บทความที่ ๑๖๐: สนทนากับเสียงด้านใน (Voice Dialogue) :
ผู้แพ้ผู้ชนะใน (เกมและสงคราม) ธุรกิจ
Posted by
knoom
at
7:30 AM
โดย สมพล ชัยสิริโรจน์
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๕๒
ยามเศรษฐกิจตกสะเก็ดเช่นนี้ น่าจะกล่าวขอบคุณ ทุกความเร่งรัด รวมทั้งอาการกดดันจากองค์กรในยามที่การแข่งขันทางธุรกิจกำลังเดือดพล่าน เป็นเวลาที่เราต้องระดมสรรพกำลังโดยเฉพาะกำลังใจของผู้คนให้เดินก้าวหน้าไปด้วยกัน และจับมือกันให้มั่นคง สบสายตาอันเป็นมิตร ยังพูดจาติดตลกได้แม้นหลายเรื่องราวจะคอขาดบาดตายเอาก็ตาม
จะเป็นจะตายเพียงใดหรือ? แท้จริงการทำธุรกิจคือการงานที่มีตัวชี้วัด และเป็นเพียงเกมกีฬา มีได้แต้ม เสียแต้ม ทีมไหนแข็งแรงกว่าก็เก็บแต้ม ทีมไหนอ่อนแอ แพ้เชิงกันทางกลยุทธก็เสียแต้ม ต่างฝ่ายรุกรับขับสู้กันในเกม ต่างต้องฝึกฝนบำรุงกำลังคน กำลังใจให้พร้อมและเข้มแข็ง หากเพียงแต่แข่งกันอย่างตื่นรู้มิใช่หลับใหล ตื่นให้รู้ว่า นี่เป็นเพียงเกม ในเกมกีฬาไม่มีใครเอาเป็นเอาตายกันก็เท่านั้น
สำนวนโบราณที่ว่า “กีฬา กีฬาเป็นยาวิเศษ แก้กองกิเลส ทำคนให้เป็นคน” ก็ไม่ล้าสมัยเลย ผลของการฝึกตนจะเป็นเช่นไร ขึ้นอยู่กับเราให้ ตัวตนด้านใน ตัวใดของเราเข้าเล่นเกมนี้
เมื่อการงานเป็นเกมกีฬา ตัวตนของ “คุณชนะ” ก็ต้องเข้ามาเป็นกำลังหลัก “คุณดัน” “คุณวินัย” “คุณ (กล) ยุทธ” “คุณประสาน” ก็คงต้องเข้าร่วมทีมกัน เมื่อเล่นกันเป็นทีมก็ต้องมีกติกา “คุณระเบียบ” ต้องดูแล “คุณวินัย” คอยกำกับ
ในยามลงสนามแข่ง “คุณตามใจ ณ อิสรภาพ” แค่คอยเป็นกำลังใจข้างสนามบ้าง เมื่อ “คุณตามใจ” ให้ความเคารพ “คุณระเบียบ” เปิดทางให้ “คุณศิโรราบ” ได้อาสาสละอิสระส่วนตนเพื่อชัยชนะของส่วนรวม
หากคนดูรอบสนามตะโกนถามว่า จะแข่งกันไปหาสวรรค์วิมานอะไรเล่า คำตอบแรกนึกถึงนายห้างเทียม โชควัฒนาเคยบอกไว้ว่า “คู่แข่งไม่ใช่คู่แค้น” แข่งแล้วไม่แค้นนี่ก็ต้องฝึก เหมือนคำโบราณที่ว่าการกีฬาฝึกให้ “รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย” แม้รู้อภัยอย่างเดียวคงไม่ได้พาใครไปสวรรค์ แต่ใครจะตั้งใจไปสวรรค์โดยไม่รู้จักให้อภัยคงไม่ได้กระมัง
และเมื่อเกมจบก็พัก คุณๆ ทั้งหลายที่ได้เอ่ยนามมาในเบื้องต้นก็ไปพักผ่อน คราวนี้ “คุณตามใจ” พา “คุณสบาย” เข้ามาเป็นทิวแถว หมดเวลาแข่งขัน เจ้าเด็กเล็กๆ ที่เมื่อสักครู่วิ่งเล่นหัวกับคุณๆ ทั้งหลายในสนามแข่ง ก็ได้เวลาพักผ่อนซุกซนด้วยกล้ามเนื้อกล้ามใจที่แข็งแรง
