โดย เมธาวี เลิศรัตนา
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๒


ประเด็นที่ผู้เขียนกำลังจุ่มจมความคิดและความรู้สึกเอาไว้ในช่วงนี้ก็คือ “การเฝ้ามอง เฝ้าสังเกตตัวเอง ด้วยสายตาของผู้อื่น” เฝ้าสังเกตว่าเหตุใดผู้คนจึงแสดงออก หรือ “เป็น” อย่างที่พวกเขากำลังเป็นอยู่ รวมถึงตัวของเราเองด้วย

ผู้เขียนเริ่มต้นจากการอ่านชีวประวัติของเหล่าผู้ให้กำเนิดและสืบค้นวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่ อย่างเช่น บิดาควอนตัม นีลส์ บอห์ร (Niels Bohr) ในวัยเด็กจนกระทั่งเข้าสู่วัยหนุ่ม บอห์ร กับน้องชายได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นผู้สังเกต และ “ฟัง” การสนทนาของนักคิด นักปรัชญา ซึ่งเป็นเพื่อนของพ่อที่มาตั้งวงกันที่บ้านทุกสัปดาห์ โดยสองพี่น้องไม่ได้รับอนุญาตให้พูด หรือแสดงความคิดเห็นใดๆ จึงมีการวิเคราะห์กันว่า ด้วยเหตุนี้บอห์รจึงได้บ่มเพาะคำถามไว้ภายใน จากการฝึกฟังอย่างลึกซึ้ง กลายเป็นความซับซ้อนทางความคิด พลวัตของการใคร่ครวญคำนึง จนเผยออกเป็นบุคลิกภาพ เป็นเนื้อเป็นตัวนีลส์ บอห์ร อย่างที่หลายๆ คนได้สัมผัสและพูดถึงเขาว่า บอห์รผู้ล้ำลึก ขณะเดียวกันนั้นเองบอห์รก็แทบจะสื่อสารเป็น “คำพูด” กับใครไม่ได้เลย อาจจะเป็นเพราะเขาไม่เคยได้รับอนุญาตให้พูด บอห์รพูดน้อยจนกระทั่งแทบจะนับคำได้ และเมื่อต้องพูดอธิบายอะไรยาวๆ ก็จะต้องมีล่ามแปลภาษาบอห์รที่มักจะเป็นลูกชาย น้องชาย หรือไม่ก็ภรรยา

ส่วนคนที่สองที่ผู้เขียนอยากพูดถึงก็คือ ริชาร์ด ฟายน์แมน (Richard Feynman) นักฟิสิกส์อัจฉริยะชาวอเมริกัน เจ้าของรางวัลโนเบล จากการพัฒนา quantum electrodynamics ศึกษาพฤติกรรมของอนุภาค-Feynman diagrams ผู้เป็นทั้งนักดนตรีและจิตรกรพร้อมกัน ถึงกระนั้นฟายน์แมนก็ยังสนุกสนานกับการ “เล่นกล” จนอาจกล่าวว่าเขาหลงเสน่ห์มายากลเลยก็ว่าได้ เขายังชอบถอดรหัส ไม่ว่าจะเป็นรหัสของศิลปะแขนงต่างๆ รหัสกล รหัสลับทางธรรมชาติ ไปจนถึงรหัสเซฟ เขาเล่าว่า พ่อของเขาผู้เป็นเซลส์แมนธรรมดาๆ นั้นไม่เคยทนความอยากรู้เทคนิคต่างๆ ของนักมายากลได้เลย พ่อจะใช้ความสามารถทุกอย่างเพื่อหาคำอธิบายว่า พวกนักมายากลเล่นกลได้อย่างไร แล้วสิ่งนั้น ความอยากรู้อันลึกล้ำนั้น ก็ได้เข้ามาสู่ชีวิตจิตวิญญาณของลูกชาย

คนสุดท้ายที่ผู้เขียนอยากจะยกมาก็คือ ไบรอัน กรีน (Brian Greene) นักฟิสิกส์ทฤษฎีร่วมสมัยผู้มุ่งมั่นกับการก่อประกอบทฤษฎีสรรพสิ่ง ทฤษฎีสายใยจักรวาล (String Theory) ผู้เขียนได้ค้นพบแหล่งที่มาแห่งอัจฉริยภาพของกรีนเข้าโดยบังเอิญจากการอ่านหนังสือของเขา กรีนเล่าว่า พ่อกับเขามีเกมหนึ่งที่เล่นกัน เป็นประจำในวัยเด็ก นั่นคือการตั้งคำถามแล้วให้อีกฝ่ายตอบอย่างรวดเร็ว (จนแทบไม่ต้องคิด) คำถามก็จะประมาณ “แมลงที่เกาะอยู่ตรงล้อรถคันนั้นเห็นอะไร” “นกที่กำลังบินโฉบอยู่นั่น มันเห็นอะไร” เมื่อถูกถามว่า “มดที่อยู่บนฮอทดอกซึ่งพ่อค้ากำลังโรยผักลงไปนั้น มันเห็นอะไร” กรีนก็จะตอบอย่างรวดเร็วไปว่า “กำลังยืนอยู่บน วัตถุทรงกลมสีเข้ม มีผนังสีขาวหยุ่นๆ โดยรอบ และมีผักตกลงมาจากฟ้า” แล้วด้วยเหตุแห่งเกมของพ่อนี้เองกระมังที่ทำให้กรีนกลายเป็นหนึ่งในไม่กี่คนบนโลกใบนี้ที่แตกฉานในสัมพัทธภาพ

