โดย ธนัญธร เปรมใจชื่น
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๕๒

ฉันพูดซ้ำๆ กับตัวเอง “ไม่เป็นไร ... ไม่เป็นไรจริงๆ เขาควรจะได้เรียนรู้และเติบโต” มันเป็นเหตุผลที่ดูจะช่วยให้ตัวฉันเองรู้สึกดีขึ้น ว่าฉันไม่ผิดอะไร ฉันเพียงมีเจตนาดีจะช่วยให้คนๆ หนึ่งพัฒนาตน ความเป็นครูของฉันทำให้ฉันยอม แม้จะไม่เป็นที่รัก

เรื่องคือว่า ฉันเพิ่งจะตักเตือนน้องสาวคนหนึ่งถึงการเปิดกว้างในการมองโลกของเขา การไม่ติดยึดกับคำตอบเดิมๆ ของชีวิต การเปิดพื้นที่ความเป็นไปได้อื่นๆ ให้ผุดพรายขึ้น มันไม่ใช่แค่ที่เราเรียนรู้มา แล้วปฏิเสธอะไรที่นอกเหนือจากนั้นไปเสียหมด เพียงเพราะเรามีคำตอบสุดท้ายไว้แล้ว มันทำให้เราไม่สามารถรับรู้สิ่งอื่น คนอื่น จนเรามิอาจได้ยินเสียงที่แท้จริงของเพื่อนที่กำลังสื่อสารกับเรา และเมื่อไม่อาจได้ยินและรับรู้ผู้อื่นได้ดีแล้ว เสียงของเขาซึ่งจะช่วยเป็นเสียงสะท้อนจากตัวเราก็ลดลง ทำให้เรารับรู้ความเป็นจริงของตนน้อยลงไปด้วย

โชคดีที่น้องสาวคนนี้ค่อนข้างเคารพและให้เกียรติฉันมาตลอด เขาเลยออกตัวอย่างสุภาพมาก ว่าเขาขอโทษ แต่เขาโตมาแบบนี้ และเชื่อแต่ที่วิทยาศาสตร์บอกเท่านั้น แล้วเขายังรู้สึกสบาย และมีความสุขดีกับชีวิต

ฉันเลยถามเขากลับไปว่ารู้จักกี่เรื่องที่นักวิทยาศาสตร์บอกล่ะ ชื่นชมวิทยาศาสตร์แต่ตัวเองไม่กล้าแม้แต่จะทดลองอะไรเล็กๆ ในชีวิตเนี่ยนะ แล้วคิดว่านักวิทยาศาสตร์มีคำตอบให้ทุกสิ่งหรือ ทำไมไม่เชื่อตัวเธอเองบ้าง ทำไมไม่อนุญาตให้ตัวเองได้ร่วมพิสูจน์และรับรู้เอง อย่างไม่ยอมลดละ ฉันคงจี้ๆๆๆ จนน้องเขาจำนน

แต่แทนที่จะรู้สึกชนะ หรือลิ้มชิมความสำเร็จ ฉันกลับเดินง่วนในบ้านอย่างฉุนเฉียว ในหัวยังคงคิดวิเคราะห์ถึงน้องคนนั้น และอะไรที่ทำให้เขาเป็นคนแบบนี้ สารพัดจะคิดไปต่างๆ นานา ในหัววนเวียนไปด้วยภาพใบหน้าน้องเขากับถ้อยคำบางคำที่พูดตอบโต้กัน โดยเฉพาะคำว่า “แต่หนูก็มีความสุขดีนะพี่ หนูไม่ทุกข์อะไรนี่” ในใจฉันยิ่งประณามน้องเขาหนักขึ้น ถึงความเห็นแก่ตัว ไม่รับรู้คนอื่นของเขา และเมื่อคำว่า “มีความสุข” วนมาในความคำนึงมากเท่าไร ฉันยิ่งรับรู้ถึงทุกข์ในใจตนมากขึ้น เหมือนทนไม่ได้ที่คนที่มีวิถีและกรอบคิดไร้ค่า และไม่ชาญฉลาดอย่างฉัน จะมีความสุขได้มากกว่าที่ฉันเป็น

