โดย มิรา ชัยมหาวงศ์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๕๒
มีเรื่องเล่าที่ผู้เขียนอ่านมาจากหนังสือ True Love ของท่านติช นัท ฮันห์ ท่านเล่าถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในประเทศเวียดนามในระหว่างสงคราม ซึ่งมีประชาชนจำนวนมากต้องไปออกรบ สามีภรรยาคู่หนึ่งเพิ่งแต่งงานกันได้ไม่นาน ทั้งสองจำเป็นต้องพลัดพรากจากกันในขณะที่ฝ่ายหญิงกำลังตั้งท้อง เวลาผ่านไปนานหลายปี ฝ่ายหญิงให้กำเนิดบุตรชาย และอดทนเลี้ยงดูจนเติบโตขึ้นด้วยใจที่เฝ้ารอคอยสามีและหลายครั้งที่เกือบจะสิ้นหวัง
หลายปีผ่านไป วันหนึ่งสามีเดินทางกลับมาที่บ้าน ภรรยาแทบไม่เชื่อสายตาตัวเอง ทั้งสองต่างดีใจอย่างที่สุดที่ได้พบกันอีกครั้งหนึ่ง ฝ่ายสามีเดินทางไปไกล ไม่เคยพบหน้าลูกชายของตนมาก่อน เมื่อได้เห็นหน้าเด็กน้อยยืนจูงมืออยู่ข้างๆ ภรรยาของตนก็ปีติดีใจยิ่งนัก ฝ่ายภรรยาเองก็ดีอกดีใจเป็นอย่างมากที่สามีอันเป็นที่รักกลับมาบ้านอย่างปลอดภัย จึงรีบเข้าเมืองไปหาเครื่องเซ่นไหว้ และซื้อหาอาหารกลับมาเลี้ยงต้อนรับ เมื่อเข้าไปในตลาดก็เล่าให้คนในหมู่บ้านฟังว่า สามีได้เดินทางกลับจากสงครามแล้ว และชาวบ้านต่างร่วมยินดีกับนางเป็นอย่างยิ่ง
ฝ่ายสามีก็เข้าไปพักผ่อนในบ้านกับลูกชาย แต่เนื่องจากลูกชายเกิดมาในระหว่างที่พ่อออกไปทำสงคราม ไม่เคยพบหน้าพ่อแท้ๆ ของตน จึงไม่คุ้นเคย มีท่าทีไม่ไว้วางใจ ผู้เป็นพ่อแสดงตนว่าเป็นพ่อ และพยายามเข้าไปกอดลูกชาย แต่ลูกชายกลับปฏิเสธและตอบว่า “ท่านไม่ใช่พ่อของข้า พ่อของข้ามาหาแม่ของข้าทุกคืนหลังจากแม่สวดมนต์ เขาจะมายามที่แม่ข้าร้องไห้ ฟังแม่ของข้าพูด เมื่อแม่ของข้านั่งเขาก็จะนั่ง เมื่อแม่ของข้านอน เขาก็จะนอน” ผู้เป็นพ่อได้ยินดังนั้นก็โมโห รีบเร่งออกจากบ้าน ภรรยากลับจากไปซื้อของพอดี สามีโกรธและด่าว่าภรรยาถึงเรื่องที่ลูกชายเล่าให้ฟัง ภรรยาที่พยายามเตรียมดูแลปรนนิบัติสามีหลังกลับจากศึกสงคราม เมื่อได้ยินคำด่าทอจากสามีก็เสียอกเสียใจ เป็นอันว่าในวันนั้นแทนที่จะมีงานเลี้ยงฉลอง กลับกลายเป็นมีเรื่องราวทะเลาะกันใหญ่โต จนชาวบ้านได้ยินเข้าก็เอาไปนินทา