นักฟิสิกส์อัจฉริยะทั้งสามซึ่งผู้เขียนยกมาคราวนี้ก็เป็นตัวอย่างการมองด้วยสายตาของผู้อื่น แล้ว “เห็น” ความเกี่ยวเนื่องโยงใยอันซ่อนเร้นภายใน ซึ่งเผยออกสู่ภายนอกของเขาเหล่านั้น

แล้วก็มาถึงวัยเด็กของตัวผู้เขียนเอง ตัวตนอันใครต่อใครมักจะมองว่าเป็นมนุษย์ประหลาด (ทั้งที่เราก็ต่างแปลกประหลาดในสายตาของกันและกันทั้งนั้น) เรื่องราวอาจจะเริ่มต้นในตอนบ่ายแก่ๆ ของวันธรรมดาๆ วันหนึ่ง ในวันนั้นผู้เขียนยังเป็นเด็กหญิงวัยหกเจ็ดขวบ ใส่เอี๊ยมไปนั่งรอแม่ผู้เป็นครูสอนเด็กกำพร้าในสถานสงเคราะห์เด็กชายแห่งหนึ่ง บริเวณที่นั่งรออยู่ริมบ่อเล็กๆ มีก้อนหินวางเรียงรายโดยรอบ การรอคอยเหมือนกับว่าไม่มีทางจะสิ้นสุดลงไปง่ายๆ กระทั่งสายตาของเด็กน้อยได้มองผ่านผิวน้ำลงไปในบ่อ เห็นลึกลงไปในรายละเอียด ตะไคร่น้ำ ไข่ของแมลง และสัตว์น้ำเล็กๆ พวกมันบางตัวก็ดูเป็นเยลลี่สีใส ที่ลอยละล่องอยู่ มันแบ่งแยกจากน้ำที่ล้อมรอบมันไว้ก็ตรงผิวเยื่อบางๆ ที่ห่อหุ้ม กำหนดขอบเขตของตัวมันเอง เยลลี่ใสบางก้อนกำลังปรับรูปร่างของมันให้เคลื่อนที่หรือหยุดนิ่งอยู่กับสภาวะรอบๆ ตัว แมลงน้ำตัวหนึ่งเกาะอยู่บนหินก้อนใหญ่ที่มีตะไคร่เขียว ดูประหนึ่งกวางที่อยู่ในทุ่งหญ้า

ฉับพลันทันทีนั้น เด็กน้อยก็แว้บ!! เห็นภาพตัวเองที่กำลังนั่งสังเกตบ่อน้ำนั้นเป็นประหนึ่งสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ในบ่อ หรือโลกทั้งใบอันใหญ่โตนี้จะเป็นเพียงหินก้อนหนึ่ง เธอสะดุ้ง!! จนต้องละสายตาจากบ่อน้อย เงยหน้า ขึ้นมองท้องฟ้า เผื่อว่าจะได้สบสายตากับใคร หรืออะไรก็ไม่รู้ที่เธอรู้สึกว่ากำลังเฝ้าสังเกตเธออยู่เช่นกัน เธอรู้ตัว ณ ขณะนั้นว่า เธอไม่ได้เป็นแค่เพียงผู้สังเกต หากเธอเป็นผู้ถูกสังเกตพร้อมๆ กันไปด้วย ไม่มีความเหงา เปลี่ยว เดียวดาย ดำรงอยู่อีกต่อไป

ผู้เขียน ณ ปัจจุบันขณะนี้ ก็เป็นผู้สังเกตอีกคนหนึ่งที่ย้อนเวลากลับเข้าสู่สภาวะนั้นได้เสมอ การรอคอยอันเป็นนิรันดรได้สิ้นสุดลงแล้ว เด็กหญิงสบตากับสิ่งมีชีวิตเล็กๆ เธอก็สบสายตากับตัวเอง และผู้เฝ้ามอง ซ้อนๆ กันไปอีกหลายชั้น

แล้วคุณผู้อ่านล่ะ มีหรือเปล่า ในวันฟ้าใสๆ จิตใจสงบนิ่ง แล้วต่อหน้าต่อตาคุณสิ่งที่เคยเห็นว่าเรียบง่ายธรรมดา เช่น ต้นไม้สักต้น สายธารสักแห่ง ก้อนหินสักก้อน ฉับพลันก็เกิดมีความงามที่ไม่ธรรมดาปรากฏขึ้น ณ ห้วงขณะนั้น ฉัน เธอ และนักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ทั้งหลาย ก็หลอมรวมดวงใจเข้าด้วยกัน ความสามารถอย่างใหม่ก่อเกิดขึ้น สิ่งนั้นก็คือ เราสามารถ “เห็น” ตัวเราในสายตาของผู้อื่น



โดย จารุพรรณ กุลดิลก
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๕๒


ผู้เขียนได้รับจดหมายจากเพื่อนชาวต่างชาติ เขาส่งคลิปวิดีโอรายการ โคนาน โอไบรอัน (Conan O'Brien) ซึ่งเชิญดาราตลก หลุยส์ ซี เค (Louis C. K.) มาสนทนาวิพากษ์วิจารณ์โลกแห่งเทคโนโลยีและบริโภคนิยมอย่างสนุกสนาน (http://www.youtube.com/watch?v=LoGYx35ypus) หลุยส์ ซี เค บอกว่า เป็นเรื่องน่าทึ่งมากที่ในปัจจุบันคนเราสามารถทำอะไรต่ออะไรในเวลาอันรวดเร็ว สามารถเดินทางไปในสถานที่ซึ่งเมื่อก่อนต้องใช้เวลายาวนาน นานขนาดอาจจะต้องคลอดลูกระหว่างเดินทางด้วยซ้ำ แต่เดี๋ยวนี้การเดินทางนั้นรวดเร็วและน่าทึ่งมาก หรือการใช้ชีวิตประจำวันที่สะดวกสบาย การถอนเงินออกจากธนาคารได้อย่างรวดเร็ว หรือโทรศัพท์เพื่อติดต่อใครสักคนภายในไม่กี่วินาที แต่ทำไมคนก็ยังไม่มีความสุข?

