โดย ณัฐฬส วังวิญญู
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๕๒

เมื่อเสาร์อาทิตย์ที่ ๖-๗ มิ.ย.๕๒ ที่ผ่านมา เสมสิกขาลัยที่ถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยทางเลือกของบ้านเราได้จัดคอร์สเรียนรู้เรื่อง “ดุลยภาพในสัมพันธภาพ” ขึ้น ผู้เขียนเลยได้กลับไปเยี่ยมสถานที่จัด คือ เรือนร้อยฉนำ (สวนเงินมีมา) อีกครั้ง หลังจากหายหน้าหายตาไปนาน ทุกครั้งที่ไปที่นั่นจะรู้สึกเหมือนได้กลับบ้าน เพราะได้พบปะกับผู้คนคุ้นเคยกัน ที่นั่นเป็นสถานที่สำหรับผู้ประกอบการทางสังคมที่คิดฝันและลงมือสร้างสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นกับสังคมไทย และคนเหล่านี้ล้วนเป็นคนหนุ่มสาวที่กำลังใช้ชีวิตในการให้มากกว่าการกอบโกย เพื่อเติมเต็มความหมายและคุณค่าให้กับโลกใบนี้ได้อย่างน่าทึ่ง อย่างน้อยก็ช่วยให้สังคมยังมีข่ายใยชีวิตที่แบ่งปัน แลกเปลี่ยนและเรียนรู้อย่างนี้

แม้ว่าสถานที่จะอยู่ในตรอกเล็กๆ แถวคลองสาน ซึ่งอาจหายากสักนิดสำหรับผู้ที่ไม่เคยไป แต่หากได้ไปสักครั้งอาจทำให้รู้สึกว่าได้ค้นพบโอเอซิส หรือแอ่งธารแห่งน้ำใจอีกแห่ง มีร้านหนังสือและร้านกาแฟเล็กๆ เปิดทำการแทบทุกวัน ห้องสมุดบนชั้นสองก็มีหนังสือดีๆ ที่คัดสรรมาไว้ให้หยิบยืมอ่าน วันไหนที่มีรายการอบรมหรือเสวนาก็อาจมีหนังทางเลือกมาขายโดยผู้ขายเจ้าประจำของที่นั่น และที่สำคัญการได้พบปะแลกเปลี่ยนกับผู้คนที่ทำงานในโครงการต่างๆ ภายใต้มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีปช่วยให้สัมผัสได้ถึงความเป็นมิตรและแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมให้ดีงามตามกำลังของตน โดยทั้งหมดนี้ริเริ่มมาได้ด้วยแรงบันดาลใจและวิสัยทัศน์ของ อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ผู้ช่วยหล่อเลี้ยงให้ข่ายใยชีวิตนี้ได้ขยายตัวไปพร้อมกับกิจกรรมทางสังคมที่กระตุ้นเตือนและสร้างความเป็นธรรม รวมทั้งปลุกให้เราต่างดำรงชีวิตอย่างมีสติและไม่เบียดเบียนกันและกัน ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องที่จัด

ในชีวิตเราต่างสัมพันธ์กับผู้คนมากมาย ความสัมพันธ์ที่ใกล้ตัวที่สุดก็คือความสัมพันธ์ที่เราได้มาจากการเกิด นั่นคือกับพ่อแม่พี่น้องของเรา ความสัมพันธ์เหล่านี้สร้างความเป็นตัวเป็นตนให้กับเราตั้งแต่ยังจำความไม่ได้ เพราะทัศนคติและสุ้มเสียงผู้คนรอบข้างไม่เพียงแต่ส่งผลต่อเด็กตัวเล็กๆ ที่เป็นเราในวันนั้นเท่านั้น แต่ส่งผลต่อสิ่งที่เป็นเราในวันนี้มากกว่าที่คิด เราเลือกที่จะเป็นบางอย่างและไม่เป็นหลายๆ อย่างด้วยเงื่อนไขของสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ เพื่อความอยู่รอดปลอดภัยและการได้รับความรักหรือการยอมรับจากโลก เช่น เรารู้สึกดีหรือไม่ดีกับตัวเองในเรื่องอะไร เราเชื่อว่าตัวเองเป็นคนอย่างไร

