลับมาอย่างรุนแรง จนตัวเอกเดิมต้องถ่อยร่น และรับมือไม่ได้

ตราบใดที่เราไม่เห็นคุณค่าและพลังของทั้งตัวเอกและตัวที่เราทิ้งไปว่า ต่างเป็นคนละคู่เดียวกัน ไม่มีอะไรให้เราต้องปักใจไว้เพียงด้านเดียว ตราบนั้นเราก็ตกอยู่ในอิทธิพลของตัวตนทั้งคู่อยู่ดีไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม



โดย สาทร สมพงษ์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๕๑

ครอบครัวเรามีหมาอยู่ตัวหนึ่ง ผมตั้งชื่อให้มันว่า “ซามุ” เป็นภาษาญี่ปุ่น บางคนที่คุ้นกับเซนอยู่บ้าง อาจจะเคยได้ยิน “ซาเซ็น” ซาเซ็นหมายถึง การทำสมาธิในนิกายเซน ขณะที่ซามุคือ สมาธิที่มีการเคลื่อนไหว ซึ่งจะออกมาในรูปของการทำงานในชีวิตประจำวัน ได้แก่ การกวาดลานวัด การผ่าฟืน หาบน้ำ การปรุงอาหาร กิจวัตรทุกอย่างจะทำไปอย่างมีสติและสมาธิในทุกๆ อิริยาบถ นัยยะหนึ่งก็ตั้งชื่อนี้เพื่อได้เป็นเครื่องเตือนใจตัวเองเมื่อเรียกชื่อหมา

หมาตัวนี้ได้มาจาก อ.ละแม จ.ชุมพร จากเพื่อนของเราสองสามี ภรรยาซึ่งทำโรงเรียนเล็กๆ อยู่แถบนั้น เป็นหมาพันธุ์ Golden Retriever มันเป็นลูกหมาที่น่ารัก มีขนสีทองสมชื่อ หูปรกลงมาทั้งข้าง แม่ของมันคลอดออกมาสามตัว เราขอมาเลี้ยงตัวหนึ่งตั้งแต่อายุยังไม่ถึงหนึ่งเดือน ให้กินนมอยู่ไม่กี่วันก็เริ่มกินข้าวได้ ซามุเป็นหมาขี้เล่น ชอบเล่นกับลูกๆ ของผม และเด็กๆ ที่มาเรียนดนตรีที่บ้าน

มีใครบางคนบอกว่า หมาพันธุ์นี้เป็นมิตรกับมนุษย์มากที่สุดในบรรดาหมาพันธุ์ต่างๆ ที่มีอยู่ในโลกนี้ มันจึงไม่เหมาะที่จะเลี้ยงเพื่อเฝ้าบ้าน เมื่อมันอายุได้สามเดือน เราย้ายบ้านจากพัทลุงมาอยู่ในเมืองสงขลา นัยหนึ่งก็เพื่อมาอยู่ดูแลลูกๆ ด้านหนึ่งก็ภารกิจการงานเรียกร้องให้เข้ามาสิงสู่ในเมืองบ้าง ผมตั้งใจที่จะเข้ามาทำโรงเรียนที่เป็นทางเลือกใหม่ๆ ให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองที่สนใจในการศึกษาที่ไปพ้นในเรื่องของการแข่งขัน และการไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ความเป็นเลิศทางวิชาการเพียงอย่างเดียว หากให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ที่เป็นองค์รวมของชีวิต และเห็นถึงคุณค่าของการเรียนรู้ที่จะพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขึ้นมา