แล้วพลิกเหรียญอีกด้านกลับไปดูว่า หากธุรกิจไม่ใช่เกมกีฬา แต่เป็นสงครามซึ่งพื้นที่สมรภูมิเป็นการรบที่ผู้แพ้อาจตายได้ จะเกิดอะไรขึ้น
ธุรกิจที่กลายเป็นสงครามจึงเป็นการสู้รบแข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตาย คู่แข่งฝ่ายตรงข้ามกลายเป็นศัตรู ทีมของเราต้องรบชิงชัยให้ได้ มิฉะนั้น ไม่เราก็เขาถึงตาย
ในกีฬาแพ้ชนะกันแค่แต้ม แต่สงครามแพ้ชนะชิงบ้านชิงเมือง ชิงอธิปไตยเหนือแผ่นดินนั้นๆ และก็มีให้เห็นเป็นตัวอย่างเสมอๆ เมื่อธุรกิจล้มเหลว อีกนัยหนึ่งคือพ่ายแพ้ เจ้าของกิจการถึงล้มละลาย บริษัทถูกยึด บ้านช่องทรัพย์สิน อาจจะถูกขายทอดตลาด ดีแต่ว่า ไม่โดนยึดลูกยึดเมียเหมือนสงครามในสมัยโบราณ
เมื่อเกมเป็นการรบการสงคราม การจัดสรรพกำลังก็มิใช่ทีมที่มีเพียงหัวหน้าทีมหรือโค้ช แต่องค์กรการรบ ต้องมี “คุณวินัย” เป็นกำลังหลัก มี “คุณบัญชา” เป็นผู้นำ มี “คุณทะแกล้วกล้า” “คุณทะลวงฟัน” อีกทั้ง “คุณยุทธศาสตร์” “คุณยุทธวิธี” “คุณประสิทธิภาพ” “คุณประสาน” “คุณสื่อสาร” และ “คุณพลาธิการ” และอีกสารพัด
แต่การตัดสินใจอยู่ในมือ “คุณบัญชา” ทีมงานเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา “คุณวินัย” ของหน่วยรบกำหนดให้ทุกคนต้องถวายหัวต่อคำสั่ง ศิโรราบและเชื่อฟัง ใครขัดขืนถึง “ตาย” หากใครพลาด หน่วยรบพลาด การรบพ่ายแพ้นั้นหมายถึงความตายของหน่วยงาน ความตายของคุณบัญชา ผู้เป็นแม่ทัพ (แต่ส่วนใหญ่แล้วพลราบคนเล็กคนน้อยนั้นพลีกายไปก่อน มากกว่า แม่ทัพผู้พ่ายแพ้ก็มักจะมีโอกาสสละเรือ หรือเร้นกายจากสนามรบได้อย่างไร้ร่องรอย)
หากคนทำงานธุรกิจอยู่ในอารมณ์ที่กล่าวมาแล้ว ไม่ว่าเขาจะเป็นลูกน้อง หรือลูกพี่ เป็นแม่ทัพ หรือผู้ใต้บังคับบัญชา และพวกเขารู้สึกตัวว่าอยู่ในสนามรบ หรือบริหารบังคับบัญชาอยู่ใน war room ความกดดันย่อมแตกต่างจากข้างสนามกีฬา ความผิดพลาดหรือแม่นยำมีผลต่อการรบ ต่อความเป็นความตายของหน่วยงาน
ในสนามรบไม่มีที่ให้ “เด็กเล็กๆ” วิ่งเล่น มีแต่ “คุณชนะ” หรือ “คุณแพ้” “คุณเข้มแข็ง” หรือ “คุณอ่อนแอ” “คุณจะอยู่รอด” หรือ “คุณจะตาย”
บ่อยครั้งที่การแข่งขันเข้ามาในธุรกิจ หรือในชีวิตของเราโดยเรามิได้เชื้อเชิญ หากตัวตนด้านในของเราไม่มีใครสักคนที่เป็นนักกีฬาหรือแม้แต่นักรบซะเลย เมื่อแขกที่ไม่ได้เชื้อเชิญโคจรเข้ามาในชีวิตเราก็จะรู้สึกอึดอัดเพราะจัดการไม่ได้