คืนนั้นขณะที่พยายามทำตนให้ปกติที่สุด แต่คนในบ้านกลับแสดงออกกับฉันอย่างห่วงใย เหมือนเขารู้ว่ามันไม่ปกติ ฉันนั่งเช็คอีเมลและได้รับเมลจากเพื่อนคนหนึ่งในเครือข่ายของจิตตปัญญาศึกษานี่เอง เขาส่งบทความของเพื่อนอีกคนมาให้อ่าน โอ้ ... สวรรค์ประทานพร สาระส่วนใหญ่เป็นการวิจารณ์ความเชื่อของคนอีกกลุ่มที่ดูงมงายในความคิดเขา เขานำเสนอมุมมองทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างแข็งแกร่ง คมชัด เป็นเหตุเป็นผล แต่ฉันอ่านแล้วรู้สึกร้อนผ่าวทั่วใบหน้า เออแน่ะ โกรธจริงๆ ด้วย อยากจะเขียนวิจารณ์ตอบโต้กลับ แต่ฉันมันแหยเกินไป กลัวเพื่อนเจ้าของเรื่องจะโต้กลับมาจนฉันจนมุม กลัวเพื่อนคนอื่นจะรู้สึกแย่กับฉัน แต่ตอนนี้ฉันรู้สึกแย่กับตัวเองมากกว่า และรับรู้ถึงความทุกข์ที่ทวีคูณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในใจ จนต้องลุกจากโต๊ะ ไปนั่งสวดมนต์ สวดไปน้ำตาก็ไหล ฉันไม่ใช่คนปฏิบัติธรรมเป็นประจำเหมือนเพื่อนคนอื่น การเข้ามาสวดมนต์ครั้งนี้ อาจเพียงหนีออกมาก็เป็นได้ แต่มันก็ช่วยให้เห็นความเป็นจริงเบื้องหน้าชัดเจนขึ้น จากคำถามที่วิ่งวนในหัวว่า ฉันผิดหรือถูกกันแน่ที่คิดและเชื่อแบบนี้ ยิ่งพยายามหาคำตอบนี้ก็ยิ่งทุกข์ แล้วฉันก็รอ รอจนคลื่นในใจของตนสงบลง การใคร่ครวญที่แท้จึงได้ทำงานของมัน

เหมือนโดนตบหน้า สองเหตุการณ์เกี่ยวเนื่องกันโดยแท้ ความเชื่อ ศรัทธา มันเป็นเหมือนตัวตนภายในที่คนแต่ละคนยึดถือ ยึดเหนี่ยว การน้อมนำให้เกิดการเรียนรู้ที่ต่างไปจากเดิมที่เป็น เหมือนต้องค่อยๆ ประคับประคอง อ่อนโยนกับเขาด้วย เพราะเรากำลังโยกคลอนผู้อื่นอยู่ บางทีที่เรากำลังเถียงกันอย่างเอาเป็นเอาตายนั้น แท้จริงแล้ว อาจเพียงเพราะตัวตนของเราก็กำลังถูกโยกคลอน ไม่มั่นคงเช่นกัน ตามมารยาททางสังคมที่เคยได้เรียนมาถึงบอกว่า เรื่องที่ไม่ควรนำมาเป็นหัวข้อสนทนา คือเรื่องศาสนาและการเมือง เพราะมันมักจะก่อเกิดความขัดแย้งขึ้น ที่ควรชวนกันพูดชวนกันคุยก็น่าจะเป็นเรื่องที่รื่นรมย์ ไม่ก่อหวอด

โดยทั่วไปเราเลยพูดเฉพาะเรื่องที่เราอยากฟัง และฟังเฉพาะเรื่องที่เราอยากพูด เราเลยไม่เคยได้ยินเสียงใครจริงๆ เลย เพราะการเปิดรับมันถูกตั้งค่าไว้ต่ำ