ในอีกด้านก็เริ่มเข้าไปทำงานกับบุคลากรในองค์กร หน่วยงานที่ต้องการพัฒนาไม่เพียงแต่ในเรื่องทางกายภาพหรือชีวิตทางวัตถุเพียงอย่างเดียว ซึ่งก็เพียงให้คนเอาตัวรอดไปวันๆ เท่านั้นเอง คนส่วนใหญ่จึงเริ่มตระหนักยิ่งขึ้นทุกวันว่า ชีวิตเช่นนี้ค่อนข้างขาดคุณค่าและความหมาย ยิ่งทำงานไปก็ยิ่งพบแต่ความว่างเปล่าและรู้สึกเดียวดาย แม้จะอยู่ท่ามกลางกลุ่มคนมากมายก็ตามที เพราะวิถีชีวิต รวมทั้งระบบการศึกษา การงานต่างๆ ล้วนหล่อหลอมให้ทุกคนคิดและทำอะไรไปจากฐานของผลประโยชน์ ความต้องการของตัวเองเป็นหลัก สำนึกและจิตใจของผู้คนจึงเริ่มคับแคบลงเรื่อยๆ เพราะเราใช้อวัยวะทางจิตอยู่เพียงไม่กี่อย่าง คนจึงอยู่อย่างโดดเดี่ยว ขาดการเชื่อมโยงกัน ใจเช่นนี้กระทบกระทั่งได้ง่าย โกรธง่าย ช่างถือสา คิดแต่จะเอาประโยชน์จากคนอื่น จึงมีความสุขได้ยาก เปรียบไปแล้วก็เสมือนกับใจที่ป่วยไข้ รักไม่เป็น

คนส่วนใหญ่ทุกวันนี้ ติดดีกันมาก เรายึดมั่นในความดีความงาม หากเห็นใครหรือแม้แต่ตัวเองทำไม่ดี ไม่เข้าท่า เราก็จะเป็นทุกข์เป็นร้อน แม้แต่การสอนหมา “ซามุ” ของเรา เราก็สอนไปจากรากฐานตรงนี้ เมื่อซามุถ่ายหนัก-เบาในบ้าน โดยเฉพาะเมื่อโตแล้ว แต่ยังทำแบบนี้จะต้องถูกตี ลงโทษหนักๆ หลายครั้งที่ผมพบว่าไม่ได้ผลนัก บางครั้งซามุก็ยังทำ ไม่รู้เหมือนกันว่า มันเป็นอะไร หากเราคิดง่ายๆ ก็อาจจะอธิบายกับตัวเองว่า มันเป็นหมาที่ถดถอย มีรู้จักจดจำ ใช้ไม่ได้ แต่หากคิดไปอีกทางหนึ่ง หรือใช้ความรู้สึกโดยไม่ต้องคิด มันอาจจะสอนอะไรบางอย่างกับเรา เราเรียนรู้อะไรได้จากตรงนี้บ้าง หมาจะไม่มีเรื่องดี-ชั่ว ผิด-ถูก ขณะที่คนจะเต็มไปด้วยสิ่งเหล่านี้ เราไม่เคยไปพ้นจากสิ่งคู่ ไม่อยู่ตรงขั้วนี้ก็ไปจับอยู่อีกขั้วหนึ่ง เราเลือกข้างและเปรียบเทียบอยู่ตลอดเวลา สภาวะจิตของเราจึงไม่เคยนิ่งสงบ กลับวิ่งว่อน ปกป้องตัวเอง หรืออยากจะเอาชนะ ต้องดี ต้องถูกอยู่ตลอดเวลา

หมามีสมองชั้นต้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องของสัญชาตญาณที่ทำหน้าที่ในการรักษาชีวิตให้อยู่รอด และสมองชั้นกลางซึ่งทำหน้าที่ในเรื่องของอารมณ์ ความรู้สึก เป็นหลักของชีวิต ไม่มีสมองชั้นนอกซึ่งใช้สำหรับขบคิด คำนวณ หรือจินตนาการเหมือนคน เขาจึงมีความรู้สึก มีอารมณ์ที่ผูกพันกับคนค่อนข้างมาก เขาจึงอาจจะรักคนมากกว่าที่คนรักเขามากมายนัก ขณะที่ของคู่กับความคิด คือการคิดเปรียบเทียบ แข่งขัน หมาไม่มีเงื่อนไขในเรื่องของความคิด เขาจึงไม่ทุกข์เท่าคน เราเรียนรู้ตรงนี้จากหมาได้มากน้อยแค่ไหน