คำถามของหลุยส์ช่วยให้คนตื่นขึ้นสู่โลกแห่งความเป็นจริง ผู้เขียนสะดุดใจกับประโยค “ทุกอย่างน่าอัศจรรย์ แต่คนไม่มีความสุขเลย” ซึ่งอธิบายสถานการณ์ในปัจจุบันได้อย่างดีเยี่ยม ทำให้คนเราหันกลับมาตั้งคำถามว่า หากเรามีเครื่องอำนวยความสะดวกครบถ้วนแล้วจะทำให้มีความสุขมากขึ้นจริงหรือ เราเคยเห็นตัวเองหงุดหงิดเมื่อเวลาเครื่องอำนวยความสะดวกเหล่านี้ไม่ทำงานให้ได้ดังใจไหม ความหงุดหงิดมาจากที่ใด สรุปแล้วเครื่องอำนวยความสะดวกไม่ได้บ่มเพาะความใจเย็นให้คนมากขึ้นใช่ไหม

อย่างไรก็ตามผู้เขียนไม่ได้เหมารวมและไม่ได้อยากให้ผู้อ่านมุ่งประเด็นความผิดไปที่เทคโนโลยีและความสะดวกสบายไปเสียทั้งหมด ผู้เขียนเพียงแต่ชี้ให้เห็นว่าความสะดวกสบายในโลกยุคปัจจุบันไม่ได้ช่วยทำให้คนมีความสุขมากขึ้นกว่าเดิม ดังนั้นหากสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ จะสามารถช่วยให้การใช้ชีวิตและการทำงานสะดวกสบายขึ้นก็ถือเป็นความโชคดีของคนรุ่นเรา แต่ไม่ควรยึดติดกับสิ่งเหล่านี้ เพราะจะทำให้เกิดความคาดหวังว่าทุกอย่างจะต้องตอบสนองอย่างรวดเร็ว เพราะจะกลายเป็นการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความใจร้อนให้โตวันโตคืน เมื่อใดที่ไม่ได้รับความสะดวกสบายจะเกิดโทสะอย่างยิ่ง และขาดความอดทนในการรอคอยสิ่งต่างๆ ในชีวิตมากขึ้น

คลิปวิดีโอที่ผู้เขียนได้รับนั้นได้ทำให้เห็นว่าคนเริ่มตื่นสู่โลกแห่งความจริงมากขึ้นแล้ว โดยเฉพาะเจ้าของเทคโนโลยีที่เป็นชาวต่างชาติเอง เขาฉุกคิดได้ เมื่อสังเกตเห็นการบริโภคเทคโนโลยีในชีวิตประจำวันของตนพร้อมกับดูใจตัวเองว่าเป็นสุขเป็นทุกข์อย่างไร ก็พบความจริงว่าไม่มีวัตถุสิ่งของใดจะทำให้คนมีความสุขมากขึ้นได้ นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญมาก

เมื่อสังเกตใจดีๆ ก็จะพบว่าไม่มีสิ่งใดเลยจริงๆ ที่ทำให้คนมีความสุขมากขึ้นอย่างยั่งยืน ทั้งวัตถุ เครื่องอำนวยความสะดวก กิจกรรมบันเทิงต่างๆ ไม่ได้บ่มเพาะให้คนใจเย็น หรือมีความสุขแท้ๆ กลับจะยิ่งทำให้พ่ายแพ้ต่อผู้ผลิตที่ชาญฉลาดที่นำสิ่งอำนวยความสะดวกมาเสนอในราคาสูงขึ้นๆ เพื่อตอบสนองความต้องการในความรวดเร็วและทันสมัยมากยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ โดยหลงลืมไปว่าชีวิตไม่ได้ง่ายขึ้นเลย กลับต้องพึ่งพาอาศัยสิ่งนอกตัวมากขึ้นด้วยซ้ำ

อีกทั้งเรายังหลงลืมไปว่าผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัยนั้น ต้องใช้ทรัพยากรมากขนาดไหน เป็นการทำลายทรัพยากรไปมากเกินความจำเป็นหรือไม่?

หากจะเชื่อมโยงให้เห็นวัฏจักรของความใจร้อนไปสู่โลกร้อนก็คงไม่ยากนักสำหรับคนในยุคสมัยนี้ที่คงจะมีความสามารถในการคำนวณความเสียหายได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน

ดังนั้นหากช่วยกันคนละไม้คนละมือลดการบริโภคที่เกินความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของตน ระลึกให้ได้ว่าการบริโภคที่เกินความจำเป็นไม่ได้ส่งผลดีต่อจิตใจ แต่จะเป็นการบ่มเพาะอารมณ์ร้อน อารมณ์โกรธเสียมากกว่า ก็จะช่วยโลกได้อย่างน่าอัศจรรย์ มากกว่าความอัศจรรย์ของเทคโนโลยีที่อาจจะทำให้โลกขาดสมดุลและเกิดหายนะโดยรวมในไม่ช้า นักวิทยาศาสตร์หลายคนก็ได้แสดงให้เห็นอัตราการบริโภคเป็นสัดส่วนโดยตรงต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติไว้มากมายแล้ว ทางเดียวที่จะเยียวยาโลกก็คือช่วยกันคนละไม้คนละมือจริงๆ ด้วยการบริโภคเท่าที่จำเป็น