บางคนรู้สึกว่า “ฉันเป็นคนเข้มแข็ง พึ่งตัวเองได้ เด็ดเดี่ยว รับผิดชอบชีวิตตัวเอง แถมยังสามารถเป็นที่พึ่งให้กับคนอื่นได้ด้วย นี่เป็นสิ่งที่ฉันภูมิใจ” หรือบางคนอาจมองตัวเองว่า “ฉันเป็นคนมีเหตุมีผล ควบคุมและจัดการตัวเองได้ทุกครั้งที่เกิดปัญหา ฉันไม่โวยวาย ไม่ทำให้ใครต้องเดือดร้อน ฉันให้เกียรติและเคารพคนอื่นเสมอ” หรือไม่ก็ “ฉันพร้อมที่จะปรับตัวเพื่อให้ทุกคนรู้สึกพึงพอใจ ฉันไม่ต้องเป็นตัวของตัวเองมากนักหรอก ตราบใดที่ช่วยให้ผู้คนมีความสุขฉันก็พอใจแล้ว” เสียงภายในเหล่านี้ล้วนเป็นความสัมพันธ์ที่เรามีต่อตัวเองและกับผู้คนรอบข้าง เป็นเสียงที่ปลุกกระตุ้นศักยภาพหรือพลังงานในชีวิตพร้อมๆ กับการกดทับศักยภาพบางอย่างที่ขาดหายไปจากการรับรู้ของเรา ที่สำคัญเราตัดสินผู้อื่นไปตามมาตรฐานหรือนิสัยส่วนตัวของเราไม่น้อย แม้จะอ้างอิงแนวคิดหรือหลักการที่ครบถ้วนสมบูรณ์เพียงใดก็ตาม สุขทุกข์ในชีวิตของเราก็แปรสภาพตามมุมมองที่เรามีต่อตัวเองและผู้อื่นนี่แหละ

ผู้ที่เข้ามาร่วมเรียนรู้ในการสร้างสมดุลชีวิตคราวนี้มีประมาณ ๒๐ คน แต่ละคนมาจากหลากหลายหนทางชีวิต ซึ่งช่วยให้การเรียนรู้ของเราเข้มข้น บ้างก็เป็นนักธุรกิจ นักวิชาการ ข้าราชการ หรือนักศึกษา อายุตั้งแต่ ๒๐ ต้นๆ ไปจน ๔๐ ปลายๆ ข้อสังเกตอันหนึ่งคือทุกคนตั้งใจมาเรียนรู้เพื่อเข้าใจตัวเองและคนอื่น ซึ่งต่างจากหลายๆ คอร์สที่ใช้วิธีกะเกณฑ์กันมาเรียน ซึ่งเมื่อไม่ได้ “เลือก” เอง พลังของการเปิดใจและค้นหาตัวตนภายในของติดขัดและแข็งกระด้าง

สิ่งที่เกิดขึ้นคือการได้รับรู้วงจรของการปกป้องตัวเองเมื่อชีวิตเข้าสู่ความหมิ่นเหม่ ไม่ปลอดภัย ซึ่งเป็นธรรมชาติพื้นฐานของมนุษย์ ที่ทำให้การปิดกั้น ปกปิดหรือก้าวร้าวเกิดขึ้นได้ง่ายๆ เพราะสังคมหล่อหลอมให้เราต่างมีหน้ามีตา มีฟอร์มหรือภาพลักษณ์ แม้กับคนใกล้ชิดเรายังรักษาฟอร์มเหล่านี้ไว้อย่างแข็งขันไม่เบื่อหน่าย ฟอร์มเหล่านี้อาจช่วยให้เรารู้สึกปลอดภัย แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างความห่างเหินในความสัมพันธ์ไปด้วย กระบวนการของการยึดติดที่เรียกว่าตัวตนนั้นมักเกิดขึ้นอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว หรือเกิดขึ้นได้เนียนมากๆ แม้ว่าจะมีสติกับตัวเองมากเพียงใด สิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้เรารู้ตัวได้มากขึ้นคือการรับรู้หรือรับฟังจากเสียงรอบข้าง ที่มักคอยบอกหรือสะท้อนให้เราได้มองเห็นตัวเอง เสียงเหล่านี้ช่วยสะท้อนถึงโอกาสที่เราจะยอมรับและปรับเปลี่ยนตัวเองให้เกิดความสมดุลยิ่งขึ้น