วันนี้ซามุอายุได้ห้าเดือน ผมเปิดประตูรั้วเพื่อจะเอารถยนต์ออก ก่อนหน้านี้ เวลาผมจะเอารถออก ผมมักจะขังซามุไว้ในบ้านก่อน เพราะหากไม่ขังไว้ มันก็จะวิ่งออกไปข้างนอก เข้าไปในซอย เราก็จะต้องวิ่งตามมันจนเหนื่อย บางครั้งก็เข้าไปกัด ไปเล่นกับหมาตัวอื่นๆ ในบ้านของเพื่อนบ้าน แต่วันนี้ ผมไม่ได้ทำเช่นนั้น เมื่อผมเอารถออก ซามุจึงกระโจนตามออกไป คราวนี้เขาวิ่งไปด้านตรงข้ามที่เคยวิ่ง คือตรงไปในทิศที่เป็นถนนใหญ่ ผมตะโกนบอกภรรยาว่า ซามุออกไปแล้ว เธอวิ่งตามออกมา ผมขับรถเข้าเทียบข้างๆ ตัวมัน มันกลับวิ่งไกลออกไปอีก ถึงถนนใหญ่แล้วรถกระบะคันหนึ่งแล่นมาอย่างเร็ว เขาพยายามจะเบรก แต่ก็ไม่ทันเสียแล้ว รถจึงพุ่งเข้าชนซามุจนกระเด็น ซามุร้องเสียงหลงและวิ่งเข้ามาที่ริมถนน ภรรยาของผมวิ่งเข้าไปหามัน ซามุนอนนิ่งตัวอ่อนยวบ ผมเอามันขึ้นรถยนต์พาไปส่งโรงพยาบาลสัตว์ ไปถึงหมอช่วยปั๊มหัวใจด้วยมืออยู่ได้ไม่นาน ซามุก็สิ้นใจ หมอบอกว่าปอดมันฉีก เพราะมีเลือดออกมาทางปาก และมีฟองอากาศอยู่ในนั้นด้วย

ภรรยาของผมร้องไห้เหมือนคนไม่มีสติ ไม่มีการควบคุมใดๆ เธอปล่อยโฮออกมาเสมือนลูกคนหนึ่งได้ตายจากไปทีเดียว เธอระล่ำระลักออกมาว่าจะไม่ให้อภัยผมเด็ดขาด ผมนิ่งฟังอย่างสงบโดยไม่ได้โต้ตอบอะไรเธอเลย ผมยอมรับทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น หัวใจผมรู้สึกเปิดออกรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้คิดจะปกป้องตัวเองแต่อย่างใด ผมมองย้อนเข้าไปภายในตัวเอง ยอมรับกับตัวเองโดยดุษฎีว่าเราประมาท ดูเบาเกินไป และเราไม่ได้รักซามุเท่าที่ควร เราจึงปล่อยปละละเลยจนเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น ผมยอมรับอีกเช่นกันว่า ผมยังรักไม่เป็น ซามุซึ่งเป็นหมารักเป็นกว่าผมและพวกเราทุกคนในครอบครัว

ความตายของซามุจึงเท่ากับการสอนเรื่องความรักให้แก่เรา ความรักที่ไปพ้นจากความคิด ความจำ การเปรียบเทียบ สิ่งคู่ต่างๆ ชีวิตผิดได้ ถูกได้ ดีได้ แย่ได้ สิ่งที่ควรค่าแก่การทำ ก็คือ การเรียนรู้ในสิ่งที่เกิดขึ้นว่า มันได้บอกอะไรแก่เราบ้าง หากเรารักกันเป็น เราก็จะทุกข์น้อยกว่านี้ไหม ครอบครัวก็จะมีความสุขมากขึ้นกว่านี้ไหม เรื่องนี้จะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เราจะจดจำไว้อีกนานเท่านาน เป็นบทเรียนบทสำคัญที่เคลื่อนใจเราออกไปได้อีกอักโขทีเดียว

