โดย ธีระพล เต็มอุดม
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๕๒

“แน่ใจเหรอว่าเราจะพูดกันเรื่อง Leadership ... ในเมื่อ 30 กว่าคนที่นี่ มีคนที่เป็น ผอ. อยู่แค่ 2 คน เท่านั้นนะ” เสียงของผู้เข้าร่วมแทรกขึ้นมาระหว่างที่เราจะเข้าสู่การเรียนรู้เรื่องความเป็นผู้นำในการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง Contemplative Leadership หรือ ความเป็นผู้นำแนวจิตตปัญญาศึกษา ของแก้วกัลยาสิกขาลัย สถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข

คนนอกวงสนทนานี้อาจมองว่านี่เป็นประโยคขัดจังหวะการเรียน ทำให้ไม่ลื่นไหล ไม่แน่ว่าคงมีคนอึดอัดแทนกระบวนกรผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ว่าเขาจะรับมือกับคำถามท้าทายของผู้เข้าร่วมได้อย่างไร

แต่ตรงกันข้าม หลังจากคำถามนี้เปิดขึ้นมา การเรียนรู้ว่าด้วยความเป็นผู้นำก็เคลื่อนไปอย่างแจ่มชัดและมั่นคง เพราะได้รับความสนใจและความตั้งใจจากสมาชิกทุกคนในวง อีกทั้งยังจุดประกายให้ได้เข้าสู่แก่นสำคัญของเนื้อหาเสียด้วย ทำให้เรื่องราวเกี่ยวกับความเป็นผู้นำเป็นสิ่งที่จับต้องสัมผัสได้ ไม่เป็นแนวคิดเลื่อนลอย และทุกคนรู้สึกว่าเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับตนเอง

ภายหลังการอบรมนี้ พวกเราทีมกระบวนกรได้สะท้อนการเรียนรู้หลังการทำงานร่วมกัน เราเรียกกิจกรรมนี้ว่า AAR (After Action Review) ประเด็นที่เราประทับใจและแลกเปลี่ยนกันอย่างมากก็คือเรื่องความเป็นผู้นำนี้เอง นั่นเป็นเพราะเราเคยผ่านประสบการณ์ลองผิดลองถูกด้วยกันมาแล้วในทีมเมื่อ 3 ปีก่อนเป็นต้นมา นับแต่เรายังทำงานวิจัยจิตตปัญญาศึกษากัน

ในแรกเริ่มเรามาพบและตกลงว่าจะทำงานวิจัยกัน เพราะต่างคนก็สนใจการเรียนรู้เพื่อพัฒนาจิตใจและเรื่องนี้ก็ได้รับความสนใจ และการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ท่านได้ตั้งชื่อการเรียนรู้นี้ว่าจิตตปัญญาศึกษา สิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับมัน ณ ขณะนั้นจัดว่ามีน้อยมาก เหตุที่เราต้องทำวิจัยเชิงสำรวจความรู้เพราะเราเชื่อว่าถ้าเราเข้าใจมากขึ้น เราก็จะทำงานและจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นจิตตปัญญาศึกษาโดยแท้ได้ ไม่หลงทางหรือผิดเพี้ยนไป

ทว่าด้วยความที่ยังใหม่กันมากนี่เอง เราเกือบทุกคนก็ลังเล ไม่กล้าออกรับเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบโครงการวิจัย ด้วยว่าเป็นงานรับทุนดำเนินการจาก สสส. และเงินทุนจำนวนมิใช่น้อย ขณะเดียวกันรูปแบบความสัมพันธ์ของเราก็มีความเป็นเพื่อนเป็นพี่น้องมากกว่าจะเป็นคณะทำงานที่มีตัวหัวหน้าผู้นำอย่างชัดเจน

ในช่วงก่อนเริ่มงานวิจัยอย่างเป็นทางการ เราจึงหาแนวคิดวิธีการการทำงานร่วมกันที่ช่วยให้เราได้พัฒนาจิตและพัฒนาตัวเราเอง ที่สำคัญไม่เผลอทำงานตามสายการบังคับบัญชา หรือติดในรูปแบบแนวทางการบริหารจัดการเดิมๆ เราพบว่ามีแนวคิดที่น่าสนใจมากและเรานำมาใช้ทั้ง 2 เรื่อง ซึ่งต่างหนุนเสริมกันและกัน ได้แก่ ความเป็นผู้นำผู้รับใช้ และความเป็นผู้นำร่วม

