โดย เพ็ญจุรี วีระธนาบุตร
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๒
“รับปริญญาฯ เหรอ ไม่เอาหรอก ไม่เห็นจะอิน แถมร้อนก็ร้อน คนก็เยอะ ขอไม่ไปรับได้ไหม” ความคิดแรกของฉันผุดขึ้นมาทันทีที่รู้ว่าอีกสองเดือนจะต้องเข้าพิธีรับพระราชทานปริญญาบัตร ผิดกับคนรอบข้างต่างพากันตื่นเต้นและเตรียมพร้อมกับช่วงเวลาที่กำลังจะมาถึง ฉันไม่ยอมลงทะเบียนเข้าพิธีฯ และยังบ่นกับคนรอบข้างไปหลายต่อหลายครั้งว่า ไม่อยากไป ไม่อยากไป
จนกระทั่งฉันไปบ่นกับพี่ผู้น่ารักคนหนึ่งซึ่งมาจากเชียงราย แต่สิ่งที่พี่คนนั้นบอกฉันกลับมาคือ “รับเถอะ ถือว่ารับปริญญาเป็นของขวัญให้พ่อกับแม่ไง” เมื่อได้ยินคำพูดนี้ ฉันจึงเปลี่ยนใจและกลับมาลงทะเบียน ช่วงเวลานั้น ฉันพยายามไม่หันไปมองความคิดเดิมที่ยังแทรกเข้ามาบ้างในบางเวลา และพยายามเอาความคิดที่ว่า “แค่สามวันเอง จะทำเพื่อพ่อแม่ไม่ได้เลยหรือไง” เข้ามาแทน
ฉันไปซ้อมรับพระราชทานปริญญาฯ วันแรกด้วยความรู้สึกที่บอกไม่ถูก เหมือนตัวเองกำลังพยายามทำในสิ่งที่ถูกที่ควร แต่เมื่อฉันเข้าไปนั่งในห้องบรรยายที่แสนคุ้นเคยและดูวีดิทัศน์พิธีพระราชทานปริญญาบัตรของรุ่นพี่ปีก่อนๆ ความรู้สึกที่ไม่คาดฝันก็ค่อยๆ ปรากฏออกมา “ว้าว เท่ห์” วีดิทัศน์ฉายภาพของบัณฑิตใหม่ที่กำลังเดินเรียงแถวออกมาอย่างสง่างาม เปิดคลอกับเสียงเพลงประจำมหาวิทยาลัยที่เราทุกคนรู้จักเป็นอย่างดี
วันที่สองของการซ้อมรับปริญญา วันนั้นเป็นวันที่ฉันได้ลองสวมเสื้อครุยเป็นวันแรก และเพราะเหตุนี้เอง ฉันจึงใส่บางส่วนของเสื้อครุยไม่เป็น จนต้องให้แม่ น้อง และเพื่อนๆ ในภาควิชาช่วยกันยกใหญ่ ฉันรู้สึกขอบคุณทุกๆ คนที่ไม่รำคาญความประมาทของฉัน ช่วงเวลาแรกที่ฉันอยู่ในเสื้อครุยและกำลังเดินไปที่หน้าห้องอรุณอัมรินทร์ซึ่งเป็นห้องที่ทุกคนจะได้รับพระราชทานปริญญาบัตร ฉันรู้สึกได้ถึงความรู้สึกบางอย่างที่ไม่คาดฝันอีกครั้งหนึ่งคือ รู้สึกดูดีและเท่ห์มาก ฉันรู้สึกว่าขณะที่ฉันกำลังเดินผ่านกลุ่มผู้ปกครองและญาติที่มานั่งรอบุตรหลาน ฉันเดินด้วยบุคลิกที่ดีกว่าเวลาเดินทั่วๆ ไป จนถึงตอนเย็น ก็มีน้องและเพื่อนมาร่วมแสดงความยินดีด้วย ฉันรู้สึกได้ถึงความดีใจที่เปล่งประกายในช่วงเวลานั้น วันนั้นฉันยิ้มทั้งวัน และความรู้สึกเหล่านี้ ก็ไม่ต่างไปจากวันที่เข้าพิธีรับพระราชทานปริญญาบัตรวันจริง