แต่แน่ล่ะในทางกลับกัน หากตัวเรามีแต่นักแข่งขัน จะเป็นนักรบหรือนักกีฬาก็ตาม เท่านั้น มี “คุณชนะ” เป็นเจ้าตัวหลักตัวเอก คอยถือธง พาเราเข้าสู่สนามแข่ง หรือสนามรบอยู่เสมอ ๆ ตัวเราก็คงจะเหน็ดเหนื่อยตลอดเวลา เมื่อ “คุณชนะ” เธอมองเห็นใครต่อใครในชีวิตของเราเป็นคู่แข่ง เป็นศัตรูไปหมด
หากเรามีแต่ตัวตนที่แสวงหาความร่วมมือร่วมใจ ประสานสัมพันธ์กับผู้คน แล้วเราตกอยู่ในภาวะการแข่งขัน เราก็จะอึดอัดใจที่ฝ่ายตรงกันข้ามเขาไม่ได้ให้คุณค่ากับความสัมพันธ์นัก นอกจากต้องการผลสัมฤทธิ์ที่เหนือกว่า ในเวลาเช่นนั้นสำหรับเราผู้มี “คุณประสาน เชื่อมสัมพันธ์” เป็นตัวเอก ก็อาจจะต้องเชื้อเชิญ “คุณชนะ” เข้ามาร่วมวงไพบูลย์ อาการอึดอัดอาจจะทุเลา ด้วยว่า บ่อยครั้งความอึดอัดในใจ ในสถานการณ์บางสถานการณ์ในที่ทำงานใดใดก็ตาม เกิดขึ้น เพราะเราขาดศักยภาพบางอย่างที่จำเป็นต่อสถานการณ์นั้น
อันที่จริงจะว่า เราขาดก็ไม่เชิง เราเพียงแค่ลืมเลือนไปว่า เราก็สามารถแข่งขัน เอาชนะผู้คนได้เหมือนกัน หรือเป็นได้ว่า ผลลัพธ์ของการแข่งขัน ครั้งล่าสุดในชีวิตของเรานานมาแล้วก่อนหน้าที่เราจะอึดอัดในครั้งนี้ ยังฝังลึกเป็นแผลคาใจเกินไป จนเราไม่กล้าหันไปมองเห็นผู้ชนะของเรานอนบาดเจ็บอยู่ในการแข่งขันครั้งนั้น และเป็นภาพที่ยากจะลบทิ้ง
ทำนองเดียวกันแต่คนละทาง หากเราเต็มเปี่ยมไปด้วยตัวตนที่แสวงหาชัยชนะ ซึ่งก็สัมพันธ์กับผู้คนได้ดีเท่าที่เขาเหล่านั้นนำชัยมาให้ อยู่มาวันหนึ่งมีใครสักคนหยิบยื่นความสัมพันธ์ที่ไร้เงื่อนไขให้ หรือเรียกร้องจากเราให้เอาหัวใจให้เขาอย่างไร้เงื่อนไข ในวันนั้นซึ่ง “คุณชนะ” นักรบ นักแข่งในใจเราไม่รู้จะจัดการอย่างไร เราก็อึดอัด
ที่เป็นเช่นนั้นด้วยเราลืมเลือนไปแล้วว่า จะสัมพันธ์กับผู้คนโดยไม่มีเป้าหมาย ไม่มีเส้นชัย นั้นเป็นอย่างไร เราอาจจะลืมไปแล้วว่า การดำรงอยู่เพียงเพื่อใครสักคนโดยไม่ต้องหวังผลใดใดเลยนั้นคืออะไร เราอาจจะเบือนหน้าหนีเขาหรือเธอผู้นั้น เพราะเขาสะท้อนภาพอดีตฝังใจที่เราเคยพบเคยได้ยินว่า “ถ้าทำไม่ได้ดี ทำไม่ได้เก่งกว่าชาวบ้านก็ไปเอาปี๊บคลุมหัวซะ ฉันไม่รักหรอก”
เราอาจจะนึกไม่ออกเอาเลยว่า รักโดยไม่หวังผล รักโดยไม่มีเงื่อนไข รักแบบให้เราเป็นใครก็ได้ ไม่ต้องเป็นใครที่แสนดี แสนเก่งนั้นเป็นเช่นไร เราอาจจะคิดไม่ออกเอาเลยว่า จะรักใครหรือเป็นที่รักของใคร โดยเราห่วยๆ ไม่เอาไหน หรือเป็นผู้แพ้ นั่นเป็นไปได้ในโลกใบนี้หรือ
Labels: สมพล ชัยสิริโรจน์