แนวคิดความเป็นผู้นำผู้รับใช้ (Servant Leadership) นั้น มีผู้ที่เข้าใจคลาดเคลื่อนกันไปพอสมควร อาจด้วยคำว่า “ผู้รับใช้” ถูกตีความว่า ผู้นำต้องสามารถรับใช้ทำงานให้ทุกคนได้ ช่วยทำแทนทุกคนได้ ฟังดูเหมือน ส.ส. ขอรับใช้ประชาชนเลยเชียว แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่ เพราะการรับใช้คือการดูแลเพื่อนร่วมงานให้เพื่อนเขาได้เติบโตและพัฒนาตนเองขึ้นมาได้ สนับสนุนให้เขาได้พบศักยภาพและความสามารถที่แท้จริงของตนเองจากประสบการณ์การเรียนรู้และพัฒนาจิตใจ แตกต่างกันอย่างมากกับการช่วยทำงานแทนเขาด้วยทักษะของเราที่ดีกว่า เพราะเขาจะพลาดโอกาสเรียนรู้และเติบโตจากการทำเอง สูญเสียการโค้ชสอนงาน และขาดการเสริมศักยภาพจากเราไป ใน 3 ปีของการทำงานวิจัย ทีมเราเห็นชัดเจนว่าการเป็นผู้นำผู้รับใช้ต้องอาศัยความตั้งใจ ความสนใจ และความทุ่มเทอย่างต่อเนื่องของแต่ละคนเป็นอย่างมากทีเดียว

เรายังใช้อีกแนวคิดที่เสริมกันมากคือเรื่องความเป็นผู้นำร่วม (Collective Leadership) ซึ่งเชื่อว่าพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน เรามีเมล็ดพันธุ์แห่งโพธิเช่นเดียวกัน และการเปลี่ยนแปลงวิวัฒน์จิตหรือชีวิตด้านในก็ไม่เพียงเป็นเส้นทางระดับปัจเจกบุคคล แต่เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นทั้งแผง เป็นการเรียนรู้ที่ดำเนินไปพร้อมกันทั้งกลุ่มทั้งชุมชน ในกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาจิตใจจะละเลยกัลยาณมิตรหรือขาดเพื่อนผู้สนับสนุนไปไม่ได้เลย ความเป็นผู้นำร่วมจึงเป็นสภาวะผู้นำที่ทุกคนให้ความเป็นผู้นำแก่กลุ่ม ด้วยคุณภาพและคุณลักษณะของเราที่หลากหลายต่างกัน มิใช่ผู้นำร่วมด้วยการรอตัดสินใจพร้อมๆ กัน ทำอะไรเหมือนๆ กัน หรือรอเห็นชอบตรงกัน เราเห็นชัดเจนว่าคุณภาพของการทำงานที่เกิดขึ้นจากการร่วมใจกันแตกต่างชัดเจนจากการแบ่งงานกันทำตามความถนัด เป็นผลร่วมที่มากกว่าผลรวมของจำนวนคน

ตลอดเวลาที่เราทำงานด้วยกันมาในฐานะทีมวิจัยต่อเนื่องมาจนเป็นทีมจัดกระบวนการเรียนรู้ เราพบว่าการนำแนวคิดความเป็นผู้นำผู้รับใช้และความเป็นผู้นำร่วมมาใช้ในการทำงานนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ง่ายเลย เรายอมรับได้อย่างเต็มปากว่าทีมไม่สามารถคงสภาวะมีความเป็นผู้นำร่วมอยู่ได้ตลอดเวลา เช่นเดียวกับเราแต่ละคนไม่อาจรักษาสภาวะความเป็นผู้นำผู้รับใช้ไว้ได้ทุกขณะ ในคราวแรกบางคนอาจจะรู้สึกท้อใจบ้างที่ไม่สามารถทำงานหรือบริหารจัดการด้วยแนวทางวิธีที่เราเชื่อให้ได้ตลอดเวลา แต่เมื่อได้สติรู้สึกตัวขึ้นมาว่าเรากำลังหลุดออกจากการดำเนินไปในแนวทางจิตตปัญญาศึกษา เราพลันได้พบว่าทั้งทีมสามารถฟื้นคืนคุณภาพสู่สภาวะความเป็นผู้นำผู้รับใช้และความเป็นผู้นำร่วมได้ทุกครั้ง