ในช่วงเวลาที่ฉันกำลังสนุกสนานกับกลุ่มเพื่อนและอยู่ในบรรยากาศของการแสดงความยินดี ฉันยังคงมีคำถามขึ้นมาในห้วงความคิดความรู้สึก ซึ่งจริงๆ แล้วมันก็ไม่ได้เป็นประโยคคำถามที่ชัดเจน แต่เป็นความรู้สึกแปลกๆ และเหมือนมีอะไรบางอย่างผิดปกติ ตรงที่ฉันรู้สึกว่าความดีใจที่เปล่งประกายยามที่อยู่ในเสื้อครุยนั้น มันช่างรวดเร็วและฉับพลันมากเหลือเกิน เพราะเมื่อฉันกลับมาที่บ้าน และเปลี่ยนจากเสื้อครุยเป็นเสื้ออยู่บ้านที่ฉันใส่ทุกวัน ความรู้สึกของความดูดีและเท่ห์นั้น ได้จางหายไปอย่างรวดเร็ว จนฉันเองยังตกใจ
ความรู้สึกนั้นจึงทำให้ฉันเห็นมิติอีกด้านหนึ่งของเสื้อครุย ว่ามันทำให้ฉันหลงไปได้มากขนาดไหน หลงไปกับคำว่า บัณฑิตใหม่ หลงไปกับความดูดีและเท่ห์ หลงไปกับความรู้สึกภาคภูมิใจยิ่งนักที่สามารถเรียกตัวเองได้ว่าเป็นปัญญาชน ฉันลืมเนื้อลืมตัวไปอยู่กับเสื้อครุยทั้งวัน ฉันคิดว่าการหลงไปกับความรู้สึกยินดีปรีดาเช่นนี้อาจไม่เป็นไรถ้าเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ และจบลงเมื่อถอดเสื้อครุย แต่หากยังหลงต่อไปและยังไม่ยอมถอดเสื้อครุย ก็อาจจะทำให้ยังร้อนและหนักต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้ตัวได้เพราะหลงไปยึดติดกับการเป็นปัญญาชนที่คิดว่าตนเองนั้นมีความรู้และหลักการที่ถูกต้อง ซึ่งความไม่แน่นอนก็อาจจะทำให้ปัญญาชนผู้นั้นกลับมาติดกับดักของตัวเองได้เหมือนกัน
ในระหว่างพิธี ขณะที่ฉันนั่งอยู่ในห้องและกำลังรอคิวก่อนที่จะขึ้นไปรับพระราชทานปริญญาบัตร ฉันมองบัณฑิตเป็นพันๆ คนเดินรับปริญญาบัตรและก้าวลงจากเวที ขณะนั้นก็มีการประกาศชื่อบัณฑิตใหม่และชื่อคณะมากมายหลากหลายคณะ มีทั้งชื่อคณะที่ฉันคุ้นหูและไม่คุ้นหู บัณฑิตแต่ละคนเดินตามจังหวะที่ซักซ้อมไว้อย่างรวดเร็วลงจากเวทีไป คนแล้วคนเล่า ฉันเริ่มสงสัยอีกแล้วว่า คนเหล่านี้จะไปทำอะไรต่อบ้าง จะไปอยู่ส่วนไหนของประเทศไทยบ้าง ดูชื่อสาขาวิชาหรือชื่อคณะที่จบการศึกษา ก็ดูเหมือนว่าน่าจะสร้างคุณประโยชน์ให้กับประเทศได้มากมายยิ่งนัก ถ้าคนร้อยๆ พันๆ คนนำความรู้ที่ศึกษามาเป็นปี ไปใช้จัดการหรือทำอะไรสักอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีกลุ่มที่สำเร็จการศึกษาได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง อันดับสองด้วย โอ้โห ประเทศไทยเราจะเป็นอย่างไรบ้าง คงจะเจริญรุ่งเรืองน่าดูเลยทีเดียว
