โดย ปาริชาด สุวรรณบุบผา
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๒

ในระยะ ๔-๕ เดือนที่ผ่านมานี้ มหาวิทยาลัยมหิดลได้จัด “โครงการสานเสวนาเพื่อลดความรุนแรงในสถานพินิจและศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนในจังหวัดภาคใต้ทั้งตอนบนและตอนล่าง” ทุกครั้งที่นำเสนอกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมเพื่อรับฟังปัญหาของเด็กเหล่านี้ พวกเราต่างแอบอมยิ้มและมีความสุขในความใสของเด็ก ซึ่งหลายครั้ง หลายคนเชื่อว่ามี “พลังดำ” ของความผิดพลาด “พลังลบ” ของการผ่านการกระทำผิด ใหญ่บ้างเล็กบ้าง ไม่เว้นแม้กระทั่งเด็กอายุ ๑๔ ปีที่ข่มขืนหลานของตนเอง ไปจนถึงคดีน้ำกระท่อม ซึ่งเป็นคดียอดฮิตของวัยรุ่นในภาคใต้ คดีกัญชา ยาบ้า คดีลักทรัพย์ พยายามฆ่าและฆาตกรรม รวมถึงคดีความมั่นคงที่เด็กถูกใช้เป็นเครื่องมือให้ร่วมก่อความไม่สงบ

ความใสของเด็กเหล่านี้เริ่มตั้งแต่การแบ่งปันเรื่องราวความผิดของตนเองก่อนเข้ามาอยู่ในสถานที่ที่มีไว้ ‘แก้ไข’ นิสัยและความประพฤติ ดังเช่น ศูนย์ฝึกและสถานพินิจเหล่านั้น อาทิ “ผมถูกหมาไล่กัด ต้องวิ่งหนี เมื่อผมกำลังจะถือดอกไม้ไปให้แฟน ทำให้แฟนบอกเลิก” “ผมพาแฟนนั่งรถเครื่องซ้อนท้ายไปเที่ยวด้วยกัน รถเกิดน้ำมันหมด แฟนผมต้องช่วยเข็นรถ ผมหัวเสียแทนที่จะได้ขี่รถพาแฟนเที่ยว” ปัญหาที่เล่ามานี้เป็นปัญหาเล็กๆ น้อยๆ สำหรับผู้ใหญ่ แต่เป็นปัญหาใหญ่ของเด็กที่สะท้อนความรู้สึกอยากเป็นที่ยอมรับในสายตาของผู้หญิง อยาก ‘เท่ห์’ ในสายตาของเพื่อนด้วยกัน หากในศูนย์ฝึกและสถานพินิจสามารถใช้ความรู้สึกเหล่านี้มาเป็นประเด็นแนะให้เด็กได้แสดงออกถึงการเป็นชายหนุ่มผู้มัดใจหญิงสาวด้วย ‘ความดี’ หรือ ‘ความสามารถในทางสร้างสรรค์’ แบบอื่นๆ เช่น การเป็นนักกีฬาที่สามารถ การเป็นนักดนตรีที่ดึงดูดใจ เป็นคนประดิษฐ์กรงนกที่สวยงามและสร้างสรรค์ และอื่นๆ เด็กอาจจะเกิดความคิดมัดใจสาวที่ปลอดภัยมากกว่าการแข่งรถ ซึ่งมี ‘สก๊อย’ นั่งซ้อนท้าย เป็นที่น่าหวาดเสียว และอันตรายต่อผู้ร่วมใช้ถนนคนอื่นๆ