ความตายมีคุณค่าอยู่ในตัวเอง เพราะทุกครั้งเมื่อมีการตายก็จะมีสิ่งใหม่เกิดขึ้นเช่นกัน ขอเพียงเราได้พินิจ เฝ้ามองด้วยหัวใจที่ใคร่ครวญ เราก็จะสัมผัสกับความจริงภายในหัวใจของเราเอง

วันวาเลนไทน์, 14 กุมภาพันธ์ 2551, บ้านเขาแก้ว สงขลา



โดย พงษธร ตันติฤทธิศักดิ์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๕๑

คุณเคยบ้างหรือไม่ ที่อยู่ๆ ก็พูดต่อว่าต่อขานใครออกมาโดยไม่ทันรู้ตัว ภาษาหรือคำพูดที่เราจับโยนใส่คนอื่น มันไม่ใช่ภาษาของเรา เหมือนกับว่ามีใครมาพูดแทนเราอย่างนั้นแหละ ไม่ใช่แค่นั้นนะ บางทีเราอาจแสดงท่าทีบางอย่างที่ปกติเราไม่ค่อยแสดง แต่วันดีคืนดี เราก็แสดงท่าทีอย่างนั้นออกมาราวกับว่าเป็นคนอีกคนหนึ่ง ถ้าเคย คุณรู้หรือไม่ว่าคุณกำลังถูก...ผีสิง

ผีล่องลอยอยู่ในภพน้อยภพใหญ่กลางใจของเรานั่นเอง บางครั้งผีเปรตก็เข้ามาสิงสู่เราให้ทะยานอยากได้โน่นได้นี่ บางครั้งผียักษ์ก็เข้ามาสิงสู่เราให้ระเบิดความโกรธทำลายข้าวของ บางครั้งผีอสูรกายก็เข้ามาสิงเราให้กลัวหัวซุกหัวซุน “ผี” เหล่านี้ทำงานอยู่ในมุมมืดภายในจิตใจของเรา

“ผี” ที่ผมกำลังกล่าวถึงคือ ตัวตนภายในที่เราไม่ยอมรับ ตัวตนภายในที่เราปฏิเสธออกไป แต่เขาไม่ได้หายไปไหน เขาซ่อนตัวอยู่ในมุมมืดภายในจิตใจ พร้อมที่จะออกมาครอบงำจิตใจเราได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะยามที่จิตใจของเราถูกปกคลุมไปด้วยหมอกควันแห่งความหลง ผีเหล่านี้ก็จะเข้าครอบงำจิตใจของเราได้โดยง่ายดาย ตัวอย่างเช่น ผู้ใหญ่คนหนึ่งไม่ยอมรับตัวตนของ “เด็กที่ถูกทอดทิ้ง” ที่ดำรงอยู่ภายใน ตัวตนนี้จึงกลายเป็น “ผีเด็ก” ยามขาดสติ ผีตนนี้ก็อาจเข้าสิงจิตใจ ทำให้กลายเป็นผู้ใหญ่เอาแต่ใจตัวเอง เรียกร้องความสนใจ และขี้โวยวาย กลายเป็นเด็กในร่างของผู้ใหญ่ไปในทันที

คุณคิดว่าเมื่อ “ผีเด็ก” เข้าสิงร่างของผู้ใหญ่ จะมีผลกระทบอย่างไร? ทั้งต่อตัวเอง ต่อคนรอบข้าง และต่อสังคมโดยรวม

คุณเคยมี “ผีเด็ก” เข้าสิงตัวคุณหรือไม่? หรือขณะนี้ “ผี” ตนไหนกำลังสิงตัวคุณอยู่?

