โดย กิติยา โสภณพนิช
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๕๒

ในรอบปีสองปีที่ผ่านมา คุณเคยได้ปลูกต้นไม้ (เพื่อลดโลกร้อน) ไปบ้างหรือยัง

ถ้าเคย คุณจำได้หรือไม่ว่า ปลูกต้นอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ ตอนนี้ต้นไม้เหล่านั้นยังมีชีวิตรอดปลอดภัยดีอยู่หรือไม่ และมันกำลังช่วยลดโลกร้อนอยู่จริงหรือ

ผู้เขียนเป็นคนตัวเล็กๆ คนหนึ่งที่จับพลัดจับผลูมาทำงานในองค์กรที่ทำหน้าที่อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้โดยตรง หน้าที่ของผู้เขียนคือ หาวิธีการสร้างสรรค์ที่จะพา “คน” กับ “เงิน” มาเจอกันเพื่อให้เกิดพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นในประเทศไทย

ผู้เขียนเข้ามาทำงานกับองค์กรนี้ได้ประมาณสองปี ซึ่งถือเป็นช่วงเดียวกันกับที่กระแสโลกร้อนถูกโหมกระหน่ำไปทั่วทุกมุมเมือง มีผู้คนจำนวนไม่น้อยติดต่อเข้ามาขอร่วมกิจกรรมปลูกป่ากับเรา ใครต่อใคร ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม ทหาร ตำรวจ แพทย์ พยาบาล หรือ นักเรียน ต่างพากันมาช่วยลดโลกร้อนด้วยการปลูกต้นไม้ การปลูกต้นไม้กลายเป็นประสบการณ์เพื่อสังคมยอดฮิต ติดอันดับท็อปเท็น แต่เชื่อหรือไม่ว่า โดยส่วนตัวแล้วเท่าที่จำได้ ในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ผู้เขียนปลูกต้นไม้ด้วยมือของตัวเองจริงๆ ไปเพียงประมาณ 2 ต้น ซึ่งผู้เขียนก็จำไม่ได้แล้วว่าเป็นต้นอะไร อยู่ที่ไหน และยังมีชีวิตอยู่หรือไม่

เวลาเราเล่าให้ใครต่อใครฟังถึงงานที่ทำ เราจะบอกเสมอว่า เราปลูกป่าอยู่ที่นู่น ... ต่างจังหวัดไกลๆ ที่ไหนสักแห่ง เราทำให้ชาวบ้านเจ้าของพื้นที่หวนกลับมารักและดูแลบ้านเกิดของเขาได้ ทำให้เขามีกินมีใช้จากการปลูกป่า และที่สำคัญที่สุด เราทำให้เขาเห็นถึงคุณค่าของป่าไม้ เราได้ปลูกต้นไม้ลงบนผืนดินไปพร้อมๆ กับการปลูกต้นไม้ลงในใจของชาวบ้านเหล่านั้น

แต่ผู้เขียนเองไม่อาจพูดได้เต็มปากเต็มคำว่า ได้ปลูกต้นไม้ลงในใจของตัวเองสำเร็จแล้ว

เพราะดูจากการใช้ชีวิตประจำวันของตัวเอง ทั้งในเวลางานและนอกเวลางาน ผู้เขียนใช้กระดาษไม่ต่ำกว่า 5 รีมต่อเดือน เสียบปลั๊กคอมพิวเตอร์ทิ้งไว้ตลอดคืน ยังขับรถไปทำงาน ใช้น้ำมันเบนซิน 95 นอนเปิดแอร์ทั้งคืน เดินซื้อของตามห้างสรรพสินค้า ใช้ถุงพลาสติก กินข้าวจากกล่องโฟมบ้างเป็นบางครั้ง บริโภคไฟฟ้า น้ำ และทรัพยากรต่างๆ นานา อย่างไม่ค่อยต้องคิดหน้าคิดหลัง และส่วนใหญ่ก็ยังคงนำขยะ ทั้งที่ย่อยสลายได้และย่อยสลายไม่ได้อีกเป็นจำนวนหลายตันต่อเดือน ยัดใส่ลงถุงดำรวมกันแล้วนำส่ง กทม.