แต่แล้วความสงสัยระลอกที่สองก็ซัดมาอีกครั้ง อ้าว ทุกปีก็เป็นอย่างนี้อยู่แล้วไม่ใช่หรือ ที่คนเป็นร้อยๆ พันๆ คนจบการศึกษาจากคณะต่างๆ เข้ามาทำงานในประเทศ กระจายเข้าไปอยู่ในส่วนต่างๆ แล้วทำไมหนอ ทั้งๆ ที่สมัยนี้การศึกษาก็เข้าถึงผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ทำไมเราถึงยังคงถามหาความสุขในชีวิตหรือแม้กระทั่งถามว่า “ความสุขคืออะไร” แล้วอย่างนี้ คนเราจะเรียนจบไปเพื่ออะไรกันแน่ ... ฉันตกอยู่ในทะเลแห่งคำถามและความคิดอยู่สักพักใหญ่ ก็ตอบตัวเองไปเบื้องต้นก่อนว่า ฉันอาจจะยังไม่มีความรู้รอบตัวมากพอหรือไม่ได้อ่านหนังสือหรืองานวิจัยมากพอว่ามีคนคิดหรือทำอะไรดีๆ เอาไว้มากมายแล้ว เพียงแต่ฉันไม่รู้เท่านั้นเอง
ฉันไม่รู้ว่าความคิดเห็นของฉันจะสร้างความไม่พอใจให้กับคนที่กำลังทำประโยชน์ให้กับสังคมหรือคนที่มองในมุมมองที่ต่างออกไปหรือไม่ ส่วนคำตอบเบื้องต้นที่ฉันตอบตัวเองไปนั้น ฉันก็ไม่รู้ว่า ถ้าเป็นคนอื่นๆ จะตอบอย่างไรบ้าง และอาจจะมีใครหลายๆ คนที่กำลังถามคำถามแบบนี้อยู่เหมือนกัน หรืออาจจะมีใครหลายๆ คนที่เลิกถามคำถามแบบนี้ไปนานแล้ว
มาจนถึงวันนี้ ฉันรู้สึกดีใจที่ได้ตัดสินใจมาเข้าพิธีรับพระราชทานปริญญาบัตร ซึ่งเป็นเหมือนฤดูกาลที่ผ่านเข้ามาทุกปี ที่ทำให้เห็นว่าเพียงแค่เวลาสั้นๆ ไม่กี่วันนี้เอง ก็ทำให้ฉันได้เรียนรู้และประจักษ์ชัดว่าการหลงไปกับความรู้สึกต่างๆ หรือบรรยากาศรอบข้างนั้น มันช่างง่ายดายเพียงใด ได้ตั้งคำถามที่แม้จะไม่ใช่คำถามที่ใหม่นักสำหรับบางคน แต่ก็อาจจะยังคงเป็นหนึ่งในโจทย์สำหรับการเดินทางในชีวิตของบางคนเช่นกัน
ฤดูกาลนี้ นอกจากฉันจะได้ให้ของขวัญกับครอบครัวแล้ว ยังได้รู้จักโลกผ่านมุมมองของคนๆ หนึ่งมากขึ้นด้วย ซึ่งสิ่งต่างๆที่ได้เรียนรู้และรู้จักเหล่านี้เปรียบเสมือนบทเรียนบทส่งท้ายที่น่าสนใจไม่แพ้บทเรียนในหลักสูตรปริญญาตรีที่ฉันจบออกมาเลยทีเดียว
Labels: เพ็ญจุรี วีระธนาบุตร