แต่เรื่องนี้น่าพูดถึง และควรพูดถึงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเราสนใจการพัฒนาตน ฝึกตน ไม่ว่าในศาสนาใด เพียงแต่ว่าทำอย่างไรเรื่องราวความเชื่อและการเมืองจะสามารถนำมาพูดคุยได้ โดยไม่ทำร้ายกัน ไม่ตัดสินกันเร็วไป คำนี้เหมือนง่ายนะ เราพูดกันบ่อย แต่การยอมรับไม่ง่ายเท่าไร ยิ่งถ้าอาวุโสมาก บทบาท ตำแหน่งสูง การยอมรับอาจถูกทุบทิ้งอย่างไม่ใยดี เพราะเขารู้สึกชอบธรรมที่จะตัดสินคนที่เด็กกว่า คนที่อยู่ในปกครองดูแลของตน

ยิ่งเราแสร้งหลบไม่พูดถึง มันยิ่งผุดออกมาในพฤติกรรมและมุมมองในเรื่องอื่นๆ ด้วย เพราะเอาเข้าจริงแล้ว ความคิด ความเชื่อแต่ละชุด แต่ละมุมมองของเรา มันเชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องกัน

เวลาเราเถียงกันต่างบอกว่า ไม่มีอะไร แค่อยากอธิบาย แต่มันรุนแรงขึ้น อาจเพราะการถกเถียงของเรานั้นมันไปกระทบชุดความเชื่อที่เรายึดถือ กระทบอัตตาตัวตนของเรามากกว่าการอธิบาย เราจึงพยายามเอาชนะ โดยต้องการเห็นการจำนนยอมรับของอีกฝ่ายโดยไม่รู้ตัว เราย่ำยีเพื่อนและพกพาความชิงชังติดตัวมาด้วย เราไม่ได้ทำให้เขาทุกข์มากไปกว่าที่ทำให้ตัวเองทุกข์เลย พอทุกข์และขาดสติยั้งคิด อาจยิ่งทำให้เพื่อนอีกฝ่ายทุกข์อย่างเราบ้าง แต่ยิ่งทำอย่างนั้นความทุกข์ก็ยิ่งทวีในตัวเราเอง

ตกลงเราเถียงกันทำไม เราอยากให้อีกฝ่ายได้มีโอกาสเรียนรู้และใคร่ครวญตน กับความคิดความเชื่อที่แตกต่างไปของเราไม่ใช่หรือ หรือเราจะถากถางฝั่งฟากของเพื่อนจนไม่เหลือที่ยืนให้เขาได้เลือกจะเป็นตัวเขา อะไรที่ทำให้เราคิดว่าไม้บรรทัดของเราถูกต้องที่สุด น้ำทุกสายก็ประกอบด้วยฝั่งสองฟากที่ดำรงอยู่ร่วมกัน มหาสมุทรสุดท้ายก็ไปจรดอีกฟากอันไกลโพ้น เราคงไม่คิดขนาดไม่ให้เหลืออีกฝั่งของท้องน้ำแห่งมิตรหรอกนะ

นึกถึงโฆษณาชิ้นหนึ่งที่พูดเรื่องภูมิคุ้มกันประเทศ ที่เอาคนไปยืนเป็นรูปรอยของแผนที่ประเทศไทย มีช่วงหนึ่งขณะที่ผู้คนเข้าทำร้ายฟาดฟันกัน เสียงพากย์กล่าวว่า ... เราคงลืมไปแล้วว่า เราเคยรักกัน ... ตอนนั้นเองที่น้ำตาฉันไหล และตัดสินใจไปขอโทษน้องสาวที่ฉันวิพากษ์วิจารณ์เขาวันนั้น ทั้งที่ฉันก็ยังไม่แน่ใจเหมือนกันว่า ตกลงใครถูกที่สุด

1 Comment:

  1. Pen said...
    :)

Post a Comment



Newer Post Older Post Home