แม้เรารู้ว่ากระดาษมาจากต้นไม้ ครูเคยสอนว่าป่าไม้ทำให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล กทม. บอกให้เราแยกขยะเปียก ขยะแห้ง และขยะอันตรายก่อนเอามาวางไว้หน้าบ้าน แต่เราไม่เข้า-ใจ เข้าไม่ถึง เราจึงยังคงใช้ทรัพยากรเหล่านี้อย่างไม่รู้คุณค่า เหมือนที่เด็กยุคใหม่เข้าใจว่า น้ำมาจากก๊อก เงาะมาจากตู้เย็น ชีวิตคนในปัจจุบันดำเนินไปอย่างแยกส่วน ทำให้เรามองไม่เห็นโยงใยความเชื่อมโยงของชีวิตแต่ละชีวิต กิจกรรมการปลูกต้นไม้จึงกลายเป็นกิจกรรมตัดตอนที่เหลือแต่การปลูก ไอ้ที่มาก่อนหรือหลังการปลูกไม่อยู่ในขอบข่ายที่เราจำเป็นต้องรับรู้ หรือสนใจ จึงไม่น่าแปลกใจที่แม้เราจะรณรงค์เรื่องการปลูกต้นไม้ลดโลกร้อนมากแค่ไหน แม้จะมีคนเมืองเดินทางไปปลูกป่ามากแค่ไหน จำนวนต้นไม้มันก็ยังไม่เพิ่มขึ้นให้เราชื่นใจสักที ไม่ต้องพูดถึงจิตสำนึกที่เราหวังว่าคนเหล่านี้จะได้ติดตัวกลับไปที่บ้านด้วย

หรือเราต้องกลับไปใช้ชีวิตอย่างในอดีตรุ่นคุณตาคุณยายยังเด็ก ถึงจะรู้ซึ้งถึงคุณค่าของสรรพสิ่งรอบตัว

หรือเราต้องรอให้มีอีกสัก 10 สึนามิ เราถึงจะรู้ซึ้งถึงคำว่าอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

จะเปลี่ยนมุมมอง ฝืนความเคยชินเดิมๆ และฝึกพฤติกรรมใหม่ๆ ให้กับตัวเองได้อย่างไร กลายเป็นคำถามใหญ่ โดยเฉพาะสำหรับคนในยุคนี้อย่างผู้เขียน ที่ยังคงติดหนึบอยู่กับความสะดวกสบายอย่างไม่รู้ตัว และโดนกระตุ้นเร้าจากสื่อต่างๆ ที่ล้วนแต่โหมบอกให้เราบริโภคมากขึ้นอยู่ตลอดเวลา

ท่าน ว. วชิรเมธีได้พูดไว้ชัดเจนในหนังโฆษณาทางโทรทัศน์ชุดหนึ่งว่า หากเราต้องการจะเปลี่ยนแปลงประเทศ เราต้องกลับมาถามตัวเองว่าแล้วเราจะเปลี่ยนแปลงอะไรในตัวเราได้บ้าง

ผู้เขียนขอถามต่อว่า แล้วอะไรจะเป็นแรงผลักดันให้เราอยากลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเอง

ถามคนเป็นแม่อาจตอบว่าลูก ถามนักธุรกิจอาจตอบว่าผลกำไร ถามคนเป็นมะเร็งอาจตอบว่าความตาย ถามคนที่ปฏิบัติภาวนาอาจตอบว่าศรัทธา

ศรัทธาในพุทธศาสนาหมายถึง ความเชื่อที่อยู่บนพื้นฐานของเหตุและผล เป็นความเชื่อที่มาจากการวิเคราะห์ด้วยปัญญา

โดยส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนเชื่อว่า ศรัทธาที่ถือเป็นรากฐานสำคัญของการเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลง (ในทางที่ดี) ก็คือ ศรัทธาในความดีงามของมนุษย์ คือ ความเชื่อที่ว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่พัฒนาได้ มนุษย์สามารถฝึกและฝืนใจตนเองได้ เมื่อมีศรัทธาตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นแล้ว นั่นหมายถึงว่า เราย่อมศรัทธาในตนเองว่าสามารถเปลี่ยนแปลงได้ (เพราะเราเองก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง) ศรัทธาในเพื่อนมนุษย์ว่าเขาก็สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ และมีความเชื่อมั่นว่าการกระทำทุกอย่างของเรา ไม่ว่ามันจะเล็กน้อยแค่ไหนย่อมมีผลอันยิ่งใหญ่เสมอ