นอกจากนั้นยังเกิดความซึ้งใจจาก ‘การฟัง’ เด็กหลายคนร่วมวางแผนในชีวิตจากการตอบคำถามว่าหากเหลือเวลาอีก ๒ วัน เขาคิดจะทำอะไร ๒ อย่างที่สำคัญที่สุดในชีวิต คำตอบที่ได้อาจทำให้พ่อแม่และผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายน้ำตาซึมโดยไม่รู้ตัว เช่น เด็กคนหนึ่งบอกว่า “ผมจะจูบตีนของแม่ผมก่อนตาย” ถามว่าทำไมจึงต้องทำเด็กบอกว่า “เพราะแม่เคยจูบตีนผมมาก่อนเมื่อตอนผมยังเล็กๆ” เด็กหลายคนบอกว่า “อยากขอโทษพ่อแม่ที่ทำให้เสียใจ” ถามว่าจะทำอย่างไร บางคนบอกว่า “ผมจะจับมือแม่และหอมแก้มแม่” บางคนบอกว่า “จะจูบหน้าผาก” เราคิดตามคำตอบเหล่านี้แล้วคงจินตนาการเห็นภาพได้ว่า เด็กเคยได้รับความรักเช่นนี้ การกระทำเช่นนี้มาก่อน แต่แล้วเมื่อโตขึ้น การกระทำเหล่านี้ได้หายไปไหน

เด็กจำนวนมากได้กล่าวถึงสาเหตุที่พวกเขากระทำความผิด เช่น “ทะเลาะกับแม่ พ่อแม่ทะเลาะกัน พ่อไปมีเมียใหม่ ผมเครียดเลยไปหาเพื่อน ผมอยากลอง ผมเกรงใจเพื่อน ผมลองยาเส้น ผมลองกระท่อม เพื่อนพาไปสูบกัญชา ผมติดยา ผมขายยา เมื่อผมเมายาเพื่อนชวนไปถล่มกับคู่อริ เมื่อผมเมาเหล้า ผมลักของ ผมขึ้นบ้าน ผมร่วมปล้น ผมโทรมหญิง ผมร่วมฆ่าคู่อริ” ทั้งหลายเหล่านี้ ประมวลได้ว่าความรักความเข้าใจ ความเอาใจใส่จากครอบครัวได้ขาดหายไป

ยังมีความประทับใจจากเรื่องที่เด็กได้แบ่งปันเมื่อเขาคิดถึงสิ่งที่สำคัญที่จะทำก่อนตาย เด็กบางคนอยากนำผ้าที่แม่ใช้ละหมาดมาห่อศพตนเอง บางคนบอกว่าจะขอนอนหนุนตักแม่จนกระทั่งหมดลมหายใจ อีกคนบอกว่า จะขอเกิดเป็นลูกแม่อีกเมื่อเกิดใหม่ เด็กขี้เล่นคนหนึ่งบอกว่าอยากให้พ่อต่อโลงให้ผมเป็นรูปโดเรมอน มีครั้งหนึ่งที่สถานพินิจจัดงานครอบครัวสัมพันธ์ พร้อมกับกระบวนการสานเสวนาได้ดำเนินไปพร้อมๆ กัน เด็กได้บอกกล่าวสิ่งที่จะทำก่อนตาย จากคำพูดเหล่านี้ของเด็ก เราได้เห็นน้ำตาลูกผู้ชายไหลริน สะอึกสะอื้น เมื่อเด็กได้สำนึกผิด ขอโทษในสิ่งที่ทำกับพ่อแม่ ไม่ต้องสงสัยเลยว่า แม่ของเด็กเหล่านี้จะปลื้มใจ สะเทือนใจ และสะอึกสะอื้นมากยิ่งกว่าเป็นหลายเท่า

อย่างไรก็ตาม เราได้ยินความคิดของเด็กอย่างน้อยสามคนว่าจะทำสิ่งที่คาดไม่ถึงก่อนตาย นั่นคือมีคนหนึ่งบอกว่า จะไปปล้นธนาคาร เพื่อหา ‘เบี้ย’ เก็บไว้ในครอบครัว อีกคนหนึ่งกล่าวว่าจะปล้นร้านทอง ด้วยเหตุผลอย่างเดียวกัน คนสุดท้ายบอกว่าจะออกไปฆ่า ‘นาย’ (ตำรวจ) ที่จับเขาเข้ามาอยู่ในนี้