ดังเช่น ผู้ชายคนหนึ่งบอกว่า “ผมไม่เคยรู้สึกหรือรับรู้ความรู้สึกของคนที่บ้านเลย ไม่เคยเห็นตัวเองเลยว่าผมเป็นฝ่ายถูกเสมอ ทำดีและหยิบยื่นสิ่งที่ดีที่สุดให้กับคนที่บ้านแล้ว” เรามักไม่ค่อยได้คิดทบทวนอยู่บ่อยๆ ว่า “สิ่งที่ดีที่สุด” นั้น จริงๆ แล้วดีสำหรับเราหรือเขากันแน่ บางครั้งการที่เราเหนื่อยหน่ายกับชีวิตก็เพราะเรา “ทำดีที่สุด” แล้วผลจะเป็นอย่างไรก็ปล่อยตามยถากรรมอย่างนั้นหรือ หรือเราอาจต้องกลับมานั่งทบทวนง่ายๆ ดูว่า “ดีที่สุด” นั้นยังไม่ดีเท่ากับการถามว่า “ดีสำหรับใคร” หรือ “ใคร” คือผู้ที่กำลังทำดีที่สุด จากมาตรฐานอะไร หรือแนวคิดของใคร

ความสัมพันธ์ในครอบครัวมักอยู่ในเงื่อนไขเหล่านี้ แต่ละคน “ทำดีที่สุด” ตามมาตรฐานหรือคุณค่าในโลกของตัวเอง และตีความหรือตัดสินการกระทำของคนอื่นในโลกของคนอื่น เราจึงไม่อาจเข้าใจถึงความหมายของการกระทำหรือการพูดจาของเขาเหล่านั้นที่อาจรบกวนใจเราได้ และยิ่งแต่ละคนต่างสาละวนหรือวุ่นวายไปกับโลกของการคิด-พูด-ทำของตัวเอง เราก็ยิ่งมีเวลาน้อยลงที่จะกลับมาทบทวนชีวิต ความตั้งใจของเรา จุดแข็งจุดอ่อนของตัวเอง ชีวิตที่ขาดสมดุลระหว่างการกระทำกับการได้หยุดนิ่งก็อาจยิ่งมองการหยุดนิ่งว่าไร้ความหมายหรือไร้ค่า เพราะไม่ได้สร้างผลลัพธ์อันใด ดังที่วงจรชีวิตแบบนี้กำลังเป็นที่นิยมแพร่หลายในโลกปัจจุบัน

ในมุมมองของจิตวิทยาแบบ “สัมผัสเสียงภายใน” นี้ มองการเข้าใจตัวเองว่าคือการพัฒนาความสามารถในการรับรู้เสียงภายในตัวเรา ที่แตกต่างหลากหลาย ราวกับระบบนิเวศภายในที่มีชีวิตและส่งผลต่อความรู้สึกนึกคิดและการกระทำของเราตลอดเวลา โดยแสดงออกผ่านอาการทางกาย สีหน้าท่าทาง อารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ซึ่งต้องอาศัยความตื่นรู้และการรับรู้ที่ละเอียดประณีตในการซึมซับสัมผัสถึงชีวิตภายในที่มีความหมายเหล่านี้ ตัวอย่างของแรงหรือเสียงเหล่านี้ เช่น แรงผลักดัน แรงฉุดรั้ง แรงตำหนิติเตียนตนเอง แรงควบคุมสั่งการ กำกับทิศทาง แรงหล่อเลี้ยงสนับสนุน ปลอบประโลม เป็นต้น การได้ยินเสียงเหล่านี้ช่วยให้เรารู้ว่าใครกำลังตัดสิน หรือเกิดความไม่พอใจอยู่ในตัวเรา รับรู้แล้วก็ยอมรับ แล้วจึงเปิดโอกาสหรือเปิดใจให้กับเสียงอื่นๆ ที่ถูกกดข่มไว้ภายในให้ได้แสดงศักยภาพในชีวิตเรา สมดุลจึงจะเกิดขึ้นจากภายใน แล้วดุลยภาพภายนอกก็ค่อยๆ ตามมา ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่มีความแน่นอนหรือตายตัว ไม่ต่างจากการปั่นจักรยานที่ต้องคอยประคับประคองชีวิตและความสัมพันธ์ที่เรามีกับคนรอบข้างไปทีละช่วงทีละวัน อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home