ล่าสุดผู้เขียนได้มีโอกาสไปเยี่ยมเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเป็นครั้งแรกในชีวิต บางท่านที่เคยไปห้วยขาแข้งมาแล้วอาจจะเห็นด้วยกับผู้เขียนว่า ห้วยขาแข้งมีพลังดีๆ ซ่อนอยู่ ส่วนหนึ่งคงเป็นความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติที่โอบล้อมเรา ห้วยขาแข้งถือได้ว่าเป็นผืนป่าที่สมบูรณ์ที่สุดผืนหนึ่งในโลก และได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางธรรมชาติของโลกในปีพุทธศักราช 2534 วันนั้นผู้เขียนได้มีโอกาสเดินอยู่ใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ ได้พักสายตาไปกับสายน้ำที่ค่อยๆ ไหลรินไปตามลำห้วย ได้เห็นลูกสุนัขจิ้งจอกเหลียวหลังแลมองกลุ่มคนแปลกหน้าอย่างเราก่อนจะวิ่งตามแม่มันไป ได้ฟังเสียงชะนีร้องตอนเที่ยง ได้ชมโฉมนกหัวขวานเขียวตะโพกแดง

ได้หยุดตั้งคำถามและอยู่นิ่งๆ กับความงามของธรรมชาติ

แต่อีกส่วนหนึ่งผู้เขียนก็ขอสรุปเอาเองว่ามันน่าจะเป็นพลังจากแรงศรัทธาในความดีงามที่คุณสืบ นาคะเสถียรได้จุดประกายเอาไว้ และถูกสานต่อเรื่อยมาโดยคนรุ่นหลังที่ก้าวเดินตามแนวทางของคุณสืบ

วันนั้นผู้เขียนค้นพบความจริงว่า ธรรมชาติไม่ได้อยู่ที่ไหนไกล แต่อยู่ใกล้เสียจนบางครั้งเรามองไม่เห็น

วันนี้ผู้เขียนนั่งอยู่ในวงประชุมสรุปกิจกรรมค่ายเยาวชนที่จะจัดขึ้นช่วงสิ้นเดือน เสียงก่อสร้างคอนโดขนาดใหญ่ดังอยู่ด้านหลัง ห้วยขาแข้งกลายเป็นสถานที่ห่างไกลจนเหมือนไม่มีอยู่ มีคนตั้งคำถามขึ้นมาว่า เราจะทำอย่างไรให้เยาวชนรู้สึกผูกพันกับต้นไม้ที่พวกเขาจะได้ปลูก รู้สึกเป็นเจ้าข้าวเจ้าของมัน และรู้สึกอยากที่จะกลับไปดูแลเยี่ยมเยียนมัน ผู้เขียนแอบคิดกลับไปถึงห้วยขาแข้ง และพลังดีๆ ที่ธรรมชาติได้ส่งให้เรา คำถามมันน่าจะอยู่ที่ว่า แล้วเราจะทำอย่างไรให้เยาวชนเหล่านี้เกิดศรัทธาในตัวเองว่าเขาสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงตัวเอง หรือเราอาจจะถามลึกไปอีกว่า แล้วเราเองได้ปลูกต้นศรัทธาให้หยั่งรากลึกลงในใจของเราหรือยัง

ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าจะตอบคำถามนี้อย่างไร แต่ที่แน่ๆ คือ ไปจัดค่ายคราวนี้จะไม่พลาดกิจกรรมปลูกต้นไม้ คราวนี้จะไม่สักแต่ว่าปลูกให้เสร็จ แต่จะปล่อยให้มือได้สัมผัสดินชื้นๆ ให้ใจได้ปล่อยวางจากคำถามมากมาย ... สักครั้ง

มาปลูกต้นไม้กันไหมคะ

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home