ผู้อ่านอาจจะสงสัยว่า แล้วเศรษฐกิจยุคถดถอยนี้ หากไม่ช่วยกันบริโภคจะทำให้เศรษฐกิจคล่องตัวมากขึ้นได้อย่างไร ผู้เขียนอยากเรียนว่า เมื่อถึงยุคเศรษฐกิจถดถอย แสดงว่าคนไม่สามารถบริโภคมากไปกว่านี้แล้ว สินค้าฟุ่มเฟือยมีปริมาณมากเกินไปและราคาสูงเกินความจำเป็นแล้ว ผู้ปกครองประเทศน่าจะต้องทบทวนโครงสร้างงานและอาชีพใหม่ว่าคนมีความต้องการทำงานในเรื่องใด มากกว่าการผลิตเครื่องอำนวยความสะดวกที่เกินจำเป็น ต้องถือโอกาสนี้สร้างงานที่มาจากพื้นฐานความสามารถที่พึ่งพาตนเองได้ในประเทศ คนจับจ่ายใช้สอยอย่างมีสติมากขึ้นไม่ใช่เรื่องผิด เศรษฐกิจที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงของชีวิตย่อมถดถอยเป็นธรรมดา

ประเทศเยอรมนีมีคนตกงานมาก แต่เศรษฐกิจไม่ได้ถดถอยไปเท่าใด และคนตกงานก็ยังมีชีวิตที่มีความสุขพอประมาณ เนื่องจากรัฐสามารถให้การดูแลอย่างเต็มที่ หากพิจารณาโครงสร้างเศรษฐกิจของเยอรมนีแล้ว ก็จะพบว่าสามารถสะท้อนความเป็นจริงของวิถีชีวิตและความสามารถของคนเยอรมันได้อย่างดีเยี่ยม เศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกจึงไม่สะเทือนโครงสร้างที่เข้มแข็งที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ในประเทศ

สุดท้ายคนย่อมไม่มีความสุขไปได้เลย ตราบใดที่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงของชีวิต และสมดุลระหว่างคนและทรัพยากร ไม่ว่าจะได้รับความหวังดีจากคนอื่นมาแก้ไขปัญหาต่างๆ ในการดำรงชีวิตอย่างไร การแก้ไขปัญหาด้วยทฤษฎีและเครื่องมือที่น่าอัศจรรย์เพียงใด แต่ไม่อยู่บนพื้นฐานความเข้าใจปัญหา ก็ย่อมไม่สามารถรักษาให้ถูกอาการ คนย่อมเครียดและไม่มีความสุขฉันใดก็ฉันนั้น



โดย สาทร สมพงษ์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๒

ลูกชายของผมเริ่มเรียนโฮมสคูล (บ้านเรียน) ตั้งแต่ ป. ๒ ในช่วงนั้นผมกับภรรยาลงไปทำงานพัฒนาเด็กและเยาวชนในแถบเชิงเขาตอนล่างสุดของเทือกเขาบรรทัดด้านตะวันออก เราชวนเด็กๆ และผู้ใหญ่ที่สนใจช่วยกันดูแลรักษาป่าต้นน้ำของคลองภูมีซึ่งไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลา ด้วยการทำกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ห้องสมุดเพื่อเด็ก กลุ่มโนราเยาวชน ละคร ดูนก และการบวชป่า เป็นต้น การเรียนของลูกชายจึงเลื่อนไหลไปตามวิถีการงานของพ่อแม่ ผ่านการทำกิจกรรมร่วมกับพี่ๆ ในค่ายซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่มักจะมีจุดเริ่มจากความสนใจ ความอยากรู้อยากเห็น หรือความใฝ่รู้ของเด็กเอง แรงบันดาลใจ ความรู้สึกที่อยากจะเรียนรู้จึงมาจากภายในของเด็ก ไม่ใช่เรียนไปเพราะกลัวสอบตก กลัวไม่ได้คะแนนดีๆ หรือกลัวไม่ได้รับการยอมรับ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผลมาจากอิทธิพลภายนอกทั้งนั้น การเรียนรู้ของลูกๆ จึงต่างไปจากการเรียนหนังสือเพราะความกลัวของเด็กรุ่นเดียวกันอีกจำนวนมาก

สิ่งสำคัญในพัฒนาการของเด็กวัยนี้ที่ผู้ใหญ่มักไม่เข้าใจก็คือ เด็กจะเรียนรู้อะไรๆ ผ่านอารมณ์ความรู้สึก เป็นเรื่องของความสนุกสนาน ความชอบ ยังไม่มีเรื่องของเหตุ ของผล หรือเรื่องของความคิดอะไรมากมาย เขาไม่ได้คิดว่ามันเป็นเรื่องดี-ไม่ดี ผิด-ถูก ยังไม่มีการตัดสิน การประเมินค่า การตีความ หากไม่มีความคิดหรือกรอบอะไรลงไปกำหนดมากนัก เด็กก็จะสามารถสัมผัส รับรู้ อะไรได้ตรงๆ ตามที่มันเป็นได้ดี และนี่ก็คือช่องทางที่เด็กจะเข้าถึงความจริงที่ดำรงอยู่ได้ง่าย เพราะอารมณ์และความรู้สึกนั้นออกมาจากหัวใจ โดยไม่ได้ผ่านแว่นที่หนาเตอะของความคิด ความเชื่อ ข้อสรุป ทฤษฎี หรือทิฐิใดๆ