ความลับของจักรวาลคือ เราสามารถแปรเปลี่ยน “ผี” ให้กลายเป็น “เพื่อน” ได้ และนี่คือเคล็ดลับของการปลดปล่อยศักยภาพที่ดำรงอยู่ภายในตัวคุณออกมาอย่างเหลือเชื่อ

แล้วเราจะแปรเปลี่ยนจาก “ผี” สู่ “เพื่อน” อย่างไร?

ก่อนอื่น ผมขอชวนให้พิจารณาอย่างใคร่ครวญกันสักนิดว่า “ความเป็นผี” หรือ “ความเป็นเพื่อน” เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ของเราที่มีต่อ “ตัวตน” ต่างๆ ที่ดำรงอยู่ภายใน ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับตัวตนภายในเป็นไปตาม “ความสัมพันธ์แบบผีสิง” หรือ “ความสัมพันธ์ฉันเพื่อน” ความสัมพันธ์แบบผีสิง เป็นแบบแผนของความสัมพันธ์เดิมๆ ที่เรามักจะพบอยู่เป็นประจำในหมู่คนทั่วไป การถูกครอบงำด้วยตัวตนที่ซ่อนอยู่ในมุมมืด แล้วเราก็ไม่สามารถผละตัวออกไปได้นอกจากตกเป็นทาสของตัวตนนั้น นี่คือแบบแผนความสัมพันธ์อันเป็นปกติทั่วไป แต่ความสัมพันธ์แบบนี้ไม่ใช่เป็นความสัมพันธ์แบบเดียว ความสัมพันธ์ฉันเพื่อนเป็นอีกรูปแบบของความสัมพันธ์ที่เป็นไปได้ เป็นมิตรภาพระหว่างเรากับตัวตนต่างๆ ฟังกันและกัน เข้าอกเข้าใจกันและกัน และร่วมทุกข์ร่วมสุขไปด้วยกัน ร่วมกันนำพาองค์รวมที่เรียกว่า “ฉัน” นี้ให้เดินไปด้วยกันบนเส้นทางชีวิต

แต่ทว่าการจัดความสัมพันธ์ใหม่นี้เราสร้างขึ้นไม่ได้ แต่จะเกิดขึ้นเองเมื่อมีเหตุปัจจัยพร้อม

เหตุปัจจัยที่จะได้อธิบายต่อในที่นี้คือ การขยาย “ทัศน์” หรือ “มุมมอง” (perspective) ให้ครบทั้ง ๔ ด้าน อันประกอบด้วย ๑. เรามองตัวตนนั้นเป็นคนนอก ๒. เรามองตัวตนนั้นเป็นคนใน ๓. เราเข้าไปเป็นคนในของตัวตนนั้น และ ๔. ตัวตนนั้นมองย้อนกลับมาที่ตัวตนเดิมของเรา

กล่าวคือ ความสัมพันธ์แบบผีสิงเกิดขึ้นเมื่อมีเหตุปัจจัยคือ การมีมุมมองเพียงทัศน์เดียว ว่า “เรามองตัวตนนั้นเป็นคนนอก” เพราะลึกๆ แล้วเราไม่ยอมรับตัวตนนั้น ดังนั้นเขาจึงย้อนกลับมาสัมพันธ์กับเราแบบเข้าครอบงำ ตัวอย่างเช่น เราปฏิเสธตัวความโกรธว่าไม่ใช่เรา คนอื่นนั่นแหละที่โกรธ ไม่ใช่ฉัน คุณคิดว่าคนต่อว่าต่อขานคนอื่นว่า “แกนั่นแหละที่โกรธ” ขณะนั้นเขากำลังถูกครอบงำด้วยตัวความโกรธหรือไม่