ภรรยาไม่ได้แก้ตัวอะไร ในขณะที่สามีเอาแต่เสียอกเสียใจ วันๆ ไม่ทำอะไรเอาแต่ดื่มเหล้า กลายเป็นคนดื่มจัด เมามาย ไม่กลับบ้าน และด้วยความโกรธก็ไม่ได้ซักถามอะไรภรรยา นานวันเข้า ภรรยาอดทนไม่ได้อีกต่อไปคิดว่า หากอยู่เช่นนี้เรื่อยไปก็ไม่มีประโยชน์อันใด เธอจึงกระโดดน้ำตายที่แม่น้ำ ฝ่ายสามีจึงกลับบ้านมาเลี้ยงดูลูก และจัดการงานศพให้ภรรยา คืนหนึ่งขณะที่พ่อลูกกำลังนั่งทานข้าวในท่ามกลางแสงเทียนสลัวอยู่ในบ้าน ปรากฏเป็นเงาของคนอยู่บนกำแพง ลูกชายตะโกนและชี้ไปที่เงานั้นว่า “นั่นไง นั่นไง พ่อของข้า” แท้จริงแล้ว ที่ลูกชายเห็นว่าเป็นพ่อคือเงาของแม่ที่สะท้อนบนกำแพง ด้วยความคิดถึงสามี ภรรยาจะตื่นขึ้นมากลางดึก จุดเทียนเพื่อสวดมนต์อวยพรให้สามีในตอนกลางคืน แต่เพราะความทุกข์ทรมาน ทุกวันหลังสวดมนต์เธอจึงนั่งร้องไห้อยู่หน้าพระ จากนั้นจึงเข้านอน สิ่งที่ลูกชายเห็นและคิดว่าเป็นพ่อ คือเงาที่สะท้อนบนกำแพง เมื่อแม่นั่ง ภาพของเงาจึงเป็นคนนั่ง เมื่อแม่นอน ภาพเงาสะท้อนจึงเป็นคนนอน เมื่อสามีได้ยินเรื่องดังกล่าวจึงเศร้าโศกเสียใจเป็นอย่างยิ่ง
ผู้เขียนได้ใช้เรื่องนี้เป็นคติเตือนตัวเองอยู่เสมอในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่น จากในเรื่อง หากสามีได้มีโอกาสซักถามภรรยา หรือภรรยาเก็บความน้อยใจของตนเองไว้แล้วหาโอกาสอธิบายให้สามีฟังถึงเรื่องจริงที่เกิดขึ้น คงไม่เกิดเรื่องราวน่าเศร้าเช่นนี้
บ่อยครั้งที่ “การตีความ” ทั้ง “ของเรา” และ “ของเขา” ก็ทำให้เรื่องเล็กๆ กลายเป็นเรื่องราวใหญ่ๆ ขึ้นมาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนใกล้ชิดซึ่งเป็นคนที่เราขาดสติได้บ่อยที่สุด ถ้าใจของเราอยู่ในภาวะซัดส่าย การตีความของเราก็จะยิ่งทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ภาวะอาการเหล่านี้เกิดขึ้นเนื่องมาจากความรักทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นความรักแบบสามี ภรรยา พ่อแม่ กับลูก พี่กับน้อง ครูกับศิษย์ เป็นต้น
ท่านติช นัท ฮันห์ ยังให้แนวทางเกี่ยวกับพรหมวิหาร ๔ ซึ่งเป็นองค์ประกอบของความรักที่แท้เอาดังนี้
เมตตา หมายถึง “ความสามารถ” ในการนำพาความสุขมาสู่บุคคลอันเป็นที่รัก ซึ่งจะเป็นความรักแบบไหนก็ได้ และยังหมายรวมถึงความรักของมวลมนุษยชาติอีกด้วย ความเมตตา ในอีกนัยยะหนึ่งก็คือ “ความเข้าใจ” บ่อยครั้งที่เรารักใครสักคน ความรักของเรากลับทำร้ายเขา ความรักของเราทำให้เขากลับรู้สึกอึดอัด ลำบากใจ
ความเข้าใจจะเกิดขึ้นได้ต้องฝึก “การมองอย่างลึกซึ้ง” หรือ Deep Looking คือการมองเข้าไปให้เห็นถึงภายใน ให้เห็นและเข้าใจถึงความทุกข์ของอีกฝ่าย โดยให้ความสำคัญกับ “การอยู่ตรงหน้า” และให้ความสำคัญกับบุคคลที่อยู่ตรงหน้าของเราอย่างแท้จริง