๓ ปีต่อมา ผมย้ายพื้นที่ทำงาน จากพื้นที่เดิมเลาะเลียบเชิงเขาเทือกเดียวกันขึ้นมาสู่อีกจังหวัดหนึ่ง เป็นพื้นที่ต้นน้ำของธารน้ำอีกสายหนึ่งที่ไหลลงสู่ทะเลสาบเช่นกัน คราวนี้ผมย้ายลงมาอยู่ในหมู่บ้านเลย มาปลูกบ้านอยู่ชายป่าริมลำธาร ห่างจากหมู่บ้านมุสลิมซึ่งอยู่ใกล้ที่สุดราวๆ เกือบ ๑ กม. เราอยู่กันโดยไม่มีไฟฟ้า ข้าวของเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ จึงไม่มี เราใช้เพียงเทียนไขหรือตะเกียงให้แสงสว่าง ตกค่ำเราก็นั่งล้อมวงรอบตะเกียงอ่านหนังสือกัน หนังสือจึงเป็นความรื่นรมย์ที่แสนจะอบอุ่นในยามค่ำคืน บางครั้งลูกๆ ก็อาจจะหลับอยู่บนตักของพ่อหรือแม่ไปเลย เขาจึงมีโอกาสดีที่จะได้เติบโตท่ามกลางสภาพแวดล้อมของธรรมชาติ ได้ขลุกอยู่กับผืนดิน ได้แหวกว่ายอยู่ในสายน้ำ รู้จักที่จะก่อไฟ หุงข้าว ต้มแกง กับไม้ฟืน

ผมคิดว่าการใช้ชีวิตติดดินจะทำให้เด็กได้เรียนรู้อย่างเป็นองค์รวม มนุษย์เราจะใช้กายเป็นส่วนที่จะเชื่อมโยงสื่อสารกับธรรมชาติ ผ่านการลงเรี่ยวลงแรงทำงาน ผ่านประสาทสัมผัส ในมิติของรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ เราจะต้องอาศัยปัญญากายเป็นฐานที่สำคัญ ในทางพุทธเรียกว่ากายานุปัสสนา สภาวะที่เกิดขึ้นก็คือความตื่นรู้ ซึ่งจะเป็นตัวนำหรือช่องทางที่จะนำเราเข้าไปสู่สัจจะ ความจริงของชีวิต และโลก ขณะเดียวกันก็เกื้อกูลโอกาสให้หัวใจได้เบ่งบานและอ่อนโยนอย่างเต็มศักยภาพ ได้ซึมซับอยู่ในบรรยากาศของการอุทิศตน การทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น นั่นก็คือความสามารถที่จะรัก ความรู้สึกสำนึกในความชื่นชม ขอบคุณ ผู้คน ชุมชน สรรพชีวิต ที่เอื้อให้ชีวิตเราดำรงอยู่ได้อย่างปกติสุข การรู้จักให้อภัยต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ทั้งที่มาจากตัวเราเองและคนอื่นๆ

ในช่วงวัย ๗-๑๔ ปีหรือช่วงประถมต้นจะเป็นช่วงวัยแห่งพัฒนาการฐานใจโดยแท้ การมีหัวใจที่เต็มเปี่ยมจะเป็นรากฐานที่จำเป็นต่อความเข้าใจในเรื่องของสัมพันธภาพ การอยู่ร่วมกัน และเชื่อมโยงไปสู่การเข้าถึงสาระที่สำคัญของชีวิต

นอกจากนั้น สิ่งที่จำจะต้องงอกงามขึ้นมาอีกอย่างหนึ่งในวัยเด็กช่วงนี้ก็คือ เรื่องของจินตนาการ วัยเด็กโดยธรรมชาติแล้วก็จะเป็นช่วงที่รุ่มรวยไปด้วยจินตนาการ จินตนาการนั้นเป็นความสามารถที่จะมองเห็นความเป็นไปได้ ตลอดจนแง่มุมใหม่ๆ ของปัญหาหรือเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เป็นความไม่ติดยึดอยู่กับความเชื่อ ประสบการณ์ หรือข้อสรุปเดิมๆ

สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ช่วยหล่อเลี้ยงวิญญาณของมนุษย์เราไม่ให้อับเฉาก็คืออารมณ์ขัน และการมีอารมณ์ขันก็เชื่อมโยงแนบแน่นอยู่กับเรื่องของจินตนาการเช่นกัน

เงื่อนไขของการทำบ้านเรียนที่ค่อนข้างอิสระในการจัดการเรียนรู้ของลูกชายทำให้ปัญญาในองค์รวมของชีวิตดังที่กล่าวมาเติบโตขึ้นพอสมควร ในช่วงชั้นประถม เราลงเรียนกับโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก จังหวัดกาญจนบุรี พอขึ้นมัธยมก็ไปลงทะเบียนเรียนกับ กศน. กระทั่งเขาเรียนจบ ม. ๓ บรรยากาศที่ไม่ไปทางไหนสักทางของ กศน. ทำให้เขารู้สึกโหวงเหวงกับการศึกษานอกระบบมากขึ้น เราเองก็พยายามจัดให้เขาได้ออกไปเรียนรู้ข้างนอก หรือส่งไปเรียนรู้กับแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ในช่วงวันหยุดหรือปิดภาคเรียน