การขยายทัศน์ไปสู่ “เรามองตัวตนนั้นเป็นคนใน” เป็นการสร้างเหตุปัจจัยเพิ่มเติม โดยการเริ่มยอมรับว่าตัวตนที่เราปฏิเสธไปนั้น แท้จริงแล้วก็ดำรงอยู่ภายในจิตใจของเราเอง ยอมรับว่าเขาก็เป็นตัวตนๆ หนึ่งในใจ ด้วยเหตุปัจจัยที่ใกล้ตัวเราเข้ามามากขึ้น เราจึงเริ่มพัฒนาคาดหวังต่อตัวตนนั้น ว่าเขาน่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ กลายเป็นความสัมพันธ์ที่มาพร้อมกับความคาดหวัง ส่วนใหญ่แล้วคนที่สนใจพัฒนาจิตใจของตนเองจะเข้ามาได้ถึงจุดนี้ เช่น การเห็นตัวความโกรธภายในจิตใจแล้วก็พยายามกดข่มมันไว้ หวังว่าตัวความโกรธนั้นจะหายไป หรืออย่างน้อยก็ทำตัวให้ดีๆ หน่อย แต่นั่นยังเป็นเหตุปัจจัยที่ไม่เพียงพอต่อการเข้าถึงความจริงของตัวความโกรธ

การสร้างเหตุปัจจัยเพิ่มโดยการขยายทัศน์ไปสู่ “เราเข้าไปเป็นคนในของตัวตนนั้น” จะทำให้เราเข้าใจถึงความจริงของตัวตนนั้นอย่างเต็มเปี่ยม กล่าวคือ เราสามารถพูดอย่างที่เขาพูด รู้สึกอย่างที่เขารู้สึก โกรธอย่างที่เขาโกรธ ความโกรธนั้นคือตัวเรา ตัวเราก็คือความโกรธ เป็นหนึ่งเดียวกันอย่างแนบสนิท

แต่แล้วเราก็เริ่มรู้สึกว่า เราเป็นหนึ่งเดียวกับความโกรธ แล้วเหตุใดความโกรธจึงทวีคูณไปเรื่อยๆ แม้ว่าเราจะไม่คาดหวังแล้วว่า ความโกรธจะต้องแปรเปลี่ยนไปเป็นอะไร และยอมรับความจริงของความโกรธอย่างเต็มอก แต่ทำไมความโกรธนั้นจึงขยายออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

การสร้างเหตุปัจจัยสุดท้ายคือ การขยายทัศน์ไปสู่ “ตัวตนนั้นมองย้อนกลับมาที่ตัวตนเดิมของเรา” เป็นการมองผ่านสายตาของความโกรธ ที่สะท้อนกลับไปยังตัวตนเดิมที่เคยดำรงมาก่อนนี้ ว่าแท้จริงแล้ว ตัวตนเดิมนั้นก็เป็นเพียงตัวตนแห่งความขลาดกลัวณ จุดนี้เอง ที่เปิดโอกาสให้ตัวความโกรธและตัวความกลัวมีพื้นที่ยืนของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องกะเกณฑ์อะไรกัน และไม่จำเป็นต้องเป็นแบบเดียวกัน เคารพในความแตกต่างซึ่งกันและกัน และสามารสร้างความสัมพันธ์ฉันเพื่อนขึ้นมาใหม่ได้เอง

กระบวนการขยายทัศน์ข้างต้นนี้เรียกว่า “กระบวนการใจสะท้อนใจ” (Insider-Outsider Process) เป็นกระบวนการที่ช่วยสร้างเหตุปัจจัยที่พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลง “ความสัมพันธ์แบบผีสิง” ไปสู่ “ความสัมพันธ์ฉันเพื่อน” การเปลี่ยนแปลงจาก “ผี” ให้กลายเป็น “เพื่อน” คือการปลุกเอาศักยภาพที่มีอยู่ในตัวคุณออกมาใช้อย่างเต็มที่ คุณจะมีเพื่อนมากมายที่ดำรงอยู่ในใจคอยเป็นกองหนุนให้สามารถเผชิญกับโลกได้อย่างเต็มความสามารถ นำไปสู่การมีชีวิตที่สมบูรณ์ทั้งภายในและภายนอก มีความสุข และสร้างสรรค์ประโยชน์ต่อสังคมอย่างยิ่ง

Newer Posts Older Posts Home