จากประสบการณ์ของทีมเราในการทำงานวิจัยและจัดอบรมจิตตปัญญาศึกษาด้วยวิธีการและแนวทางจิตตปัญญาศึกษา ดังเช่นเรื่องความเป็นผู้นำ ได้ทำให้เราตระหนักชัดว่าจิตตปัญญาศึกษาไม่ใช่ผลลัพธ์สุดท้ายที่จะต้องเดินไปให้ถึง ไม่ได้เป็นสิ่งที่เมื่อทำได้แล้วจะสำเร็จเสร็จ เพราะเมื่อใดที่รู้สึกว่าเรามีความเป็นผู้นำผู้รับใช้ หรือทีมมีความเป็นผู้นำร่วม เราจะพบว่าในอีกชั่วขณะเวลาถัดไปไม่ช้าก็เร็ว เราอาจจะเสียคุณภาพและเสียสภาวะนี้ไปได้ โจทย์จึงไม่ใช่การปฏิบัติให้เกิดความเป็นผู้นำผู้รับใช้แล้วจบ แต่เป็นคุณภาพและสภาวะที่เราต้องร่วมกันหมั่นสร้างให้เกิดขึ้น เพราะมันเกิดขึ้นในแต่ละชั่วขณะ อาจจะต่อเนื่องกันไปได้แต่ไม่สามารถคงอยู่โดยไม่เปลี่ยนแปลง

ความเป็นผู้นำจึงไม่ใช่ผลลัพธ์ แต่เป็นคุณภาพและสภาวะที่เราพยายามสร้างให้เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง เสมือนหนึ่งเราอยู่บนหนทางของการปฏิบัติฝึกฝน และมีสติไม่หลุดออกนอกเส้นทาง เป้าหมายนั้นเรามีอยู่ แต่สิ่งสำคัญกว่าคือวิธีและเส้นทางที่เราเดินไป เราจึงได้ใช้ชื่อในการทำงานร่วมกันว่า “กลุ่มจิตตปัญญาวิถี”

ย้อนกลับมายัง workshop ความเป็นผู้นำแนวจิตตปัญญาศึกษา คำถามของอาจารย์พยาบาลผู้อัดอั้นสงสัยได้เผยออกมาว่าเราจะเรียนรู้เรื่องความเป็นผู้นำในกาละและเทศะที่เหมาะสมแล้วหรือ จึงเป็นคำถามที่ป้อนเข้ามาในกระบวนการเรียนรู้อย่างพอเหมาะพอเจาะ สะท้อนความเชื่อของคนส่วนใหญ่ว่า ผู้นำคือผู้บริหาร คือผู้มีอำนาจ คือผู้สั่งการ ดังนั้นเราจึงละเลยการให้ความสำคัญต่อตัวเอง หลงลืมจะมอบอำนาจให้แก่ตัวเอง ไม่เชื่อว่าเราก็มีความเป็นผู้นำที่สามารถรับใช้ดูแลองค์กรของเราด้วยคุณภาพและคุณลักษณะใดๆ ก็ตามที่เรามีได้ ยิ่งไปกว่านั้นเรายังมองข้ามความสามารถและความเป็นไปได้ของกลุ่มที่จะข้ามพ้นอุปสรรคไปด้วยกัน ความเชื่อเดิมๆ นี้ไม่ต่างกับกบเลือกนาย ผู้มอบความหวังและตั้งตารอคนอื่นให้เป็นผู้นำพาหาทางออก

เพราะผู้นำมิใช่เพียงผู้บริหาร และเราทุกคนล้วนมีความเป็นผู้นำในตัว

ความเป็นผู้นำไม่ใช่สถานภาพ ไม่ใช่สิทธิอำนาจ แต่เป็นสภาวะอันเกิดขึ้นจากการหมั่นดำเนินชีวิตอยู่ในสติบนวิถีทางของการพัฒนาขัดเกลาตนเอง และเราทุกคนต่างทำได้ และเราสามารถทำได้ร่วมกัน

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home