วันหนึ่งเขาเสนอจะกลับเข้าไปเรียนในระบบอีกครั้งในช่วงขึ้น ม. ๔ ผมคิดว่าเหตุปัจจัยที่สำคัญต่อการตัดสินใจของเขาก็คือความเหงา การไม่มีเพื่อน วัยรุ่นเป็นวัยที่ให้ความสำคัญกับเพื่อนค่อนข้างมาก

เมื่อลูกเรียนในระบบถึงสองคน เราเริ่มใช้เงินมากขึ้น ดูคล้ายเราเริ่มเชื้อเชิญให้เงินเข้ามากำหนดชะตากรรมในชีวิตมากขึ้นทุกที เราเริ่มผละออกจากผืนดิน ขยับไปอยู่ในตัวเมืองของอำเภอข้างเคียง เราเปิดสอนพิเศษอยู่ได้พักหนึ่งก็เริ่มจะไปไม่รอด เลยหันเหเข้ามาสู่งานที่เป็นความเคยชินเดิมๆ อีกครั้ง ผมทำวิจัย ภรรยาทำงานพัฒนากับโรงเรียนเอกชน คราวนี้เข้ามาอยู่ในตัวจังหวัดที่ติดกันเลย วิถีชีวิตเราเริ่มแปรเปลี่ยนไป ราวกับว่าเราเปลี่ยนศาสนาใหม่ เรากำลังเลือกเงินมากกว่าชีวิตหรือเปล่า?

ผมมีโอกาสจับจอบ จับพร้าน้อยลง แต่เดินทาง ขับรถ หรือไม่ก็นั่งพิมพ์หนังสือเป็นวันๆ ภรรยาผมก็ตะลอนๆ ไปตามโรงเรียนต่างๆ บางทีก็เดินทางประชุมขึ้นลงกรุงเทพฯ เป็นว่าเล่น

วิถีการเรียนรู้ของลูกชายก็เช่นกันได้เปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือทีเดียว ตั้งแต่สิ่งที่ผลักดันให้เขาเรียนกลายเป็นเรื่องคะแนน เขาจึงเรียนไปด้วยความกลัว มิใช่ความรักที่จะเรียนรู้ หรือแรงบันดาลใจซึ่งมาจากภายในของเขา บรรยากาศของโรงเรียนที่เต็มไปด้วยการใช้อำนาจ กฎระเบียบที่ต้องปฏิบัติ ทำให้ลูกชายของผมเริ่มได้เรียนรู้ รู้จักกับความรู้สึกที่ถูกกดดัน ความเคร่งเครียดอย่างจริงจัง เป็นประสบการณ์ตรง ผมที่เคยดำสนิทเริ่มกลายเป็นสีขาว เด็กวัย ๑๗-๑๘ ปีเริ่มมีผมหงอกจึงเป็นเรื่องที่ชวนคิดกับความจริงที่เกิดขึ้นกับลูกของเรา งานกับการพักผ่อนเริ่มจะแยกออกจากกันชัดเจนขึ้น เขาไม่อาจคงการพักผ่อนอยู่ในงาน การเรียนรู้กลายเป็นเรื่องที่จะมาทำให้เหนื่อยหน่ายและเครียด ไม่มีความสนุกสนานในการเรียนรู้อีกต่อไป ยิ่งเรียนก็ยิ่งต้องการพักผ่อนคลายเครียด สิ่งที่เด็กๆ เข้าไปหาก็คือการเล่นเกมคอมพิวเตอร์ หนังสือการ์ตูน การเที่ยวเตร่ ดูหนัง ฟังเพลง บางคืนเด็กอาจจะเล่นเกมตลอดคืนโดยไม่นอน ลูกชายเคยบอกว่าเขาเล่นเท่าไหร่ก็ไม่รู้สึกอิ่ม หรืออาจเป็นเพราะชีวิตที่แบ่งแยกดังกล่าวจึงทำให้เด็กกระหายในการผลักความเครียดออกไปอยู่ตลอดเวลา

หลักใหญ่อีกอย่างหนึ่งของการศึกษาในระบบโรงเรียนก็คือ การให้ความสำคัญกับเรื่องความคิด จึงเน้นการพัฒนาความคิด เด็กขลุกอยู่กับการท่องจำเพื่อไปสอบให้ผ่านๆ ไป โรงเรียนโดยทั่วไปจึงละเลยเรื่องของปัญญากายและปัญญาของหัวใจ นี่จึงเป็นสาเหตุใหญ่ของนานาปัญหาซ้ำซากที่เกิดขึ้นในโรงเรียน บุคลิกภาพของเด็กจึงมักจะล่องลอย หรือไม่ก็จมอยู่กับความคิด สิ่งเหล่านี้แสดงออกให้เห็นได้จากการใช้ชีวิตที่หลุดออกไปจากคนอื่นๆ ในครอบครัว เขาจะสนใจช่วยเหลือการงานต่างๆ ในบ้านน้อยลง ไม่ใช้ไม่บอก ก็จะไม่ทำ เสื้อผ้าก็ต้องส่งซัก หนักๆ เข้าก็ต้องสังคายนากันใหญ่สักครั้งหนึ่ง