กรุณา หมายถึง ความสามารถในการทำให้บุคคลที่เรารักพ้นทุกข์ โดยการจะช่วยคนที่เรารักให้พ้นทุกข์นั้น เชื่อมโยงกับการฝึกสายตาแห่งการมองอย่างลึกซึ้ง ให้ถึงแก่นถึงหัวใจ ทำความเข้าใจธรรมชาติของความทุกข์ทรมานที่เขากำลังเผชิญอยู่ เพื่อค้นหาวิธีการพาคนที่เรารักก้าวล่วงพ้นจากความทุกข์ การฟังอย่างลึกซึ้ง หรือ Deep Listening คือ การฟังเสียงของความคิดความรู้สึก และให้ลึกไปถึงเจตนาของผู้พูด ซึ่งการฟังอย่างลึกซึ้งนี้เองก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่สามารถพาให้คนก้าวล่วงจากทุกข์ได้
การหล่อเลี้ยงดูแลความสุขซึ่งกันและกัน หรือ มุทิตา ก็เป็นเรื่องง่ายๆ ที่สำคัญสำหรับการอยู่ร่วมกัน ในความสัมพันธ์ต่างฝ่ายต่างควรเติมเต็มความชื่นบานซึ่งกันและกัน การมอบความรักที่แท้ให้แก่กันนั้น นอกจากผู้รับมีความสุขแล้ว ผู้ให้ความรักก็ควรจะได้รับความสุขจากการให้ด้วยเช่นกัน
สุดท้ายคือ อุเบกขา ซึ่งในที่นี้หมายถึง อิสรภาพ ความรักที่แท้ย่อมให้อิสรภาพแก่ใจทั้งของผู้ให้และผู้รับ ผู้รับก็ไม่อึดอัดจากความคาดหวัง และผู้ให้ความรักก็เป็นอิสระไม่ยึดถือ เป็นเจ้าเข้าเจ้าของมากเกินไป ในอุเบกขานี้ อีกนัยหนึ่งคือ “พื้นที่” หรือ Space ในความสัมพันธ์ที่สมดุลนั้น ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็ตาม “พื้นที่” ถือเป็นศิลปะเฉพาะของแต่ละความสัมพันธ์ เป็นความรักที่ดำรงไว้ซึ่งอิสรภาพ รักเขาอย่างที่เขาเป็นเขาได้โดยปราศจากเงื่อนไข หรือมีเงื่อนไขให้น้อยที่สุด
ในทุกความสัมพันธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนใกล้ตัวนั้น แม้จะมีความรู้หรือจดจำข้อธรรมต่างๆ ได้มากมาย แต่สิ่งที่จำเป็นมากที่สุด คือ “สติ” บ่อยครั้งที่ความหวังดีอันเกิดขึ้นมาจากความรักของเรา ได้สร้างความอึดอัดให้กับผู้คนรอบข้าง และบ่อยครั้งที่เรามักคิดที่จะเปลี่ยนแปลงคนอื่นให้เขาเป็นได้ดังใจ ถ้าเขาเป็นไม่ได้อย่างนั้นเราก็จะฟาดหัวฟาดหาง ด้วยอาการต่างๆ นานา และพาลคิด (เอาเอง) ว่าเขาทำให้เราผิดหวัง
อันที่จริงความรักนั้นเป็นสิ่งสวยงาม หากแต่ความรักที่แท้นั้นต้องประกอบด้วยปัญญาอันเป็นความเข้าใจในธรรมชาติของมนุษย์ และสติรู้เท่าทันตนเอง สองสิ่งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของหนทางสู่ความรักที่แท้
Labels: มิรา ชัยมหาวงศ์
1 Comment:
-
- Natha said...
10:09 AMขอบคุณครับ สำหรับบทความดีๆ ทำให้ผม "รักเป็น" มากขึ้น