การพูดถึงเรื่องเช่นนี้ได้เปิดจังหวะให้เยาวชนได้ช่วยเหลือกัน

วิธีการที่สร้างความไว้วางใจ และ “ฟัง” เด็กเล่าเรื่องความตั้งใจของตนนี้เป็นโอกาสให้เด็กได้ช่วยกันวิเคราะห์ และผู้ใหญ่ได้โอกาสร่วมแนะนำ ช่วยพิจารณาผลดีผลเสียของการกระทำ ชี้ให้ตระหนักถึงผลร้ายที่จะตามมา ในที่สุดเด็กคนหนึ่งกล่าวว่า “ผมจะไปเดินผัก รับจ้าง (ขนผัก) ในตลาด ได้เบี้ยน้อยแต่ก็จะให้แม่ดีใจแทนที่จะไปปล้นธนาคาร” แต่เราไม่แน่ใจว่าจะสามารถโน้มน้าวความคิดของเด็กคนสุดท้ายที่จะออกไปจัดการกับ ‘นาย’ ได้สำเร็จหรือไม่ เพราะเด็กบอก ‘ตายเป็นตาย’

การสอนในลักษณะนี้จะนำ ‘ปัญหาและชีวิตจริง’ ของเด็กเป็นตัวตั้ง การตั้งหน้าตั้งตาเทศน์สอนจะไม่ได้รับการต้อนรับเลย เพราะเด็กอาจเคยรับฟังการเทศน์เช่นนี้มาจากบ้านแล้วหลายวาระ

เรื่องราวของเด็กเหล่านี้เป็นสิ่งมีค่า และอาจเป็น ‘เรื่องเล่าเร้าพลัง’ ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจ ให้เด็กคนอื่นๆ ที่ไม่ได้ประสบชะตากรรมเช่นนี้ได้เรียนรู้ ผู้ใหญ่อาจเข้าใจความคิดของเด็กมากขึ้น เพื่อจะได้ ‘เอาใจเขามาใส่ใจเรา’ และร่วมหาแนวทางป้องกันเหตุและแนวทางแก้ไข

เหนือสิ่งอื่นใด เราค้นพบว่าเด็กเหล่านี้ ‘กระหาย’ ที่พึ่ง และความสงบ การให้นั่งนิ่งๆ อยู่กับตนเอง หรือคล้ายกับการนั่งสมาธิเบื้องต้น โดยการทำใจเป็น “หนึ่งเดียว” กับเสียงระฆัง แม้แต่เยาวชนมุสลิมก็ชอบการนั่ง โดยเปลี่ยนจากการฟังเสียงระฆังแห่งสติ ไปเป็นการระลึกถึงอัลเลาะห์ เด็กหลายคนสะท้อนความพอใจ ความชอบ ใคร่อยากเรียนรู้เกี่ยวกับศาสนา เช่น เรื่องพระพุทธเจ้า เรื่องทำผิดแล้วจะทำอย่างไรต่อไป ถ้าพูดภาษาชาวบ้านก็เหมือนกับอยากรู้วิธีแก้กรรมของตนว่าทำอย่างไรนั่นเอง

เราจึงสรุปได้ว่า หนึ่งในสาเหตุของการกระทำความผิดเหล่านั้นคือ ‘ความไม่รู้’ ‘การไม่มีคนสอน’ ‘การขาดการชี้แนะแนวทาง’ ในการปฏิบัติตน ในการพัฒนาตนเอง

“สีขาวในสีดำ” เหล่านี้ เรียกร้องและท้าทายให้ผู้ใหญ่ได้หันกลับมาพิจารณาดูวิธีการให้การศึกษาอบรม การมีคุณค่าภายในที่จะให้พวกเขาได้ยึดเป็นหลักในการดำเนินชีวิต ถึงเวลาแล้วมิใช่หรือที่พวกเราจะได้มีส่วนช่วยให้เด็กทั้งหลายเหล่านี้ได้เรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่อาจเป็นแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติ และมีความสุขได้ต่อไป

0 Comments:

Post a Comment



Newer Post Older Post Home