ลูกชายบอกว่าเขาเข้าไปเรียนในระบบครั้งนี้ก็เพื่อเข้าไปเรียนรู้ เข้าใจความต่าง ด้วยตัวเขาเอง ไม่ใช่ผ่านจากคำบอกเล่าของพ่อแม่ ผมเริ่มไม่แน่ใจว่าเขากำลังเข้าไปเป็นความต่างนั้นเสียเองหรือเปล่า หรือนี่คือวิถีการเรียนรู้ของเขาที่จะต้องเข้าไปเป็นเนื้อเดียวกับสิ่งนั้นโดยไม่มีการแบ่งแยก เพื่อที่จะรู้จักเข้าใจอย่างที่มันเป็นจริงๆ ไม่ใช่การรู้จักผ่านตัวตนหรือความรู้ที่ผู้ใหญ่อย่างเราๆ มักจะสำคัญผิดอยู่บ่อยๆ บางทีเราอาจจะต้องนิ่งและอดทนให้มากขึ้น กับระยะผ่าน กับการเข้าไปคลุกคลีกับสิ่งต่างๆ ที่ไม่ค่อยต้องใจเรานัก

เด็กเป็นวัยที่เพิ่งจะเหยียบย่างเข้ามาในอาณาจักรแห่งชีวิต เมื่อเขาเริ่มจะเดินได้ด้วยตัวเองใหม่ เขาก็ย่อมกระตือรือร้นและสนุกที่จะเดินด้วยตัวเขาเอง มากกว่าที่จะให้พ่อแม่ต้องคอยจับมือประคองไปด้วยอย่างแน่นอน เพราะบางครั้งเมื่อเขากำลังสนุกมากๆ เขาก็อาจจะสะบัดมือของเราให้หลุดออกไปเลยก็ได้ เรายังจำกันได้ไหมครับ

พ่อแม่เองก็อาจจะต้องเรียนรู้ที่จะวางใจกับชีวิตบ้าง เผื่อว่าชีวิตเราจะได้ผ่อนคลายและสงบสุขได้มากขึ้น มาถึงตรงนี้ผมเริ่มค้นพบว่าตัวเองก็ยังเป็นนักอุดมคติอยู่อีกมาก และตัวอุดมคตินี่หรือเปล่าที่เป็นตัวขวางกั้นมิให้เราได้สัมผัสกับพระผู้เป็นเจ้าซักที


เขียนให้กับลูกชายที่กำลังจะเข้ามหาวิทยาลัย

ด้วยความรัก และเริ่มวางใจ

พ่อเอง



โดย ชลนภา อนุกูล
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๕๒

หลังจากโปรแกรมเมอร์หนุ่มอายุสามสิบเจ็ดปีทำงานหามรุ่งหามค่ำติดต่อกันมาหลายเดือน เขาก็เขียนโค้ดบรรทัดสุดท้ายเสร็จ ลุกออกจากโต๊ะทำงานเพื่อพักสายตา เดินผ่อนคลายไปมา ร่างก็ล้มลง แน่นิ่ง หัวใจวาย เวลาที่เขาเสียชีวิตห่างจากเวลาเก็บข้อมูลในคอมพิวเตอร์ไม่ถึงสิบนาที

โปรแกรมเมอร์อีกคน อายุสามสิบแปด วิถีชีวิตในการทำงานไม่ต่างจากคนแรก เพิ่งเดินออกมาจากห้องประชุม แน่นหน้าอก อาเจียน ถูกนำส่งโรงพยาบาล และเสียชีวิตหลังจากนั้น

ที่ปรึกษาวัยสามสิบเก้า หลังจากปิดโครงการที่ทำติดต่อกันมาหลายปี เขากะจะพักยาวสักครึ่งปี หลังจากโทรศัพท์มาลางานเพราะรู้สึกไม่สบาย ก่อนเที่ยงวันนั้นที่ทำงานได้รับโทรศัพท์จากแม่ของชายหนุ่ม เขาหลับไม่ตื่น แม่ขึ้นไปปลุกก็พบว่าลูกชายมือเขียว ตัวเขียว คาดว่าเส้นเลือดตีบขณะนอน

เชื่อไหม ทั้งสามคนอยู่ในองค์กรเดียวกัน?

แต่เรื่องราวเหล่านี้ไม่ได้จำกัดอยู่ในที่ทำงานแห่งเดียวเท่านั้น

บริษัทด้านโทรคมนาคมอีกแห่ง หญิงสาววัยสามสิบห้ากำลังจะได้รับการเลื่อนตำแหน่ง ต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อสร้างผลงาน เพื่อนฝูงไม่ค่อยได้เจอหน้าเหมือนเคย ทราบข่าวทีไร เธอเพิ่งออกจากโรงพยาบาลทุกที ทำงานจนป่วย ป่วยแล้วเข้าโรงพยาบาล เข้าโรงพยาบาลก็ไม่กล้าบอกเพื่อน เพราะกลัวถูกตำหนิ ถูกห้ามไม่ให้ทำงานหนัก

ที่โรงงานอีกแห่ง วิศวกรหนุ่มผู้บุกเบิกก่อตั้งโรงงานมาแต่แรกหลังจากเรียนจบหมาดๆ จนกระทั่งเป็นพ่อของลูกสามคน และจากโรงงานแห่งเดียวขยายเป็นสามแห่ง ขณะนี้ต้องเข้าโรงพยาบาล และได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหัวใจ อายุยังไม่ถึงสี่สิบปี หมดสิทธิ์ทำงานหนัก และต้องงดทั้งชา กาแฟ และน้ำอมฤตทั้งหลาย

เอ็นจีโอสาวอายุเลยเบญจเพสไม่เท่าไหร่ มีโอกาสไปฝึกอบรมที่ต่างประเทศสองสัปดาห์ เธอได้อยู่นานกว่ากำหนด เพราะล้มป่วยเนื่องจากการหักโหมงานหนักก่อนเดินทาง และต้องเข้าไปอยู่ในโรงพยาบาลตั้งแต่วันแรกที่ไปถึง

คนหนุ่มคนสาวในวัยทำงานยุคนี้ กำลังทำงานหรือฆ่าตัวตาย?

กัลยาณมิตรท่านหนึ่งขยายความว่า ผู้คนทำงานหนักก็เพราะต้องการประสบความสำเร็จ และเข้าใจว่าความสำเร็จเป็นความสุข

แต่ในชีวิตมนุษย์คนหนึ่ง ความสุขอันเกิดจากการประสบความสำเร็จมันจะมีได้สักกี่ครั้งกัน? เรียนจบ รับปริญญา แต่งงาน เลื่อนตำแหน่ง ปิดโครงการ – ความสุขที่เกิดจากความสำเร็จใหญ่-ใหญ่ เหล่านี้ จะมีได้สักกี่หนในชีวิต?

กัลยาณมิตรท่านเดิมตั้งคำถามว่า แล้วถ้าเราตาย เนื่องจากทำงานหนัก อุทิศชีวิตเพื่องานจนตาย เราได้รับอะไรตอบแทนบ้าง?

ที่เห็นกันชัด-ชัด ที่ทำงานเป็นเจ้าภาพงานศพให้อย่างน้อยหนึ่งคืน ได้พวงหรีด ผู้คนกล่าวคำไว้อาลัย – มันก็เท่านั้นเอง

ครูบาอาจารย์เคยกล่าวไว้ว่า “ปรกติแล้ว มนุษย์ย่อมไม่ปรารถนาความทุกข์ เขาหรือเธอย่อมปรารถนาความสุข”

หากเราต้องการความสุขแล้ว การประสบความสำเร็จและหรือการทำงานหนักอาจจะไม่ใช่หนทางก็ได้ ความสุขเล็ก-เล็ก น้อย-น้อย ย่อมเป็นสิ่งที่ประสบพบเจอได้ง่ายกว่า และมีปริมาณมากกว่า - ไม่ใช่ล่ะหรือ?

ความสุขจากการได้ประกอบสัมมาชีพ การเอื้อเฟื้อต่อเพื่อนร่วมงาน การดูแลครอบครัวทั้งผู้เฒ่าผู้แก่ เด็กน้อย วัยรุ่นที่กำลังโต การอยู่ในที่ที่มีอากาศดี การที่สามารถมองเห็นต้นไม้ดอกไม้และธรรมชาติรอบตัว การที่มีสุขภาพดีทั้งกายและใจ และ – เชื่อว่าพวกเราแต่ละคนคงเขียนรายการความสุขเล็ก-เล็ก น้อย-น้อยในชีวิตได้มากกว่าหนึ่งหน้ากระดาษอย่างแน่นอน

สำหรับผู้ที่ทำงานหนัก เอาจริงเอาจังกับการงานนั้น จำเป็นต้องหยุดพักหาเวลาคิดใคร่ครวญตั้งคำถามกับตนเอง ว่าความสุขของตนเองคืออะไร? การอุทิศตนเพื่อการงานนั้นเป็นไปเพื่ออะไร? ทำงานสำเร็จแต่ทะเลาะกับเพื่อนร่วมงานเกือบทุกคนเรียกว่าประสบความสำเร็จไหม? การทำงานของเรานั้นแท้จริงแล้วรับใช้ใครหรืออะไร? เป้าหมายของชีวิตคืออะไร? เรากำลังอยู่บนหนทางหรือไม่?

บางคนมีโลภะมาก เห็นงานโน้นงานนี้น่าทำไปหมด และอยากจะทำไปเสียทุกอย่าง หากนั่งจิบชานิ่ง-นิ่ง พิจารณาให้ดี งานดี-ดีเดี๋ยวก็จะมีคนมาทำ ไม่จำเป็นต้องเป็นเราก็ได้ และต้องมีมุทิตาจิตให้มากเมื่อเห็นคนอื่นทำดีหรือความดี เพราะโลกหรือสังคมจะดีขึ้นได้ก็เพราะมีคนทำดีหรือความดีมากขึ้น ไม่ใช่เราเก่งและดีอยู่คนเดียว

นึกถึงคำสอนของครูบาอาจารย์ “เวลาเห็นคนอื่นทำงาน มันก็มีผลอยู่สามประการเท่านั้นเอง คือ เลวกว่าเรา ดีเท่าเรา และดีกว่าเรา” – ไม่เห็นจะต้องคิดวุ่นวาย และตะเกียกตะกายพาตนเองไปสู่การทำงานหนักจนตาย

ครูบาอาจารย์ท่านเดิมนี้แหละที่กล่าวว่า “เป้าหมายชีวิตของผมก็คือการทำให้ผู้คนเป็นกัลยาณมิตรกัน”

สอดคล้องกับครูบาอาจารย์อีกท่าน “เราไม่จำเป็นต้องทำเองทั้งหมด หากเห็นใครทำดี ควรเข้าไปสนับสนุน สิ่งดี-ดีจึงจะเกิดขึ้นเต็มแผ่นดิน เราก็ไม่ต้องทำงานมาก แต่ทำงานน้อย-น้อย ให้ได้ผลเยอะ-เยอะ”

ชีวิตเป็นสนามจริงเสมอ หากนำกระบวนการใคร่ครวญอย่างลึกซึ้งเข้ามาสู่วิถีแห่งการงานได้ ความหมายแห่งการทำงานหนักจะเปลี่ยนแปลงไปในทันที

Newer Posts Older Posts Home